Skip to content

Sterile Cockpit คืออะไร ?

Sterile แปลว่า ปลอดเชื้อ
.
Cockpit คือ ห้องนักบิน
.
หากนำมารวมกันเป็น ‘Sterile Cockpit’ หลายคนอาจจะงงว่าห้องนักบินปลอดเชื้อคืออะไร
.
เปรียบเปรยได้ว่า ‘เชื้อ’ คือสิ่งที่อาจนำมาซึ่งหายนะ หมายถึงความฟุ้งซ่าน การพูดหรือทำสิ่งใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นพูดคุยเรื่องส่วนตัว พูดเล่น เรื่องตลก เรื่องดราม่า หรือการกินข้าว กินขนม จดบันทึกต่างๆ
.
ถามว่าแล้วเวลาบินไม่คุยเล่นกันเลยเหรอ คำตอบคือ “คุยได้” .. แต่นักบินจะรู้กันว่า คุยได้เมื่อไร ห้วงยามไหนควรคุย เวลาไหนไม่ควรคุย
.
คำนี้ในวงการเรารู้กันดีว่า มันคือกติกาสากลที่พวกเราจะต้อง “เงียบ” หรือ “พูดเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการบินในขณะนั้นเท่านั้น” แปลให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ รู้ว่าต้องพูดอะไร เมื่อไร อย่างไร และกับใคร
.
ในสมรรถนะด้านการสื่อสารของนักบิน มีอยู่ 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงได้แก่ การสื่อสารที่เหมาะสม (Selects appropriately what, when, how, and with whom to communicate) และ การปฏิบัติตามขั้นตอน การใช้การสื่อสารที่เป็นมาตรฐาน (Adheres to standard radiotelephone phraseology and procedures)
.
สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับกฎกติกาที่เรียกว่า ‘Sterile Cockpit’ แบบเต็มๆ
.
ตำราของบริสโตเล่าให้ฟังว่ากฎกติกานี้ถูกพัฒนาอย่างจริงจังภายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมของเครื่องบินสายการบิน Eastern Airlines เที่ยวบิน 212 เครื่องบินแบบ McDonnell Douglas DC-9-31 ที่ตกในป่าห่างจากสนามบินราวๆ 3 ไมล์ มีผู้เสียชีวิต 72 คน (จาก 82 คนบนเครื่อง)
.
มันคือปลายฤดูร้อนที่หมอกหนาจัด เมื่อเดือนกันยายน ปี 1974
.
ยามเช้าวันนั้นที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ใกล้สนามบินชาร์ล็อตต์ ดักลาส ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนักบินบังคับเครื่องร่อนลงฝ่าหมอกหนาทึบ เครื่องไม่ได้บินไปตามจุดที่ควรจะเป็น ความสูงต่ำกว่าที่คาด บทสนทนาของนักบินที่ถูกถอดออกจากเทปบันทึกพบว่า ไม่มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการบินเลยสักนิด ไม่กี่นาทีหลังจากเครื่องร่อนลงไปเรื่อยๆ เครื่องก็สัมผัสพื้นอย่างจัง
.
การสืบสวนพบว่าขณะทำการบิน ในช่วงร่อนลงนั้น นักบินพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว การลงทุน หุ้น การเมือง รถมือสอง กระทั่งเครื่องร่อนผ่านจุดที่เรียกว่า MDA (Minimum Descent Altitude) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหากบินผ่านจุดนี้แล้วยังมองไม่เห็นสนามบิน นักบินต้องยกเลิกการร่อนลงในทันที แล้วทำการ Go Around (ไต่และเพิ่มความสูงเพื่อบินกลับมาลงใหม่)
.
หากแต่นักบินไม่ทำเช่นนั้น ยังปล่อยเครื่องให้ร่อนลงต่อไป แล้วพยายามจะมองหาจุดอ้างอิงอื่นๆบนพื้น กระทั่งมันสายเกินแก้
.
NTSB (The National Transportation Safety Board) คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ ได้ระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ว่า นักบินขาดความตระหนักรู้ในความสูงที่บิน ณ ขณะนั้น โดยเฉพาะเมื่อถึงจุดวิกฤต รวมถึงขาดสมาธิที่ควรจะจดจ่อกับการบินเนื่องจากมีการสนทนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินในเวลานั้น
.
ครั้นเหตุการณ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้น กฎระเบียบที่เคร่งครัดก็ตามมา เรื่อง ‘Sterile Cockpit’ ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นจริงจัง กฎนี้มี 2 อย่างหลักที่พึงจำให้แม่นคือ
.
‘When it applies’ และ ‘What it forbids’
.
‘When it applies’ คือ เมื่อไรนักบินต้องใช้กฎ ‘Sterile Cockpit’
.
โดยปกติทุกๆบริษัทจะเขียนกฎกติกานี้เอาไว้ โดยห้วงเวลาที่นักบินจะใช้กฎนี้คือช่วงเวลาที่นักบินต้องการโฟกัสกับการบินมากเป็นพิเศษ เป็นช่วงเวลาที่มีภาระงานสูง ได้แก่ ขณะเครื่อง Taxi, วิ่งขึ้น Take-off, ไต่ (Departure up), ลดระดับความสูง (Descent), ร่อนลงสนามบิน (Approach), ขณะกำลัง Landing และ Touchdown หรือรวมถึงเฟสอื่นๆที่นักบินพิจารณาแล้วเห็นว่าในเวลานั้นต้องการโฟกัสกับการควบคุมเครื่องมากเป็นพิเศษ
.
‘What it forbids’ คือ อะไรห้ามพูด อะไรห้ามทำ ซึ่งก็คือเรื่องอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน ณ เวลานั้น เช่น กินข้าว ดื่มน้ำ การจด การเขียน และอื่นๆ
.
โดยหลักสากล นักบินจะมีประโยคคำพูดที่เป็นมาตรฐานที่ใช้พูดโต้ตอบกันขณะบิน เราเรียกประโยคเหล่านั้นว่า ‘Standard Calls’ ในเฟสสำคัญของการบินที่เราต้องการให้ห้องนักบิน ‘ปลอดเชื้อ’ เราก็จะไม่พร่ำคำพูดอื่นใดนอกเหนือไปจาก ‘Standard Calls’
.
เวลาฝึกนักบิน ครูจะแกล้งชวนศิษย์คุยไปเรื่อย โดยเฉพาะในเฟสสำคัญ เพื่อเช็กดูว่าศิษย์จะทำอย่างไร จะแก้ปัญหายังไงหากถูกรบกวนสมาธิขณะบิน
.
หากศิษย์ยังฝืนคุยตอบโต้ไปมา ครูก็จะยิ่งใส่ต่อ พร่ำพรรณนาแบบจัดเต็ม เพื่อรบกวนสมาธิของศิษย์ขณะควบคุมเครื่อง
.
สิ่งที่ครูต้องการคือ อยากเห็นศิษย์หันมาบอกครูว่า
.
“Sterile Cockpit Please !”
.
เพียงเท่านี้ก็บบรรลุพฤติกรรม 2 อย่างที่ต้องการของสมรรถนะด้านการสื่อสารของนักบินแล้ว
.
จะว่าไป เรื่องของการสื่อสารนี้เป็นศิลปะทั้งการพูดและการไม่พูด ส่วนกฎ ‘Sterile Cockpit’ นี้ถือได้ว่าถูกเขียนขึ้นมาด้วยเลือดจริงๆ
.
เช่นนี้แล้วการทำให้ห้องนักบิน ‘ปลอดเชื้อ’ ในห้วงเวลาที่เหมาะสมจึงสำคัญยิ่งนัก มันไม่ใช่แค่การไม่พูด แต่มันหมายรวมถึงการโฟกัส การคอนโทรลเครื่อง และการตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์
.
ด้วยเพราะว่ามีหลายชีวิตที่นั่งอยู่ด้านหลังเรา มอบความไว้วางใจให้กับเรา ห้องที่เรานั่งควบคุมจึงควรต้อง ‘ปลอดเชื้อ’ ให้มากที่สุด
.
<The sterile cockpit isn’t just about silence; it’s about focus. It’s a commitment to the lives entrusted to us.>
.
และเชื่อเถอะว่างานบนฟ้านี้ การเดิมพันสูงยิ่งนัก
.
<When the stakes are high, the mind must be clear.>
….
สาระเพิ่มเติม
.
– เฟสต่างๆที่สำคัญและนักบินจะมีภาระงานหนักกว่าปกติเราจะเรียกกว่า ‘Critical phases of flight’
– ช่วงเวลาที่ภาระงานน้อยในการบินคือช่วงเวลาบินตรงบินระดับ แต่ในบางครั้งหากบินระดับอยู่ แล้วเกิดบินเข้าสภาพอากาศแปรปรวน กฎ ‘Sterile Cockpit’ ก็ควรนำมาใช้เช่นกัน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

 

1 thought on “Sterile Cockpit คืออะไร ?”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *