Skip to content

Quick Stop สำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์คืออะไร

  • by
หนึ่งในบทเรียนการฝึกของนักบินเฮลิคอปเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นท่าที่สำคัญ และศิษย์การบินหลายคนก็เข้าถึงทักษะในการบังคับเฮลิคอปเตอร์ได้เร็วขึ้นก็มาจากการฝึกท่าทางนี้ ท่าที่เรียกว่า ‘Quick Stop’
.
คำว่า Quick Stop แปลตรงๆก็จะมีความหมายว่า ‘หยุดด่วน หรือ หยุดทันที หรือ หยุดแบบเร็วๆ’ แต่ความจริงแล้ว หากคิดว่าคือการบังคับเครื่องให้หยุดไวๆหรือควบคุมโดยเร็วนั้น มันอาจจะส่งผลให้ผู้ฝึกเข้าใจผิดได้ และอาจเกิดการบังคับเครื่องในลักษณะของการกระชาก กระตุก หรือใช้คันบังคับที่รุนแรง
.
ดังนั้นก่อนฝึกท่าทางนี้ ครูจำเป็นต้องสร้างภาพในจินตนาการให้กับศิษย์ได้แจ่มชัดก่อนสักนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คันบังคับที่รุนแรงเกินไป
.
ลองจินตนาการดูว่า ขณะบังคับเครื่องลอยตัวอยู่ใกล้ๆพื้น แล้วจะพาเครื่องวิ่งขึ้น ขณะอยู่ในท่าทางของ Air Taxi เครื่องเริ่มเคลื่อนไปด้านหน้า ลอยเหนือพื้นประมาณ 10 ฟุต และความสูงค่อยๆเพิ่มเป็น 20 – 25 ฟุต ใบพัดกำลังจะกินอากาศ เครื่องพร้อมจะเหินไปบนท้องฟ้า อยู่ๆก็มีสิ่งกีดขวางด้านหน้าโผล่ขึ้นมา ระยะทางหน้ามีเพียงพอที่จะให้เราเบรกก่อนที่จะชนสิ่งกีดขวางนั้น นักบินจะหยุดเครื่องอย่างไร
.
ท่า Quick Stop ถูกออกแบบให้นำมาใช้ในการนี้ หรือในอีกหลายสถานการณ์ที่นักบิน ฮ.ต้องการหยุดเครื่องขณะจะวิ่งขึ้นและตัดสินใจไม่ไปต่อ เช่น อาจมีสิ่งขัดข้องเกิดขึ้นขณะนั้น
.
ครูการบินฝรั่งท่านนึงเคยแนะนำว่า ลองเปลี่ยนคำเรียกจากคำว่า ‘Quick Stop’ เป็นคำว่า ‘Slow Stop’ ดู เพราะหัวใจสำคัญของท่านี้อยู่ที่การคอนโทรลเครื่อง ครูสอนให้จำอยู่ 3 คำได้แก่ Slow, Smooth และ Coordinated control input
.
จะว่าไปหากเกิดสถานการณ์จริงที่ต้องเบรกกะทันหัน จะเบรกช้าก็ไม่ควร แต่การคอนโทรลกลับต้องนุ่มนวล คิดแล้วก็รู้สึกย้อนแย้งแปลกๆ แต่เชื่อว่านักบินเฮลิคอปเตอร์ทุกคนย่อมเข้าใจดี ทักษะที่ต้องบังคับเครื่องด้วยความละเมียด แต่ต้องให้ทันกับสถานการณ์ตรงหน้าด้วย ทักษะแบบนี้ พอมันเข้าเส้นแล้ว ทุกคนจะรู้ดีว่า ‘ช้าแต่ต้องเร็ว’ มันเป็นยังไง
.
สำหรับท่าทางนี้เวลาฝึกครั้งแรก เราจะเลือกหันเครื่องเข้าหาลมก่อน (ฝึกวิ่งขึ้นทวนลม) แล้วเริ่มบังคับเครื่องให้วิ่งขึ้นจากท่า Hovering (ลอยตัวใกล้ๆพื้น) เมื่อเครื่องเริ่มมีความเร็วเพิ่มขึ้นราวๆ 40 – 50 นอต ความสูงอยู่ที่ประมาณ 25 ฟุต ถึงจุดนี้ครูจะบอกว่า “เริ่มทำ”
.
ศิษย์การบินก็จะบังคับเครื่องโดยค่อยๆดึง Cyclic มาข้างหลัง พร้อมๆกับลด Collective ลงมาเพื่อไม่ให้เครื่องลอยสูงขึ้นไปมาก และยังต้องคอนโทรลหัวเครื่องไม่ให้ส่ายอีกด้วย โดยใช้ขาควบคุมที่ Pedal (เนื้อหาเรื่องคันบังคับของเฮลิคอปเตอร์มีเขียนในบทความชื่อ “นิ้วชี้บนคันบังคับ – Machine ของพระเจ้า ซึ่งอยู่ในโพสแรกๆของเพจ”)
.
การบังคับ Cyclic มาข้างหลังจะส่งผลให้หัวเครื่องเชิดขึ้น ความเร็วจะค่อยๆลดลง บางครั้งเราก็เรียกว่าการ Flare ซึ่งการฝึกทำ Quick Stop นี้จะช่วยให้ศิษย์ได้เห็นภาพของการ Flare เวลาทำท่า Autorotation ด้วย
.
โรงเรียนการบินเฮลิคอปเตอร์หลายแห่ง โดยเฉพาะในต่างประเทศก็มักออกแบบท่าฝึก Quick Stop เอาไว้ก่อนฝึกทำ Autorotation เพื่อเชื่อมโยงท่าทางการทำ Flare ไปยังขั้นตอนท้ายของท่า Autorotation
.
ขณะหัวเครื่องเชิด ความเร็วลด ศิษย์จะต้องค่อยๆบังคับ Cyclic ไปข้างหน้าเพื่อวางระดับท่าทางเครื่องให้ขนานกับพื้น และจะต้องดึง Collective ขึ้นมาเพื่อหยุดเครื่องให้กลับมาอยู่ในท่า Hovering (เราจะไม่เชิดหัวค้างไว้จนความเร็วหมด)
.
ด้วยความที่เฮลิคอปเตอร์นั้นมันดิ้นมาก พื้นที่การฝึกจึงควรกว้างพอและปลอดภัยจากสิ่งกีดขวาง ในทุกขั้นตอนมีสิ่งที่ต้องพึงระวังหลายอย่างมาก เช่น หัวเครื่องที่ชอบส่ายไปมาเพราะต้องคอยคอนโทรล Collective, ความสูงของเฮลิคอปเตอร์ที่อาจลอยสูงมากไปจนไปอยู่ในย่านที่ไม่ปลอดภัยหากเกิดเหตุเครื่องยนต์ดับ หรือความสูงที่เตี้ยไปแล้วบังคับให้หัวเครื่องเชิดมากเกินไปก็อาจทำให้หางเขี่ยพื้นได้, ลมขวาง, ความเร็วลมแรงเกิน และอื่นๆอีกมากมาย
.
เมื่อศิษย์เริ่มชำนาญ จะเข้าถึงทักษะของการประสานสอดคล้องในคันบังคับของเฮลิคอปเตอร์ ก็สามารถฝึกในขั้น Advance สำหรับท่าทางนี้ได้ ประกอบไปด้วย การหยุดเครื่องขณะอยู่ในสถานการณ์ลมขวาง และการหยุดขณะวิ่งขึ้นแบบตามลม ทั้งนี้การฝึกในขั้น Advance สำหรับท่า Quick Stop จึงยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก
.
ท่าฝึก Quick Stop จึงสรุปได้ดังนี้
.
1. Quick Stop Straight into wind – คือฝึกวิ่งขึ้นแล้วเบรกในสถานการณ์ทวนลม ซึ่งโดยปกตินักบินจะเลือกการวิ่งขึ้นแบบทวนลมอยู่แล้ว และเราจะฝึกศิษย์ในขั้นพื้นฐานด้วยท่าทางนี้เป็นหลัก
.
2. Quick Stop from cross wind and downwind terminating into wind – เป็นท่าฝึกในขั้น Advance หลักการฝึกก็เช่นเดียวกัน จะต่างก็ตอนจังหวะสุดท้าย นักบินจะหันเครื่องเข้าหาลมหลังจาก Flare โดยทำอย่างนุ่มนวล ในกรณีสถานการณ์ตามลมก็มีอีก 2 เทคนิคย่อยคือ Flare and Turn หรือจะ Turn and Flare ก็ได้
.
ซึ่งครูต้องมั่นใจก่อนว่าศิษย์มีความชำนาญในการทำ Quick Stop แบบปกติอย่างเชี่ยวชาญแล้ว สำหรับการวิ่งขึ้นในสถานการณ์ลมขวางหรือตามลมนั้น โดยปกตินักบินจะไม่ทำกัน แต่หากมีหลายปัจจัยแวดล้อมที่เลี่ยงไม่ได้ การตัดสินใจหยุดการวิ่งขึ้นในสถานการณ์เหล่านี้ย่อมจำเป็น ทักษะการบังคับเครื่องจึงสำคัญ
จะเรียกว่า Quick Stop หรือ Slow Stop ก็ดี ขอเพียงจินตนาการภาพการฝึกให้ออก และท่านี้คือหนึ่งในท่าทางพื้นฐานที่เหล่านักบินเฮลิคอปเตอร์ต้องผ่าน เป็นท่าทางที่ต้องการการคอนโทรลที่ละเอียดและแม่นยำ
.
ยังจำคำของครูฝรั่งที่บอกไว้ได้เสมอ กับคำ 3 คำที่ว่า Slow, Smooth และ Coordinated control input
.
ฉะนั้น Quick Stop จึงมิใช่หยุดด่วน แต่มันคือหยุดให้ทันมากกว่า ทันกับอะไร ทันที่จะไม่ชนสิ่งกีดขวาง ทันที่จะไม่ให้เครื่องเข้าไปสู่สภาวะอันตราย
และที่สำคัญ หัวใจอยู่ที่การคอนโทรล
.
คำที่ว่า ‘ช้าแต่ต้องเร็ว’ เมื่อไรมันเข้าเส้น เมื่อนั้นก็จะเข้าใจคำๆนี้เอง
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *