วันนั้น..อากาศมืดครื้ม ทัศนวิสัยต่ำ
.
นักบินเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองทำการบินลงแท่นขุดเจาะด้วยการทำ Instrument Approach* นักบินอ่าน Chart* และบินตาม Chart นั้น เมื่อระยะเข้าใกล้แท่นมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงจุดตัดสินใจ
.
นักบินที่นั่งขวาพูดว่า “Not Visual Go Around”
.
ความหมายคือ ไม่เห็น..ไม่บินลง และ เริ่มไต่ เพื่อทำการบินต่อ ส่วนจะบินกลับมาลงที่เดิมไหม หรือตัดสินใจบินไปลงที่หมายสำรอง อยู่ที่การวิเคราะห์ร่วมกันหลังจากนั้น
.
ไม่ทันไร .. ไฟแสดงสัญญาณว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้นขึ้น ค่าพารามิเตอร์ของเครื่องยนต์ด้านขวามีอาการผิดปกติไม่คงที่ เกิดไฟไหม้ที่เครื่องยนต์ด้านขวา !
.
ร่างกายตอบสนองทันที ขั้นตอนฉุกเฉินถูกเรียกขึ้นมาใช้ การคอนโทรลเครื่องเป็นไปโดยอัตโนมัติ ณ นาทีนั้น นักบินที่นั่งด้านขวาเป็นคนบังคับเครื่อง (PF : Pilot Fly) ขณะที่นักบินที่นั่งด้านซ้ายทำหน้าที่ช่วยติดต่อสื่อสาร ช่วยตรวจดูค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เรียกและอ่าน Checklist ให้นักบินที่กำลังบังคับเครื่องอยู่ (PM : Pilot Monitoring)
.
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญกรณีไฟไหม้เครื่องยนต์คือ ต้องดับเครื่องยนต์นั้น และก่อนดับเครื่องยนต์ นักบินทั้งสองต้องคอนเฟิร์มกันและกันก่อน .. คอนเฟิร์มอะไร ก็คอนเฟิร์มว่าดับถูกเครื่องยนต์ไหม
.
ขณะเอ่ยคำว่า “Throttle affected engine – Identify, Idle, Stop”
.
(แปลว่า “ยืนยันตำแหน่งบังคับรอบเครื่องยนต์ที่มีปัญหา เพื่อผ่อนรอบและทำการดับเครื่องยนต์”)
.
ทันใดนั้น..มือของนักบินที่นั่งซ้ายก็ไปคว้าเอาที่ Throttle ของเครื่องยนต์หนึ่ง ซะแล้ว (เครื่องยนต์หนึ่ง = เครื่องยนต์ซ้าย , เครื่องยนต์สอง = เครื่องยนต์ขวา)
นักบินที่นั่งขวาหันควับ คว้ามือของนักบินที่นั่งซ้ายเอาไว้ แล้วพูดว่า “Nagative !”
.
จะเกิดอะไรขึ้น หากเครื่องยนต์หนึ่งดับ ขณะที่ไฟกำลังไหม้เครื่องยนต์ที่สองอยู่ (ฮ.มีสองเครื่องยนต์)
………
หนึ่งในเก้าของสมรรถนะนักบินที่พึงมีคือ “Leadership and Teamwork” (ความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม) สำหรับข้อนี้มีหัวข้อสำคัญนึงที่ซ่อนอยู่ มันชื่อว่า “Self-Control” <การควบคุมตนเอง>
.
สำหรับอาชีพนักบินนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะยามคับขัน มันไม่ง่ายเพราะนอกจากชีวิตเรา ยังมีชีวิตคนที่นั่งด้านหลังเรา และครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้นอีก เรียกได้ว่า..กดดันสุดๆ
.
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่นิวยอร์ก ปี 2009
.
กัปตันเชสลีย์ มีเวลาตัดสินใจ 3 นาที 28 วินาที ในอากาศ ที่ความสูง 2,800 ฟุต พาเหล็กหนัก 68 ตัน (เครื่องยนต์สองเครื่องดับสนิท) ร่อนลงแม่น้ำฮัดสัน ช่วยทุกชีวิตบนเครื่องทั้ง 155 คนเอาไว้ .. กับ 3 นาทีเศษนั้น การตัดสินใจต้องเฉียบคมและแม่นยำขนาดไหน
.
กัปตันเชสลีย์สามารถควบคุมตัวเองได้ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันสูงเช่นนั้นเพราะมีองค์ประกอบของ Self-Control ครบทั้ง 5 ข้อได้แก่
.
1. Balance – ความสมดุล – คอนโทรลเครื่องได้ ความเร็ว ความสูง ไม่ขาด ไม่เกิน
2. Clamness – ความสงบ – ควบคุมสติได้
3. Determination – ความมุ่งมั่น – ไม่วอกแวก
4. Confidence – ความมั่นใจ – มั่นใจในสิ่งที่ถูก
5. Will Power – ความมีวินัยในตนเอง – พื้นฐานของทุกสิ่ง
.
สำหรับนักบินที่จะเก็บเกี่ยวเสาทั้ง 5 ของ Self-Control ได้ครบ มันต้องเพาะบ่ม และเริ่มต้นด้วยคำว่า ‘วินัย’ เสมอ
………
เฮลิคอปเตอร์เครื่องนั้นยังบินต่อไป เมื่อเหลือเครื่องยนต์เดียว นักบินจึงตัดสินใจบินไปยังสนามบินสำรอง คำนวณน้ำมันคงเหลือแล้วเพียงพอ
.
อากาศในห้องนักบินที่เครื่องยนต์ทั้งสองเกือบจะดับหมด ยังคงดูอึมครึมไม้แพ้อากาศภายนอก นักบินที่นั่งขวาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และชวนนักบินที่นั่งซ้ายคุย สร้างบรรยากาศในห้อง Cockpit ให้กลับมาเป็นปกติ เพราะเรายังคงเป็นทีมเดียวกัน ไม่มีใครอยากผิดพลาด เพราะมนุษย์ก็คือ ‘มนุษย์’
.
ไม่เพียงต้องเป็น Leader เท่านั้น แต่การทำงานเป็นทีมก็สำคัญ การพูดคุย การสื่อสาร การไม่ติ ไม่เบลมกัน สำหรับการบินถือเป็นสิ่งสำคัญมาก
.
ที่สำคัญ “อย่าใจร้อน..และอย่าช้า”
.
สองคำนี้ฟังดูเหมือนขัดแย้งกัน หากแต่ในสถานการณ์จริง ต้องเร็ว และไม่ผลีผลาม การจะทำเช่นนี้ได้ ต้องฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน ท่อง Immediate action* ในท่า Emergency ทุกท่าให้แม่นและ ‘มั่นใจ’
.
ท่องแล้วต้องทำ ก่อนทำจะต้องคิด ทุกสิ่งอยู่ภายใต้เวลาที่จำกัดเพียงไม่กี่วินาที
.
คุณลุงเชสลีย์บอกว่า
“It’s all about the timing. You can accomplish anything if you’re never in a hurry”
<ทุกอย่างอยู่ที่จังหวะเวลา เราทำทุกอย่างสำเร็จได้หากไม่ลนลาน>
.
และแน่นอนว่า .. เหนือสิ่งอื่นใด คงไม่มีอะไรยากไปกว่า “การควบคุมตนเอง / Self Control”
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
เมื่ออากาศไม่ดี ทัศนวิสัยต่ำมาก ทำให้มองเห็นสภาพโดยรอบไม่ชัด เช่น ฝนตกหนัก หมอกหนา นักบินจึงเลือกบินด้วยกฎการบินแบบ IFR (Instrument Flight Rules) และจะบินลงสนามบินด้วยการทำ *Instrument Approach นักบินจะต้องอ่าน Approach Chart (เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้บินไปตามจุดต่างๆ จนเข้าใกล้สนามบินนั้นๆ เพื่อที่จะทำการบินลงสนามบินต่อไป)
.
สำหรับนักบิน ฮ. ที่บินไปแท่นขุดเจาะกลางทะเล ส่วนใหญ่บินด้วยกฎ IFR อยู่แล้ว และสามารถบินลงแท่นด้วยการทำ Instrument Approach ได้ นักบินก็มี Approach Chart ของแท่นขุดเจาะไว้ใช้อ่านเหมือนที่สนามบินอื่นๆมีเช่นกัน
.
นักบินใช้ *Chart ที่ชื่อว่า ARA (Airborne Radar Approach) จะต้องดูประกอบกับ Chart ของแท่นที่จะไปลงด้วยว่าความสูงของแท่นนั้นสูงเท่าไร (เรียกว่า Rig Plate) และนักบินจะบินลงได้ต่ำสุดที่ความสูงเท่าไร เพื่อตัดสินใจในจุดสุดท้ายอีกครั้งว่าเห็นแท่นที่จะบินลงหรือไม่ หากเห็นก็บินลง ถ้าไม่เห็นก็ไม่ลง ก็ต้อง Go Around ทำตามขั้นตอนของ Miss Approach ต่อไป
.
*Immediate action – นักบินจะต้องแก้ไขตามขั้นตอนได้ถูกต้อง โดยยังไม่เปิด Checklist เพราะบางเหตุฉุกเฉินหรือข้อขัดข้องบางอย่างนั้นจำเป็นต้องแก้ไขทันทีทันใด และเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจึงค่อยเรียก Checklist มาอ่านอีกครั้ง
.
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL