Skip to content

Confined Area Operations ของนักบินเฮลิคอปเตอร์ คืออะไร ?

อิกอร์ ซิกอร์สกี บอกไว้ว่า
.
“If you are in trouble anywhere in the world, an airplane can fly over and drop flowers, but a helicopter can land and save your life”
“หากคุณประสบปัญหาที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ เครื่องบินอาจทำได้เพียงบินผ่านแล้วโปรยดอกไม้ให้คุณ หากแต่เฮลิคอปเตอร์สามารถร่อนลงจอด และช่วยชีวิตคุณไว้ได้”
.
คำว่า “Confined หมายถึง ถูกจำกัด” ดังนั้น Confined Areas จึงหมายถึงพื้นที่ที่ถูกจำกัด ในบริบทของนักบินเฮลิคอปเตอร์ มันคือการบินไปลงยังพื้นที่ขนาดเล็กซึ่งแวดล้อมไปด้วยสิ่งกีดขวาง การบินลงและวิ่งขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นจึงไม่ง่าย มันจึงต้องการทักษะเฉพาะ
.
ทุกบทเรียนที่สั่งสมมาตั้งแต่บทที่หนึ่ง ศิษย์การบินจะเริ่มชำนาญในทุกท่าทางการบินกับเฮลิคอปเตอร์ พวกเขาจะผสมผสานทุกทักษะเพื่อทำการบินให้บรรลุภารกิจของเที่ยวบินนั้นๆ ผลลัพธ์ที่ต้องการยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ ความปลอดภัย
.
ทุกปีกเมื่อขึ้นไปแล้วต้องบินกลับลงมาด้วยความปลอดภัย ในบทเรียนนี้ จึงถูกจัดไว้ให้ฝึกในบทเรียนเกือบสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาเอาเครื่องอยู่ และพวกเขารู้ใจมัน
.
และนี่คือไฮไลต์ที่สุดแล้ว สำหรับเหล่านักบินเฮลิคอปเตอร์ ลองจินตนาการภาพเหตุการณ์จริงที่หลายคนอาจเคยพบเห็น เฮลิคอปเตอร์ร่อนลงจอดกลางหุบเขา จอดริมชายหาด รับผู้โดยสารที่สนามกอล์ฟ ร่อนลงกลางป่า ช่วยชีวิตคนบนหน้าผา จอดบนแท่นขุดเจาะกลางทะเล ส่งเสบียงบนยอดเขาแคบๆ ลงบนสะพาน ส่งอาหารให้ชาวบ้านที่น้ำท่วม และอีกนานาสารพัดเหตุการณ์
.
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการบินลงบนพื้นที่จำกัดทั้งนั้น และมันคือสุดยอดทักษะ ที่เมื่อเรียนจบได้ประดับปีกนักบินเฮลิคอปเตอร์แล้ว พวกเขาเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องบินไปลงบนพื้นที่ต่างๆ อันหลากหลายอย่างแน่นอน
.
เนื่องจากพื้นที่ลง มันไม่ใช่ทางวิ่งยาวๆ ไม่ใช่รันเวย์แบบที่นักบินทั่วไปใช้ฝึกบินขึ้น-ลงกัน ดังนั้นมันต้องเริ่มจากการวางแผน การสำรวจภูมิประเทศ เช็กข้อมูลในแผนที่ จากนั้นเมื่อบินไปถึงพื้นที่ นักบินจะมีขั้นตอนและเทคนิคต่างๆ อาจสรุปโดยย่อได้ดังนี้
.
1. บินลาดตระเวนระยะสูง (High-Reconnaissance Flight) – เมื่อบินไปถึงพื้นที่ที่ต้องการลงแล้ว นักบินจะบินวนดูพื้นที่ก่อน ที่ความสูงราวๆ 500 ฟุตเหนือพื้นที่ (ความสูงอาจปรับแต่งได้ตามหน้างาน) ระหว่างบินสำรวจ นักบินจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจว่าจะบินลงพื้นที่นั้นอย่างไร
.
2. บินลาดตระเวนระยะต่ำ (Low-Reconnaissance Flight) – เมื่อบินที่ระดับความสูงหนึ่งเพื่อสำรวจพื้นที่เสร็จแล้ว ขั้นต่อไปนักบินจะบินต่ำลงมายังพื้นที่เป้าหมาย (ราวๆ 100 – 200 ฟุต ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ) อาจบินโฉบผ่านไปก่อนแต่ยังไม่ลงก็ได้ เพื่อคอนเฟิร์มว่าข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจระยะสูงนั้นยังคงเดิม เพราะบางทีในมุมมองหนึ่งอาจเห็นลักษณะพื้นที่เป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อบินลงมาใกล้ๆ อาจพบเจออะไรที่เปลี่ยนไป เช่น พบพุ่มไม้สูง หรือมีสิ่งกีดขวางทางร่อนลง
.
ทั้งการบินลาดตระเวนระยะสูงและต่ำนั้น นักบินจะได้ข้อมูลเพียงพอเพื่อตัดสินใจว่า พื้นที่เหมาะสมที่จะบินลงไหม แล้วจะบินร่อนลงจากทิศทางไหน เมื่อลงแล้วจะวิ่งขึ้นไปทางไหน หากลงไม่ได้จะบินไปทางไหน แล้วเมื่อร่อนลงถึงพื้นที่จะลงจอดตรงไหน
.
3. เมื่อนักบินทำการบินสำรวจจนได้ข้อมูลครบครันแล้ว จะเริ่มสร้างวงจรการบินขึ้นมา เพื่อเตรียมร่อนลงไปยังพื้นที่นั้น
.
4. เมื่อบินลงพื้นที่แล้ว ก่อนวางตัวลงบนพื้นนักบินจะสำรวจพื้นก่อนว่าปลอดภัยไหม ลาดเอียงมากไปไหม พื้นขรุขระรึปล่าว แล้วค่อยๆหย่อนตัวลงจอด จากนั้นก่อนวิ่งขึ้น นักบินก็จะสำรวจพื้นที่รอบๆก่อน หากพื้นที่มีระยะทางให้กลับตัว เพื่อเคลื่อนตัวไปวิ่งขึ้นยังอีกจุดหนึ่งที่วางแผนไว้ นักบินก็จะสำรวจพื้นที่ที่พื้นรอบๆขณะเคลื่อนตัวไปเพื่อตั้งตัววิ่งขึ้น (เรียกว่าการทำ Ground Recce)
.
5. ก่อนวิ่งขึ้น นักบินจะต้องตรวจเช็กกำลังเครื่องยนต์ก่อน ทำขั้นตอนการวิ่งขึ้นตามคู่มือ พิจารณาเลือกจุดที่จะวิ่งขึ้นให้มีสิ่งกีดขวางที่น้อยที่สุด
รวมๆแล้วหลักการจะประมาณนี้ แต่เวลาฝึกจริง บอกได้เลยว่ามันไม่ง่าย ขณะบินสำรวจพื้นที่ก่อนร่อนลงนั้น ปัจจัยแวดล้อมต่างๆต้องครบครัน มีหลายค่าย หลายโรงเรียนออกแบบตัวย่อมาให้ศิษย์ใช้ฝึกท่องจำ ว่าจะต้องพิจารณาอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
ทหารบกมักใช้ตัวย่อว่า SSBATT ประกอบไปด้วย Size (ขนาดพื้นที่พอไหม), Suitability (พื้นที่เหมาะสมไหม), Barriers (มีสิ่งกีดขวางตรงไหนบ้าง), Approach (แนวร่อนจากไหนไปไหน), Touchdown Point (จุดวางตัวตรงไหน) และ Takeoff (วิ่งขึ้นทิศทางไหน)
บางโรงเรียนใช้ 5S ประกอบไปด้วย Size (ขนาดพื้นที่) Shape (รูปร่างของพื้นที่) Slope (ความลาดเอียงของพื้นที่) Surface (ลักษณะพื้นที่ เช่น เป็นดินแข็งหรือนุ่ม เป็นโคลนหรือทราย หรือมีฝุ่นไหม) Surroundings (สิ่งกีดขวางรอบๆ)
.
บางแห่งใช้ WOTFEEL ประกอบไปด้วย Wind (ความเร็วและทิศทางลม) Obstacles (สิ่งกีดขวาง) Terrain (ลักษณะพื้นที่ที่จะลง ซึ่งก็นำ 5S มาปรับใช้อีกที) Forced Landing (พื้นที่ร่อนลงฉุกเฉินรอบๆ) Entry (แนวร่อนลงเข้าพื้นที่จากทิศทางไหน) Exit (แนววิ่งขึ้นออกจากพื้นที่) Low Recce (การบินต่ำเพื่อสำรวจพื้นที่อีกครั้ง)
.
ขณะที่นักบินคอปเตอร์ทหารเรืออเมริกันใช้คำว่า SWEEP ประกอบไปด้วย Surface (พื้นที่เป็นอย่างไร) Wind (ความเร็วและทิศทางลม) Elevation/Egress (ความสูงของพื้นที่และแนวบินออก หรือกรณี Go Around หากว่าร่อนลงไม่ได้จะบินออกไปทางไหน) และ Power Required (การเช็กกำลังเครื่องยนต์ก่อนบินลงและก่อนวิ่งขึ้น)
.
หรือบางโรงเรียนที่อเมริกานิยมใช้คำว่า SWOT ประกอบไปด้วย Suitability (พื้นที่เหมาะสมไหม) Wind (ความเร็วและทิศทางลม) Obstacles (สิ่งกีดขวาง) Approach/Departure (แนวร่อนและแนววิ่งขึ้น) และ Touchdown Point (จุดลงจอด)
.
โดยหลักการแล้ว บรรดาตัวย่อที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ มักหนีไม่พ้นการวิเคราะห์พื้นที่ที่จะบินลง ความเร็วและทิศทางลม สิ่งกีดขวาง เพื่อวางแผนแนวร่อนและแนววิ่งขึ้น การเตรียมพร้อมกรณีเกิดเหตุขัดข้องระหว่างบินว่าจะเปลี่ยนแผนไปลงฉุกเฉินที่ตรงไหน การตรวจเช็กกำลังเครื่องยนต์ และจุดลงจอดว่าเลือกตำแหน่งไหน ตรงไหนดี รวมถึงวางแผนล่วงหน้าด้วยว่าเมื่อลงจอดแล้ว จะวิ่งขึ้นจากจุดไหนดี
.
ส่วนใหญ่การบินลงบนพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งกีดขวาง มุมร่อนมักจะชันกว่าปกติ การบินจึงต้องประณีต อัตราร่อนต้องไม่สูงมากเกิน ซึ่งศิษย์การบินจะได้รับการฝึกบินในท่าทางขั้น Advance มาก่อนแล้ว เช่น ฝึกบินร่อนลงด้วยมุมที่ชันกว่ามุมร่อนปกติ
.
นอกจากนั้น การระวังสิ่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะบิน จึงถือเป็นการดักที่เป็นประโยชน์ ยิ่งคิดวิเคราะห์ได้มากยิ่งดี เช่น หากลมแรง ลมขวาง นักบินควรระวังอะไรบ้าง หากเกิดสภาวะการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานของใบพัดหางจะทำอย่างไร
.
เมื่อใดสวมหัวใจ ‘นก’ เมื่อนั้นอย่าลืมว่าเรามี ‘หาง’ และการบินขึ้นลงพื้นที่นอกสนามบิน หางต้องเคลียร์ แนวร่อน แนววิ่งขึ้น และพื้นที่ลง ต้องปลอดภัย ฉะนั้นการบังคับแมลงปอเหล็กนี้จึงต้องละเอียดและระแวดระวังเป็นพิเศษ
.
หลายครั้งหลายครา ในทั่วทุกมุมโลก ผู้ประสบภัยที่นั่งรอความสิ้นหวังในพื้นที่ที่ห่างไกล นักท่องเที่ยวที่ประสบภัยบนภูเขา ผู้รอดตายจากเหตุการณ์ใดๆก็ตามแต่ที่เฝ้ารอคอยเสียงใบพัดของแมลงปอเหล็ก
.
เสียงแหวกอากาศของมันราวกับเสียงสวรรค์ พวกมันเล็ดลอดเข้าพื้นที่เล็กๆเพื่อช่วยชีวิตพวกเขาเหล่านั้นไว้ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่คือไฮไลต์ที่แท้จริงของการใช้อากาศยานประเภทนี้
.
และบทเรียนนี้จึงสำคัญนัก การที่จะเคี่ยวเข็ญให้ลูกนกเหล่านี้ได้เติบโต แข็งแกร่ง มีทักษะที่ครบครัน โดยเฉพาะการบินในบทเรียน Confined Areas จึงไม่ง่าย
ดังคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “Flying into a confined area is like threading a needle in the sky. It demands meticulous planning and flawless execution.”
หากเปรียบเฮลิคอปเตอร์เป็น ‘ด้าย’ พื้นที่ลงเล็กเท่า ‘รูเข็ม’ การบินลงบนพื้นที่จำกัดก็เช่นการสนเข็มบนท้องฟ้า มันต้องการการวางแผนอันละเมียดและการปฏิบัติการอันไร้ที่ติ
.
ผมมองผ่านท้องฟ้านั้นทอดยาวสู่พื้นที่อันไกลโพ้น
.
ในอนาคตข้างหน้า นกใหม่ป้ายแดงกลุ่มนี้ จะต้องมีสักคนที่ได้ใช้วิชาสำหรับบทเรียน Confined Areas เพื่อช่วยเหลือชีวิตใครบางคน บนพื้นที่ใดสักแห่งบนโลกนี้..อย่างแน่นอน
.
ภาพด้านล่างโดย Marco De Luca จาก Pixabay
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *