มีสุภาษิตกรีกหนึ่งเปรยไว้ว่า
.
“A green fruit gets ripe slowly.” <ผลไม้สีเขียวสุกช้า>
.
ความหมายของสุภาษิตนี้สื่อถึงคุณค่าของความอดทน มันคือความก้าวหน้าตามธรรมชาติของการเติบโต บ่งบอกว่าทุกภูมิปัญญา ทุกความสำเร็จ มันมีวิวัฒนาการในแบบของมัน บางเรื่องไม่จำเป็นต้องไปเร่งรัดกระบวนการใดๆ เมื่อจังหวะเวลาสุกงอม ผลผลิตมันก็งอกเงยขึ้นมาเอง
.
เหมือนเรื่องราวของอากาศยานที่ชื่อว่า ‘เฮลิคอปเตอร์’ ความพิศดารของยานพาหนะประเภทนี้นั้น ช่างฝืนธรรมชาติแบบสุดๆ บทความนี้เกริ่นย่อเพียงที่มาของคำว่า ‘เฮลิคอปเตอร์’ เจือกลิ่นของแรงขับและจินตนาการของมนุษย์เราในอดีต นำมาย่อยมาให้ฟังสักเล็กน้อย
.
คำว่า ‘เฮลิคอปเตอร์’ มาจากภาษากรีก มีรากศัพท์มาจากคำสองคำคือ ‘Helix’ และ ‘Pteron’
.
Helix แปลว่า ‘เกลียวหรือสิ่งที่หมุนรอบ’
.
Pteron แปลว่า ‘ปีก’
.
เอาสองคำมาเขียนต่อกันเป็น ‘Helix Pteron’
.
แปลว่า ‘ปีกที่หมุนได้’ ภาษาอังกฤษคือ ‘A spiral wing’
.
จากภาษากรีกถูกแทนที่ด้วยภาษาฝรั่งเศส เพราะคนที่คิดคำว่า Helix Pteron นี้คือนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส
.
ปี 1863 กุสตาฟ เดอ ปงตง ดาเมกูร์ (Gustave de Ponton d’Amecourt) นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสพยายามจะสร้างอากาศยานประเภท ‘ปีกที่หมุนได้’ นี้ขึ้นมา มีแบบ มีโครงร่าง แต่เมื่อประดิษฐ์เสร็จแล้ว การทดลองก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ เครื่องยังลอยไม่ได้
.
กุสตาฟ รู้ภาษากรีกและเป็นผู้บัญญัติคำว่า Helix Pteron ขึ้นมา จากนั้นแทนคำกรีกด้วยภาษาฝรั่งเศส ให้นามของอากาศยานประเภทนี้ว่า ‘Hélicoptère’
ต่อมาคำฝรั่งเศสนี้ก็ถูกเรียกด้วยคำอังกฤษเป็นคำว่า ‘Helicopter’ ในที่สุด
จะว่าไปแล้วอากาศยานชนิดนี้ถูกสร้างสำเร็จให้มนุษย์ได้ใช้งานจริงก็หลังปี 1930 ไปแล้ว .. หมายความว่าชื่อของ ‘เฮลิคอปเตอร์’ เกิดขึ้นมามากกว่า 60 ปีก่อนหน้านั้น
.
กว่าเหล่านักประดิษฐ์จะประสบความสำเร็จในการสร้างเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมา ก็กินเวลาไปประมาณเกือบ 2 ชั่วอายุคนนับจากชื่อของมันถูกจารึกขึ้นมาก่อน แม้ว่าในห้วงเวลานั้นจะประดิษฐ์สำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่รู้
.
ภาพในบทความนี้ถ่ายมาจากสำนักงาน ICAO Asia and Pacific Regional ที่กรุงเทพ เป็นภาพสกรูอากาศ (Aerial Screw) เป็นโมเดลที่จำลองมาจากภาพสเก็ตช์ของดาวินชี (ปี 1489) เป็นการออกแบบเครื่องจักรที่คาดหวังว่ามันจะลอยขึ้นในแนวดิ่งได้
.
ภาพร่างโมเดลนี้เปรียบได้กับหมุดหมายหนึ่งในยุคแรกๆของมนุษย์ที่มากล้นด้วยจินตนาการและใช้ความรู้มากมายหลายศาสตร์อาทิเช่น คณิตศาสตร์ เรขาคณิต วิทยาศาสตร์ กลศาสตร์ เพื่อพยายามสร้างเครื่องจักรให้ลอยขึ้นได้ในแนวดิ่ง
.
และยิ่งสืบย้อนไปอีก จะพบว่ามนุษย์เราฝันถึงสิ่งที่ลอยได้ในแนวดิ่งมาเป็นพันๆปีแล้ว สังเกตได้จากของเล่นของเด็กชาวจีนเมื่อ 2,400 ปีก่อน ที่เราเรียกกันว่า ‘ของเล่นบินไม้ไผ่ / Chinese bamboo flying toys’ หรือ ‘คอปเตอร์ไม้ไผ่’ นั่นเอง
.
ผ่านกาลเวลามานับพันๆปี กระทั่งมนุษย์สามารถเอาชนะความฝันนี้ได้ หากค้นบันทึกประวัติการสร้างสิ่งประดิษฐ์เช่นเฮลิคอปเตอร์นี้ จะพบว่ามนุษย์ล้มเหลวมามากกว่าหนึ่งพันครั้ง และกี่ความล้มเหลวที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน กว่านวัตกรรมใหม่ๆจะก่อเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
.
อีลอน มัสก์ เคยพูดไว้ว่า
.
“Failure is an option here. If things are not failing, you are not innovating enough.”
<ความล้มเหลวก็เฉกเช่นทางเลือก หากไร้ซึ่งความล้มเหลว แสดงว่าคุณยังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไม่มากพอ>
.
และเช่นกัน ผลไม้สีเขียวมักสุกช้าฉันใด ทุกความสำเร็จมักมีจังหวะเวลาในตัวของมันเองฉันนั้น ยิ่งปัจจุบันด้วยแล้ว ทุกนวัตกรรมจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน แทบไม่ต้องไปเร่งรัดกระบวนการใดๆ
.
ตราบใดที่มนุษย์เรายังไม่หยุดที่จะจินตนาการ
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL