Skip to content

‘นักบินทดสอบ’ กับการทำ Autorotation ครั้งแรกของโลก

ช่วงปี ค.ศ.1934 – 1936 ถือเป็นช่วงไฮไลท์สำคัญนึงของประวัติศาสตร์การบินกับเฮลิคอปเตอร์ วงล้อที่หมุนมาจากจุดเริ่มต้น จากจินตนาการของมนุษย์ที่อยากบินได้เหมือนนก
.
ยุคนั้นคือยุคกำเนิดเฮลิคอปเตอร์ สิ่งประดิษฐ์ที่มวลมนุษย์ชาติคาดหวังจะเห็นมันมาเนิ่นนานมากกว่าพันปี
.
มอริส คลายส์ (Maurice Claisse) เป็นนักบินชาวฝรั่งเศส เขาคือหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประดิษฐ์เฮลิคอปเตอร์ และยังเป็นนักบินทดสอบอีกด้วย
.
ในยุคแรกเริ่ม การได้มาซึ่งองค์ความรู้ เทคนิคการบิน กระทั่งตกผลึกเป็นขั้นเป็นตอน (Procedures ต่างๆ) จวบจนถึงทุกวันนี้ ล้วนผ่านการลองผิดลองถูก การเสียเลือดเสียเนื้อของเหล่านักบินในอดีตมามากมายนับไม่ถ้วน
.
มอริซ คือหนึ่งในนักบินทดสอบที่มักไม่มีใครเอ่ยถึง ทว่าเขาคือปรจารย์นักบิน ฮ. คนแรกที่ทำ Autorotation เป็นผลสำเร็จ
.
ปี ค.ศ.1936 คือปีที่เขาได้ทำการบินทดสอบเฮลิคอปเตอร์ที่ทีมงานช่วยกันสร้างขึ้น ขณะบิน เกิดเหตุเครื่องยนต์ดับและเขาสามารถนำเครื่องร่อนลงจอดได้ด้วยความปลอดภัย
.
แม้ว่าบันทึกไม่ได้ระบุไว้ว่าเครื่องยนต์ดับโดยเจตนาทดสอบการบังคับเครื่องหรือเครื่องยนต์ดับจริงๆ แต่นั่นคือประวัติศาสตร์การทำ ‘Autorotation’ ครั้งแรกของการบินกับเฮลิคอปเตอร์ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เขาจงใจดับเครื่องยนต์เพราะต้องการทดสอบขั้นตอนการนำเครื่องร่อนลงจอดแบบไร้ขุมพลังใดๆ นอกจากรอบใบพัดที่ยังคงหมุนวนอยู่
.
หลักการของออโตโรเตชั่นก็คือการนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงจอดโดยปราศจากกำลังขับจากเครื่องยนต์
.
หมายความว่าแม้เครื่องยนต์ที่ถ่ายทอดกำลังไปหมุนใบพัดหลักดับลง นักบินก็สามารถคอนโทรลใบพัดนั้นให้อยู่ในรอบการหมุนที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะร่อนลงต่อไปจนถึงพื้นได้
.
ถามว่าแล้วขณะร่อนดิ่งลงมานั้น นักบินจะควบคุมระยะทางในการร่อนได้ขนาดไหน จะไปได้ใกล้หรือไกล จะพาเครื่องไปถึงพื้นที่ปลอดภัยที่เล็งไว้หรือไม่
.
ปัจจัยที่ส่งผลต่อระยะร่อนว่าจะไปได้ไกลหรือใกล้มีมากมายหลายอย่าง เช่น น้ำหนักเครื่อง ความสูง ความเร็ว รอบใบพัด ลม หรือแม้แต่เทคนิคการทำ Autorotation ของนักบินเอง
.
ทั้งหมดล้วนผ่านการขบคิดทั้งตามหลักทฤษฎีกระทั่งการลองผิดลองถูกของบรรดาบรรพบุรุษนักบินในอดีตมาแล้วทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ความเร็วขณะทำ Autorotation (ความเร็วช้า อัตราร่อนจะสูง เครื่องจะไปได้ใกล้ แต่ถ้าความเร็วสูง อัตราร่อนจะต่ำ เครื่องจะไปได้ไกลขึ้น)
.
ภายหลังที่ มอริซ บินทดสอบเฮลิคอปเตอร์และทำท่า Autorotation เป็นผลสำเร็จ ต่อมา เฮนริช ฟอคเคอ (Henrich Focke) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันก็ได้ประดิษฐ์เฮลิคอปเตอร์ชื่อ Focke Wulf Fw 61 พร้อมทดสอบทำ Autorotation เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ.1937
.
ตามต่อด้วย อิกอร์ ซิกอร์สกี (Igor Sikorsky) วิศวกรชาวรัสเซียก็ได้ประดิษฐ์เฮลิอปเตอร์รุ่น VS-300 สำเร็จในปี ค.ศ.1939 และประสบความสำเร็จในการบินทดสอบการทำ Autorotation เช่นกัน
.
เฮลิคอปเตอร์ที่ มอริซ บินนั้น เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบ Coaxial (มีใบพัดสองชุดอยู่ด้านบนของ ฮ. และไม่มีใบพัดหาง) ผลิตโดยทีมนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส
ส่วนเฮลิคอปเตอร์ที่ อิกอร์ ซิกอร์สกี ประดิษฐ์ เป็นเฮลิคอเตอร์แบบ Single Rotor (มีใบพัดหลักอยู่ด้านบนหนึ่งชุดและมีใบพัดที่หาง – เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบที่พบเห็นบ่อยและถูกนำมาพัฒนาออกแบบใช้มากที่สุดในปัจจุบัน)
.
พัฒนาการของขั้นตอนการทำ Autorotation ทอดยาวมาจนถึงวันนี้ ขั้นตอนในการทำมักไม่หนีไปจากการคอนโทรลรอบใบพัด ความเร็ว และร่อนไปยังที่หมาย ปิดท้ายด้วยการ Flare (หัวเชิดเพื่อลดอัตราเร็ว) และจบลงด้วยการยก Collective รับเสมอ (เอาพลังงานที่สะสมไว้ทั้งหมดมาใช้จังหวะสุดท้าย ถ้าไม่ยกรับ รับรองว่าจบไม่สวย)
.
ไม่ว่าจะเฮลิคอปเตอร์แบบไหนก็ล้วนแล้วแต่มี Procedures ที่ถูกตกผลึกมาแล้วทั้งสิ้น ว่าหากบินอยู่แล้วเครื่องยนต์ดับหมด นักบิน ฮ.ก็จะทำท่า Autorotation เสมอ พวกเราถูกฝึกกันมาแบบนั้น และเราฝึกทบทวนกันเป็นประจำสม่ำเสมอ
.
มอริซ คร่ำหวอดในการบินทั้งภาคพลเรือนและทหาร เขาเข้าร่วมสงคราม บินสนับสนุนหลากหลายภารกิจเพื่อชาติ ต่อมาเมื่อสงครามสงบ เขายังคงอยู่ในแวดวงการบินด้วยการทำสิ่งที่เขารัก นั่นก็คือการบินทดสอบอากาศยานแบบต่างๆมากกว่า 70 ชนิด เพื่อตกผลึกขั้นตอนปฏิบัติที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด หรือที่เราเหล่านักบินต้องใช้มันอยู่ทุกวัน กับสิ่งที่เราเรียกมันว่า ‘Procedures’
.
นักบินรุ่นหลังๆได้รับอานิสงส์จากการทดลองค้นคว้าของนักบินในอดีต ที่ต่อยอดพัฒนาขั้นตอนต่างๆมามากมาย รวมถึงด้านเทคนิคการบินด้วย
.
นักบินรุ่นใหม่มีหน้าที่เคี้ยวสิ่งที่นักบินโบราณย่อยมาให้
.
เมื่อเวลาผ่าน นักบินรุ่นใหม่ก็จะกลายเป็นนักบินรุ่นเก่า อยู่ที่ว่าเราจะย่อยองค์ความรู้มากน้อยแค่ไหนเพื่อส่งต่อให้คลื่นลูกใหม่นำไปปรับใช้ต่อไป
.
Autorotation คือหนึ่งในท่าทางบังคับ เป็นการฝึกสำคัญที่ถูกถ่ายทอดกันมา ยังมีอีกหลายท่าทางที่นักบิน ฮ.ต้องได้รับการฝึก
.
จากปีกสู่ปีก จากรุ่นสู่รุ่น
.
ตราบเท่าที่ท้องฟ้ายังโอบอุ้มทุกปีกที่มนุษย์สรรสร้างขึ้นมา พัฒนาการก็ไม่มีวันจบสิ้น วงล้อวงนั้นก็ยังคงหมุนขับเคลื่อนและเดินหน้ามันต่อไป
ดังคำกล่าวนึงที่ว่าไว้
.
“In the world of aviation, every test is a step forward, every risk a learning moment, and every success a blueprint for the future”
.
<ในโลกของการบิน ทุกบททดสอบคือการก้าวไปข้างหน้า ทุกความเสี่ยงคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ และทุกความสำเร็จเปรียบดั่งภาพพิมพ์เขียวแห่งอนาคต>
….
สาระเพิ่มเติม
.
นักบินทดสอบ เราเรียกว่า ‘Test Pilot’ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบินทดสอบอากาศยาน ตำแหน่งนี้มีบทบาทสำคัญมาก เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของอากาศยานที่จะปล่อยให้นำไปใช้บิน จึงจำเป็นต้องใช้นักบินทดสอบทำการบินกับอากาศยานประเภทนั้นๆก่อน
อากาศยานที่จะให้นักบินทดสอบบินอาจได้แก่ อากาศยานที่เพิ่งสร้างเสร็จออกมาจากโรงงาน หรือ อากาศยานที่เพิ่งผ่านการซ่อมบำรุงเสร็จตามวงรอบของการซ่อมบำรุงตามแต่ขั้นตอนที่ระบุไว้ของอากาศยานประเภทนั้นๆ
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *