Skip to content

พระบ้านนอก

เช้าวันที่หนึ่ง
.
ทุกเช้าเมื่อตื่นขึ้นมา หล่อนมักจะมองออกไปนอกบ้าน ผ่านบานหน้าต่างกระจกของห้องนอนตัวเอง หล่อนเห็นเหล่าเสื้อผ้าของเพื่อนบ้านที่ตากอยู่บนราวตากผ้า สายลมพัด ผ้าพลิ้วไหวบนไม้แขวนเสื้อ ในฤดูหนาวเช่นนี้ การซุกตัวนอนต่อเป็นเรื่องที่น่าอภิรมย์ยิ่งนัก
.
หากแต่หล่อนยังคงเพ่งต่อไปยังราวตากผ้านั้น
.
“ไม่ไหวเลย ซักผ้าอะไรกัน เสื้อขาว แต่สกปรกเช่นนี้ เห็นแล้วน่ารำคาญ”
.
รอยเปื้อนบนผ้าที่หล่อนเห็น ทำให้หล่อนหงุดหงิด หล่อนบ่นพร้อมจุดไฟอารมณ์อันหงุดหงิดขึ้นมาให้กับเช้าวันใหม่ เป็นการเริ่มต้นทักทายตัวเองด้วยเสียงบ่นที่เคยชิน
.
“ช่างเขาเถอะ มันเรื่องของเขา” สามีลุกขึ้น ขยี้ตา แล้วมองผ่านหน้าต่างบานนั้นออกไป
….
เช้าวันที่สอง
.
“อีกแล้วพี่ ดูสิ ซักผ้ายังไงไม่สะอาด เห็นแล้วช่างขัดตานัก”
.
“ช่างเขาเถอะ มันเรื่องของเขา” คำเดิมๆ สามีขยี้ตา มองผ่านหน้าต่างบานนั้นออกไป แล้วถอนหายใจ
.
ลมหนาวนอกบ้านพัดแรง หอบผ้าบนราวไหวไปมา บางทีในใจหล่อนอาจจะร้อนพอที่จะกลบลมหนาวภายนอกนั้น
.
หาไม่คงร้อนที่ดวงตา ที่มองเสื้อผ้าของผู้อื่น หรือร้อนเพราะใจของหล่อนที่ไม่เคยหยุดการวิพากษ์ใคร
.
สามีมองไปอีกครั้งที่หน้าต่างบานเดิม พลางคิดถึงเรื่องราวของพระบ้านนอกผู้หนึ่งขึ้นมา
.
‘พระบ้านนอก’
.
….
.
ชายผู้มาจากบ้านนอก อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่เป็น แต่ใฝ่ในทางธรรม เดินทางมาจากแดนใต้ ณ มณฑลกวางตุ้ง เป็นชาวหลิงหนาน
.
เมื่อมาถึงวัดที่อยากจะบวชเรียน จึงขอพบกับเจ้าอาวาส
.
เจ้าอาวาสแห่งวัดตังซาน ท่านเป็นพระพูดน้อย กิริยาสงบ เมื่อพานพบชายบ้านนอกจึงเริ่มต้นด้วยคำถาม
.
“เจ้ามาจากแห่งหนใด และประสงค์สิ่งใด”
.
“ข้ามาจากหลิงหนาน อยากบวชเรียนที่วัดนี้ ประสงค์พบการรู้ตื่นเช่นพุทธะ”
.
เจ้าอาวาสสรวลยิ้ม “โห้ เจ้าคนแดนใต้ เปรียบได้ดั่งคนป่า ธรรมชาติของชาวหลิงหนานย่อมไม่มีพุทธะ เช่นนั้นเจ้าจะบรรลุธรรมได้อย่างไร”
.
“พุทธะย่อมไม่จำแนกเหนือใต้ กายข้าอาจต่างจากท่าน หากแต่จิตพุทธะไฉนเลยจะแตกต่าง”
.
เจ้าอาวาสยิ้ม พระอาวุโสรู้ว่าชายผู้นี้เข้าใจโลกอย่างยิ่ง คนป่าผู้นี้คือเพชร หากแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเจียระไน
.
“ถ้าเช่นนั้น เจ้าไปพักอยู่ที่โรงตำข้าวก่อน ทำงานที่นั่นสักพัก เรื่องบวชเรียนค่อยว่ากัน”
.
ผ่านไป 8 เดือน ชายบ้านนอกยังคงทำงานในโรงตำข้าว ผ่าฟืน เก็บฟืน ตำข้าว และผ่าฟืน
.
ถึงเวลาแล้ว ที่เจ้าอาวาสต้องหาผู้สืบทอดวัดองค์ต่อไป พระอาวุโสผู้พูดน้อยจึงตัดสินใจทดสอบคุณสมบัติของศิษย์ทั้งหมดในวัด ด้วยการให้พระทุกรูปแต่งโศลกขึ้นมาบทหนึ่งเพื่ออธิบายความเข้าใจในทางธรรม
.
แน่นอนว่าทุกสังคมย่อมมีเพชรที่เปล่งประกายอยู่ สังคมของพระก็เช่นกัน ในเวลานั้น ศิษย์ทุกรูปยกย่อง ‘เสินซิ่ว’ ศิษย์เอกผู้ปราดเปรื่อง และผู้ที่สามารถแต่งโศลกเพื่ออธิบายธรรมะได้ดีที่สุด ย่อมเป็นใครไปเสียมิได้
.
เสินซิ่ว ร่ายโศลกขึ้นมาว่า
.
“อันกายคือต้นโพธิ์ที่โตใหญ่
จิตและใจดังกระจกรอวันใส
หมั่นเช็ดถูอยู่ทุกเมื่อเชื่อยามไป
อย่าได้ให้ฝุ่นละอองจับจึงวับวาว”
.
เมื่ออาจารย์อ่านโศลกของศิษย์เอกจบ จึงสั่งให้ศิษย์ทุกรูปคัดลอกแล้วท่องจำ
.
หากแต่การยอมรับโศลกบทนี้ ยังมิใช่การตัดสินใจยกตำแหน่งเจ้าอาวาสให้ เพราะอาจารย์รู้ดีว่า โศลกบทนี้ยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของพุทธภาวะ หมายความว่า เพียงเข้าใจ..หากแต่ยังไม่เข้าถึง
.
(ภายหลังอาจารย์เรียกเสินซิ่วเข้าไปพบแล้วบอกว่า “เจ้าเดินมาถึงเพียงแค่ปากประตู หากแต่ยังไม่ก้าวขาเข้าไป”)
.
ชายบ้านนอกเห็นพระในวัดเพียรท่องโศลกบทใหม่ของเสินซิ่วกัน เมื่อฟังแล้ว จึงคิดอยากแต่งโศลกบ้าง หากแต่เขาไม่รู้หนังสือจึงเขียนไม่เป็น เขาจึงขอให้ผู้รู้หนังสือผู้หนึ่งช่วยเขียนให้ โศลกนั้นความว่า
.
“ไม่มีโพธิ์ไม่มีกายแต่ก่อนเก่า
กระจกเงาที่ว่ามีหามีไม่
แต่แรกเดิมล้วนไม่มีที่มองไป
ฝุ่นจะจับกับสิ่งใดเมื่อไม่มี”
.
เมื่อเจ้าอาวาสได้มาอ่านโศลกบทนี้จึงเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องเจียระไนเพชรเม็ดนี้แล้ว เพชรจากป่าแดนใต้จึงได้เปล่งประกายขึ้นมา
.
ภายหลังผู้ที่ได้รับการสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตังซาน ก็คือชายป่าผู้มาจากแดนใต้ ผู้มีนามว่า ‘ฮุ่ยเหนิง’ ผู้ที่เขียนโศลกบทหลังในระหว่างที่ยังฝึกงานวัดด้วยการตำข้าวอยู่ โดยที่ยังไม่ได้บวช และอ่านหนังสือไม่ออก
.
หากตีแตกโศลกทั้งสองบทนั้นจะเห็นได้ว่า โศลกของ ‘เสินซิ่ว’ เน้นการชำระจิตใจให้ขาวใส เปรียบใจเป็นกระจก การหมั่นเช็ดถูบ่อยๆทำให้กระจกใส ดังใจที่ไร้สิ่งใดปนเปื้อน ซึ่งเป็นหลักแท้ที่มิอาจปฏิเสธได้สำหรับการทำใจให้บริสุทธิ์ในแบบทั่วๆไป
.
เพียงแต่โศลกของ ‘ฮุ่ยเหนิง’ นั้น กลับมองทะลุไปเกินกว่าการทำใจให้ขาวใส เขาเข้าถึงจิตเดิมแท้ว่าแท้จริงนั้นว่างเปล่า เมื่อไม่มีใจแล้วเหตุใดต้องชำระใจ
.
การทำใจให้บริสุทธิ์กับเป็นการทำให้ใจนั้นแปดเปื้อนไปด้วยความบริสุทธิ์ แล้วไยต้องทำเช่นนั้นเล่า
.
เมื่อใฝ่หากลับยิ่งห่างไกล เมื่อละใจ..จะยิ่งเข้าใกล้สิ่งที่ค้นหา และนี่คือวิถีแห่งพุทธะที่เขาค้นพบ
.
….
.
เช้าวันที่สาม
.
ลมหนาวโชยมาอย่างแผ่วเบา ความสงัดยามเช้าราวกับจะสะกดสายลมอ่อนให้หยุดไหว
.
หล่อนลืมตาขึ้นมา แล้วรีบลุกขึ้น หันมองผ่านไปยังหน้าต่างบานเดิม
.
“แปลกจริง!” หล่อนอุทาน แล้วรีบปลุกสามีข้างกายให้ลุกขึ้น
.
“มีอะไรเหรอ”
.
“พี่ไปบอกเพื่อนบ้านเราเหรอ ว่าเขาซักผ้าไม่สะอาด ดูนั่นสิ เสื้อผ้าซักสะอาดทุกตัวเลยวันนี้”
.
“เปล่าหรอก พี่เพียงแต่เช็ดกระจกหน้าต่างของเราใหม่แค่นั้นเอง”
.
หล่อนนิ่ง และคิดย้อนไปสองสามวันที่ผ่านมา กระจกหน้าต่างของเราเองที่สกปรก หาใช่เสื้อผ้าของเพื่อนบ้านไม่
.
หล่อนรู้สึกอาย แต่บางครั้ง ความละอายแก่ใจถือเป็นก้าวแรกที่ดี มันปลุกให้หล่อนตื่น ตื่นขึ้นมาจากความเขลาที่เคยเป็น
.
….
.
ลมหนาวสงบแล้ว เหมือนกับหน้าต่างใจของหล่อนที่ได้ถูกชำระให้ใสสะอาด ใจนิ่งไม่ไหวติง
.
การมองผู้อื่นด้วยใจที่ขุ่นมัวอาจทำให้จิตเราถูกปรุงแต่งได้ง่าย และย่อมไม่ดีแน่หากจิตใจต้องมัวหมอง เพียงเพราะจ้องแต่จะตำหนิผู้อื่น
.
ยามนี้หน้าต่างถูกเช็ดใหม่ให้ไร้ฝุ่น เมื่อมองผ่านออกไปจึงได้รู้แจ้ง และเห็นของจริง
.
จากนั้นจึงพิจารณาทะลุของจริงเข้าไปแล้วพบว่า
.
“มันมิเคยมีหน้าต่างอยู่เลย” เช่นนั้น “ฝุ่นจะจับลงบนสิ่งใด”
.
….
.
เกร็ดความรู้
.
ฮุ่ยเหนิง หรือ เว่ยหลาง คือพระภิกษุสมัยราชวงศ์ถัง (ราว พ.ศ.1200) เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ต่อจากพระอาจารย์หงเริ่น (พระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 แห่งแผ่นดินจีน)
.
สำหรับพระสังฆปรินายกองค์ที่ 1 นั้นคือพระโพธิธรรมหรือที่คนจีนเรียกว่า “ปรมาจารย์ตั๊กม้อแห่งวัดเส้าหลิน” ซึ่งเดิมทีพระโพธิธรรมนั้นคือเจ้าชายแห่งแคว้นคันธารราษฏณ์ จากชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของอินเดีย และจาริกมายังแผ่นดินจีนเพื่อเผยแผ่ธรรม จึงถือได้ว่าเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 1 ของจีน
.
โศลก 2 บทนั้น แปลมาจากภาษาจีน ผู้เขียนแต่งใหม่ให้เป็นกลอนที่อ่านง่ายขึ้นและมีความคล้องจองกัน แต่ยังคงความหมายเดิมในทุกบาทของโศลกดั้งเดิม
อ้างอิง
.
-หนังสือสูตรของเว่ยหล่าง โดยพุทธทาสภิกขุ
.
-หนังสือ คิดง่ายๆอย่างนิทานธรรมะ ฉบับความสบายใจที่หายไป
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *