ใบพัดหลักที่หมุนของเฮลิคอปเตอร์เปรียบได้กับ ‘หัวใจ’ พวกเรานักบิน ฮ. ถูกสอนมาตั้งแต่วัยละอ่อนว่า
.
“The rotor is the heart of the helicopter”
.
การฝึกคอนโทรลรอบใบพัดหลักให้หมุนอยู่ในย่านที่ปลอดภัยในขณะที่รอบของเครื่องยนต์เริ่มลดลงและแยกจากกันกับรอบใบพัด ท่าฝึกนี้คือหนึ่งในการฝึกของศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์ ฝึกเอาไว้รับมือกรณีเกิดเครื่องยนต์ดับขณะบิน
.
นักบิน ฮ.คุ้นเคยกันในชื่อ ‘ออโต้โรเตชั่น’ (Autorotation) บางทีเราก็เรียกสั้นๆเวลาฝึกว่า ‘ทำออโต้’
.
Autorotation จะทำในกรณีเครื่องยนต์ดับสำหรับเฮลิคอปเตอร์แบบมีเครื่องยนต์เดียว..แต่ถ้าเฮลิคอปเตอร์มีสองเครื่องยนต์ แล้วเครื่องยนต์ดับไปหนึ่งเครื่อง ไม่จำเป็นต้องทำออโต้ เพราะยังเหลือเครื่องยนต์อีกหนึ่งเครื่อง ยังสามารถบินต่อไปได้ แต่หากเครื่องยนต์ดับทั้งสองเครื่อง ก็ต้องทำท่านี้เช่นกัน
.
พลังงานที่สะสมอยู่ในตัวเฮลิคอปเตอร์ขณะบินนั้น มีทั้งพลังงานศักย์ (สะสมจากความสูงขณะบินและน้ำหนักเครื่อง) และพลังงานจลน์ (สะสมจากความเร็ว ฮ.ที่เคลื่อนที่และความเร็วของรอบใบพัดที่หมุน) เรื่องนี้คือหนึ่งในทฤษฎีที่นักบิน ฮ.ต้องทำความเข้าใจ เพราะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในท่าทาง Autorotation .. มันคือการเปลี่ยนถ่ายพลังงานทั้งหมดออกมาใช้เป็นแรงยกในเฮือกสุดท้าย
.
เฮลิคอปเตอร์ทุกแบบล้วนถูกดีไซน์มาให้สามารถรับมือกับสถานการณ์เครื่องยนต์ดับได้
.
เครื่องยนต์คือแหล่งกำเนิดพลังงาน ไปขับเคลื่อนส่วนหมุนต่างๆของเฮลิคอปเตอร์ ถ่ายทอดกำลังไปยังใบพัดหลักและใบพัดหาง หากเครื่องยนต์ดับ รอบของเครื่องยนต์จะลดลงจนหมด ไม่มีกำลังไปขับเคลื่อนส่วนอื่นๆต่อ ดังนั้น เฮลิคอปเตอร์จึงมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้รอบเครื่องยนต์ที่เริ่มลดลงนั้น ..ไม่ไปฉุดรอบใบพัดหลักให้ร่วงหล่นตาม แต่ทั้งนี้ นักบินจะต้องตอบสนองต่ออาการของเครื่องยนต์ดับให้ไวด้วย และรีบบังคับเครื่องตามสูตรที่ถูกฝึกฝนมา ระบบจึงจะแยกรอบเครื่องยนต์และรอบใบพัดให้จากกัน
.
(อุปกรณ์ชิ้นนั้นชื่อว่า Freewheeling unit)
.
นักบินสามารถบังคับให้รอบใบพัดหลักหมุนอยู่ในย่านปกติได้ด้วยคันบังคับที่ชื่อว่า ‘Collective’ (บังคับด้วยมือซ้าย)
.
จากนั้นนักบินจะพาเครื่องร่อนด้วยอัตราที่สูงกว่าปกติ พร้อมรักษาความเร็วตามที่คู่มือแนะนำ ..ตาก็มองหาพื้นที่ลงที่ปลอดภัย
.
การฝึกท่าทางฉุกเฉินต่างๆ หากมี Simulator (เครื่องฝึกบินจำลอง) จะมีประโยชน์มาก เราสามารถใส่สถานการณ์ผิดปกติอะไรก็ได้ลงไป แล้วให้นักบินแก้ไข .. มันคือสะพานเชื่อมภาคทฤษฎีไปยังภาคปฏิบัติชั้นเยี่ยม
.
เพราะเวลาฝึก Autorotation กับเฮลิคอปเตอร์จริง เราจะไม่ดับเครื่องยนต์จริงๆ เราจะทำเพียงแค่ลดรอบเครื่องยนต์ให้ต่ำกว่าปกติ ศิษย์จะต้องรีบแก้ไขโดยฝึกควบคุมหัวใจหลักให้คงอยู่..นั่นก็คือ ‘รอบใบพัด’
.
การฝึกควบคุมรอบใบพัดขณะเครื่องยนต์ยังทำงานอยู่คือโจทย์แรกที่ทุกคนต้องผ่าน
.
ฝึกใหม่ๆจะยังคอนโทรลรอบไม่นิ่ง ถ้ารอบต่ำไปจะมีไฟและเสียงเตือนรอบใบพัดต่ำเกิดขึ้น เพื่อช่วยเตือนนักบินว่าตอนนี้รอบต่ำไปแล้วนะ .. ทักษะนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการใช้คันบังคับทุกส่วนที่ประสานสอดคล้องกัน
.
เพราะนอกจากควบคุมรอบใบพัดแล้ว ยังต้องควบคุมความเร็ว และตำแหน่งทิศทางของเฮลิอปเตอร์ขณะดิ่งลงด้วยอัตราร่อนที่สูงมากด้วย
.
เมื่อศิษย์เริ่มชำนาญ ครูจะเริ่มให้ทำ Autorotation แบบเครื่องยนต์ดับจริง (ทำเฉพาะกับใน Simulator เท่านั้น)
.
ลำดับขั้นของการฝึกอาจสรุปให้เห็นภาพง่ายๆได้ดังนี้
.
1. ขั้นเริ่มทำ – กด Collective ลงสุด รักษารอบใบพัด ในขั้นนี้นักบินต้องคอยแก้อาการตอบสนองของเครื่องด้วย เช่น เมื่อกด Collective หัวเครื่องจะคอยทิ่มลง ก็ต้องแก้ไข
2. ปรับแต่งความเร็วตามคู่มือที่แนะนำของแบบ ฮ.นั้นๆ
3. รักษารอบใบพัด – ระหว่างเครื่องดิ่งลง รอบใบพัดอาจขึ้นๆลงๆ นักบินต้องมอนิเตอร์ตรงจุดนี้ให้ไว และรักษารอบใบพัดให้อยู่ในย่านที่ปลอดภัย โดยควบคุมที่ Collective
4. ตามองพื้นที่ลง บังคับตำแหน่งเครื่องให้อยู่ในโซนที่ปลอดภัย (ขั้นนี้ทำแทบจะพร้อมๆกับขั้นตอนอื่นๆ สายตาต้องไว ทั้งมองข้างในและมองข้างนอกเครื่อง ตำแหน่งของเครื่องต้องไม่หลุดออกนอกพื้นที่ที่จะลง)
5. Flare หมายถึงขั้นตอนลดอัตราร่อนและความเร็วด้วยการบังคับหัวเครื่องให้เชิดขึ้น จังหวะ Flare จะทำเมื่อเครื่องเริ่มใกล้ถึงพื้นแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับแบบของเฮลิคอปเตอร์ที่มีขนาดและน้ำหนักที่ต่างกัน ความสูงที่ใช้ Flare ของเครื่องแต่ละแบบจะถูกเขียนไว้ในคู่มือของ ฮ.แบบนั้นๆ
6. Attitude leveling & Cushion landing – คือขั้นตอนหลัง Flare นั่นคือเมื่อ Flare และเครื่องเริ่มจะหยุด นักบินจะบังคับหัวเครื่องไปข้างหน้า ให้เครื่องมีท่าทางที่ขนานกับพื้น ตอนนั้นเครื่องจะเริ่มใกล้สัมผัสพื้นแล้ว นักบินจะดึง Collective ขึ้นมา เป็นการเปลี่ยนจากพลังงานที่สะสมไว้ทั้งหมดตั้งแต่อยู่บนอากาศมาเป็นแรงยกในจังหวะสุดท้าย เพื่อให้เครื่องลงจอดบนพื้นอย่างไม่รุนแรง
.
นอกจากนี้ ยังมีสามารถจำแนกการฝึก Autorotation ได้อีกหลายรูปแบบได้แก่
.
1) Straight – in Autorotation : ตั้งตัวตรงแนวพื้นที่ที่จะร่อนลงแล้วเริ่มทำออโต้ลงมา
2) 90 Degree Autorotation : เริ่มทำออโต้ในขาตั้งฉากกับแนว Final นั่นคือทำไปเลี้ยวเปลี่ยนทิศไป 90 องศาเข้าหาพื้นที่ลง
3) 180 Degree Autorotation : ทำออโต้ในขาที่ขนานกับแนวร่อนสุดท้าย คือการทำออโต้ไป แล้วต้องเลี้ยวกลับตัว 180 องศาเพื่อนำเครื่องร่อนลงยังพื้นที่เป้าหมาย
4) Precision Autorotation : ทำออโต้ลงมาโดยกะให้ลงเป็นจุด ท่านี้ต้องฝึกจนชำนาญมากๆ กระทั่งทำออโต้ลงบนจุดเล็กๆได้แบบเป๊ะๆ
กว่าจะฝึกจนช่ำชองได้นั้น..ไม่ง่าย ต้องอาศัยความรู้ใจ รู้นิสัย รู้อาการของเครื่อง การฝึกซ้อมใน Simulator ก็ช่วยได้มาก
.
อย่างไรก็ตาม ครูมักเน้นย้ำเสมอว่า
.
เมื่อเครื่องยนต์ดับ คุมรอบให้ได้ก่อน
.
เพราะว่ารอบใบพัดสำหรับเฮลิคอปเตอร์นั้นเปรียบได้ดั่ง ‘หัวใจ’
.
ประโยคนั้นฝังลึงลงในยีนของนักบิน ฮ.มาเนิ่นนาน กับประโยคที่ว่า
.
“The rotor is the heart of the helicopter”
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL