(5 Hazardous attitudes in aviation)
.
ตำราการบินได้กล่าวถึงอันตรายของเจตคติ 5 อย่าง ได้แก่ 1) Anti – Authority 2) Impulsivity 3) Invulnerability 4) Macho 5) Resignation
อธิบายได้ดังนี้
.
1. Anti – Authority
พวกชอบฝ่าฝืนกฎ ไม่ใส่ใจในกติกา นักบินกลุ่มนี้มักชอบพูดว่า “Don’t tell me !” ยกตัวอย่างเช่น บินเกินความเร็วที่กำหนดไว้ บินด้วยท่าทางที่อยู่นอกเหนือตำรา พวกชอบทดลองอะไรแปลกๆ
.
2. Impulsivity
มุทะลุ วู่วาม ใจร้อน นักบินกลุ่มนี้ชอบพูดคำว่า “Do it quickly” ยิ่งช่วงหน้าร้อน นักบินหัวเสียจากการบินที่ไม่เป็นไปดั่งใจ มีการจราจรหนาแน่น กลัวเที่ยวบินช้ากว่าแผน ทำขั้นตอนรวบรัด หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วแก้ไขขั้นตอนเร็วเกิน จนอาจพลาดข้ามขั้นตอนสำคัญบางอย่างไป
.
3. Invulnerability
กลุ่มนี้ชอบคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก .. มันไม่เกิดกับผมแน่นอน พวกนี้ชอบพูดว่า “It won’t happen to me” เป็นอุปนิสัยของความประมาท มักเกิดกับผู้ที่มีประสบการณ์สูง มากซะจนคิดว่าตัวเองผ่านอะไรมาเยอะแล้ว จึงคิดว่า ข้อขัดข้องต่างๆไม่มีทางเกิดขึ้นกับตัวเองแน่นอน
.
4. Macho
ชอบโชว์ ชอบทำให้คนยอมรับ คิดว่าตัวข้านี้เจ๋ง กลุ่มนี้มักได้แก่ นักบินที่เข้าสู่ห้วง ‘Hot Pilot’ ช่วงที่คอนโทรลเครื่องได้อยู่ไม้อยู่มือ อยากให้เครื่องมีท่าทางแบบไหน มันก็ได้ดั่งใจไปหมด จนกระทั่งอยู่ในสภาวะของความมั่นใจมากเกินไป อยากโชว์ อยากแสดงให้คนอื่นประทับใจ กลุ่มนี้ชอบพูดคำว่า “I can do it”
.
5. Resignation
ยอมอะไรง่ายไป ไม่กล้าตักเตือนใคร พวกที่คิดว่าต้องยอมรับชะตากรรม หากเกิดเหตุอะไรก็มักจะคิดว่า มันเป็นไปแบบนี้เอง แก้อะไรไม่ได้แล้ว อะไรที่เกิด ถ้ามันดี ก็คิดว่าโชคดี ถ้ามันแย่ ก็คิดว่า โชคร้าย หรือแม้มีภารกิจใดที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรบิน เห็นความเสี่ยงสารพัดอยู่ตรงหน้า แต่ถูกสั่งให้บิน ก็ฝืนบิน กลุ่มนี้มักพูดว่า “What’s the use? มักเกิดกับคนที่ไม่ค่อยมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่มั่นใจ ชอบถอดใจ ไม่กล้ารับผิดชอบ
.
คราวนี้มาหาคู่ปรับของเจตคติทั้ง 5 เหล่านั้น ว่าอะไรพอจะนำมาใช้ปรับแก้นิสัยที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้บ้าง คู่ปรับมี 5 อย่างเช่นกัน
สรุปย่อให้จำง่ายได้โดยใช้คำว่า C.A.R.E.S
.
1. Comply : ปฏิบัติตามกฎ เริ่มต้นจากความเชื่อก่อนว่า กติกาต่างๆล้วนผ่านการตกผลึกมาดีแล้ว มันคือกรอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ .. ธรรมะคู่ปรับที่มีไว้ข่มนิสัยคนชอบแหกกฎคือ ‘ศรัทธา’ หลักการคือขอให้เชื่อกฎกติกา เช็กลิส และขั้นตอนต่างๆไว้ก่อน เริ่มต้นที่ทำศรัทธาให้เกิดก่อน
.
2. Analyze : หัดคิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ จะได้ไม่ผลีผลาม ด่วนทำอะไรไปก่อน .. ธรรมะคู่ปรับได้แก่ ‘สติพละ’ คือความระลึกได้ รู้ตัวว่าทำอะไร เมื่อฝึกสติบ่อยๆ จะดักทันต่ออารมณ์ร้อนได้เร็วขึ้น
.
3. Recognize : ยอมรับตามความเป็นจริง คิดเสมอว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าประสบการณ์จะแน่ขนาดไหนก็ไม่เกี่ยว มีประโยคที่ไว้ใช้เตือนใจได้คือ “Always expect the unexpected” กลุ่มนี้แนะนำให้ศึกษาเรื่องไตรลักษณ์ให้ลึกซึ้ง แล้วจะเข้าใจว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้ จงอย่าประมาท”
.
4. Exercise Humility : ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มาก ห้วงยามที่เป็น Hot Pilot จำเป็นต้องหมั่นดูตัวตน สังเกตอารมณ์ตัวเองเสมอ ฝึกขี้กลัวให้มากขึ้น ใช้ธรรมะข้อที่ 23 ของมงคล 38 ประการ ข้อที่ชื่อว่า ‘มีความถ่อมตน’ หรือ ‘นิวาโต’ <เอาลมในตัวออก ไม่พองลม> ฝึกบ่อยๆจนเป็นนิสัยก็จะยิ่งดี
.
5. Self-assured : มั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าทำในขั้นตอนที่ถูก กล้าตัดสินใจทำหรือไม่ทำ สำหรับการบินมันคือนิสัยแบบ Assertiveness เป็นเรื่องของภาวะผู้นำและการตัดสินใจ ธรรมะที่เอาไว้ข่มนิสัยแบบ Resignation (ขี้ยอม / ถอดใจ / ไม่กล้า) ต้องใช้ ‘เวสารัชชกรณธรรม’ มี 5 อย่างที่ต้องฝึก โดยสรุปคือต้องขยันและรู้จริงก่อน จึงจะมีปัญญาและกล้าที่จะทำ กล้าทักท้วง กล้าตัดสินใจ และกล้ารับผิดชอบ เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับการเป็นนักบิน
.
โดยสรุป เจตคติที่เป็นอันตรายสำหรับการบิน ต้องหลีกเลี่ยง หมั่นสำรวจตัวเองในทุกช่วงเวลา เพราะการเติบโตบนเส้นทางบินในแต่ละช่วงวัยนั้น ทุกคนย่อมเคยตกอยู่ในบ่วงของนิสัยอันตรายทั้ง 5 นั้นอย่างแน่นอน จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับจริตของคนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
.
ข่ม Attitudes ที่อันตรายไว้ได้ ก็เหมือนการดักจับภัยคุกคามหนึ่ง ยิ่งเติบโต ยิ่งดักได้เร็วขึ้น เมื่อไรขึ้นบินย่อมสบายใจได้ว่า เที่ยวบินนั้นปลอดจาก ‘เจตคติ’ ที่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน
….
สาระเพิ่มเติม
.
ธรรมะสำหรับนักบินที่ควรมี (เสริมสร้าง Assertiveness) คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ ๕ ประการ ประกอบไปด้วย
.
1) ศรัทธา – เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ / เชื่อมโยงกับการบินได้คือ เชื่อ SOP / Checklist / Procedure
2) ศีล – ประพฤติดีงาม / เชื่อมโยงกับการบินได้คือการปฏิบัติตามขั้นตอน ปฏิบัติตามเช็กลิสต่างๆ
3) พาหุสัจจะ – ศึกษาให้มาก / เชื่อมโยงกับการบินได้คือการหมั่นศึกษา ทบทวนความรู้การบินอย่างสม่ำเสมอ
4) วิริยารัมภะ – เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง / เชื่อมโยงกับการบินได้คือเรื่องของวินัย นักบินกับวินัยเป็นของคู่กัน
5) ปัญญา – รู้รอบในสิ่งที่ควรรู้ / เชื่อมโยงกับการบินได้คือ เป็นนักบินต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำอยู่ ทุกการแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญ จะต้องทำด้วยพื้นฐานของการรู้จริง
….
เจคตคิ = Attitude (คนทั่วไปมักแปลว่า ทัศนคติ) เมื่อแปลตามความหมายดั้งเดิมแล้ว Attitude หมายถึง ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงสอดคล้องกับคำว่า ‘เจตคติ’ มากกว่า แต่ถ้าใช้คำว่า ‘เจตคติ’ แล้วไม่ชินหู ก็แนะนำให้เรียกแบบทับศัพท์ไปเลยดีกว่า คือ เรียกว่า Attitude ได้เลย
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL