การบรีฟก่อนขึ้นบินผมมักปิดจบด้วยคำว่า ‘IMSAFE’ เสมอ
.
เป็นการรีวิวตัวเองและศิษย์การบินที่บินด้วยกันว่าวันนี้เราพร้อมบินไหม
.
มันคือการสำรวจตัวเองว่า ก่อนจะพาเที่ยวบินในวันนั้นขึ้นฟ้า เราประเมินตัวเองว่า ‘Fit to Fly’ แล้วหรือยัง
.
อักษรย่อ 6 ตัวนี้กินความหมาย 7 อย่างได้แก่ ความเจ็บป่วย (Illness) การใช้ยา (Medication) ความเครียด (Stress) แอลกอฮอล์ (Alcohol) ความเหนื่อยล้า (Fatigue) การทานอาหาร (Eating) และเรื่องของอารมณ์ (Emotion)
.
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวิชาปัจจัยมนุษย์ (Human Factors) เพราะว่ามนุษย์ย่อมผิดพลาด เช็กลิสการตรวจสอบป้องปรามความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการบินเมื่อล้อพ้นพื้นคือ เครื่องจะต้องบินกลับลงมาด้วยความปลอดภัย
.
การบริหารจัดการสิ่งต่างๆบนฟ้าล้วนอยู่ในการคอนโทรลของนักบิน ชีวิตผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังล้วนฝากจุดหมายปลายทางไว้กับสองที่นั่งด้านหน้าสุดของเครื่อง
.
ในบรรดาปัจจัยต่างๆของ I.M.S.A.F.E นั้น สิ่งที่จับต้องยากและถูกประเมินออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมยากที่สุดคือเรื่องของ ‘ความเครียด’ และ ‘อารมณ์’
‘ความเครียด’ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่มีนักบินคนไหนในโลกที่จะขึ้นบินแล้วไม่เครียด การทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีความเครียดบ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลย (ความเครียดมี 2 แบบคือ Distress หรือความเครียดเชิงลบ และ Eustress หรือความเครียดเชิงบวก)
.
สังเกตได้ว่าแค่ ‘ความเครียด’ ตัวเดียว ส่งผลไปยังคำอื่นๆใน IMSAFE ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เครียดแล้วป่วย ป่วยแล้วต้องกินยา หรือบางคนเครียดแล้วต้องไปดื่ม เครียดแล้วนอนไม่หลับ เครียดแล้วกินอะไรไม่ลง หรือเครียดแล้วอารมณ์ไม่ดี
.
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความเครียดเชิงลบมีโอกาสคุกคามเราโดยไม่รู้ตัว ห้วงยามที่คิดว่าชีวิตอยู่ในยามวิกฤต เนื่องจากมนุษย์มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อความเครียด เช่น คู่ครอง ครอบครัว การเงิน การงาน และอื่นๆอีกมากมาย
.
มีแบบวัดค่าวิกฤตของชีวิตที่เกิดจากการวิจัยของกลุ่มคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปี ค.ศ.1967 แบบวัดของโฮล์ม-ราห์ (Thomas Holmes and Richard Rahe)
.
งานวิจัยตกผลึกปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดในชีวิตคนเราออกมาได้ทั้งหมด 43 เหตุการณ์
.
ทุกเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพราะงานวิจัยชี้ชัดว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในชีวิต มนุษย์เราย่อมเกิดความเครียด แต่ละเหตุการณ์จะมีคะแนนกำกับไว้ วิธีใช้คือให้ดูทีละรายการว่าในห้วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราประสบพบเจอเหตุการณ์อะไรมาบ้าง แล้วรวมคะแนนทั้งหมดออกมา
.
หากได้คะแนนสูงเกิน 300 ถือว่ามีความเครียดสูงมาก มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง หากคะแนนอยู่ระหว่าง 150 – 299 คะแนน มีโอกาสล้มป่วยสูง ถือว่ามีความเครียดในระดับกลาง ช่วงคะแนนที่มีความเครียดน้อยและอยู่ในระดับที่ปลอดภัยคือคะแนนที่ต่ำกว่า 150 คะแนนลงไป
ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางเหตุการณ์จากแบบวัดของโฮล์ม-ราห์ พร้อมคะแนนให้ประเมินตนเอง หากเหตุการณ์ไหนไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตในห้วง 1 ปีที่ผ่านมาก็ให้ข้ามไปได้เลย
.
– Death of a spouse : การเสียชีวิตของคู่สมรส (100 คะแนน)
– Divorce : การหย่าร้าง (73 คะแนน)
– Marital separation : การแยกกันของคู่สมรส) (65 คะแนน)
– Personal injury or illness : การบาดเจ็บหรือป่วย (53 คะแนน)
– Dismissal from work : ถูกให้ออกจากงาน (47 คะแนน)
– Change in financial state : การเงินเปลี่ยนแปลง (38 คะแนน)
– Change to different line of work : การเปลี่ยนงาน (36 คะแนน)
– Trouble with boss : มีปัญหากับหัวหน้า (23 คะแนน)
– Change in working hours or conditions : มีการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงานหรือเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมา (20 คะแนน)
– Change in residence : มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (20 คะแนน)
.
(แบบประเมินทั้งหมดมี 43 เหตุการณ์ สำหรับรายการอื่นๆที่เหลือดูได้ที่รูปประกอบบทความ)
.
ถามว่าถ้ารวมแล้วได้คะแนนมากกว่า 300 คะแนน ต้องทำยังไง แล้วถ้าได้คะแนนระหว่าง 150 – 299 ควรจะต้องทำอย่างไร
.
ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า อารมณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะบางคนแม้ได้คะแนนเยอะ แต่ก็สามารถบริหารจัดการความเครียดได้ดีมาก ในขณะที่บางคนมีคะแนนไม่มาก แต่กลับรู้สึกแย่สุดๆ
.
คะแนนจากแบบประเมินช่วยเป็นแนวทางให้พิจารณาความเสี่ยงสำหรับการบินได้ในระดับหนึ่ง
.
หากรู้ตัวว่ามีความเครียดในระดับใด สิ่งที่ควรทำก็คือควร ‘เปิดใจ’ บอกนักบินที่จะบินด้วยกันอย่างตรงไปตรงมา แจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง หากไม่ไหว ก็อย่าฝืน เพราะความเครียดของแต่ละคนไม่เท่ากัน ปัจจัยในชีวิตคนล้วนต่างกัน
.
ยกตัวอย่างเช่น ศิษย์การบินอกหัก หน้าตาโทรมเศร้า มองปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าไม่พร้อมบิน จิตใจเหม่อลอย หากเป็นแบบนี้ยิ่งต้องช่วยให้กำลังใจ หลักจิตวิทยาเชิงบวกจึงสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะเป็นครูการบิน
.
ครูการบินนอกจากจะเป็นครูสอนบินแล้ว ยังต้องเป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง และเป็นผู้ให้คำแนะนำเชิงจิตวิทยาได้
.
การจัดการความเครียดมีหลายวิธี อาจสรุปวิธีที่สำคัญได้คือ
.
1) Professional Support (หาคนให้คำปรึกษา)
2) Stress Management Techniques (เทคนิคบริหารจัดการความเครียดแบบต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย หรือการเล่นดนตรี)
3) Time Management and Organization (จัดการตารางเวลา แบ่งความสำคัญของงานต่างๆให้เป็น)
4) Work Life Balance (จัดการสมดุลของชีวิต แยกให้ชัดระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัว
5) Health and Well-being (โฟกัสที่สุขภาพร่างกายให้มาก เรื่องนี้สำคัญที่สุด)
.
โดยสรุป ความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์ และมันส่งผลไปยังปัจจัยอื่นๆไม่รู้จบ คำว่า ‘Fit to Fly’ จึงเริ่มต้นที่ IMSAFE เสมอ มันคือเช็กลิสที่ไม่ควรมองข้าม หมั่นสำรวจตัวเองอยู่บ่อยๆ เปิดใจทุกครั้งก่อนกางปีก
.
มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ แบบประเมินนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องคู่ครองเป็นอันดับที่ 1 และโดยเฉพาะ 3 อันดับแรกเป็นเรื่องของคู่สมรสล้วนๆ นั่นหมายความว่าวิกฤตในชีวิตจะผ่านพ้นไปได้หากได้กำลังใจจากคู่ชีวิต ความรักคือสิ่งหล่อเลี้ยงปีกทุกปีกบนท้องฟ้า
.
ฉะนั้นในวิชาชีพนักบิน คู่ชีวิตจึงสำคัญที่สุด ใครคิดจะเป็นแฟนนักบินก็ควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง
.
<เป็นแฟนนักบินไม่ลำบากหรอก ขอแค่เข้าใจกันก็พอ>
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL