Skip to content

วิชา KSA เปรียบได้กับ ‘สัทธรรมของนักบิน’

  • by
เป็นวิชาที่นักบินยุคใหม่ทุกคนต้องได้เรียน รวมทั้งนักบินที่จบออกมาทำงานแล้วก็ต้องหมั่นทบทวนและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
.
K มาจากคำว่า Knowledge แปลว่า ‘ความรู้’
S มาจากคำว่า Skill แปลว่า ‘ทักษะ’
A มาจากคำว่า Attitude แปลว่า ‘เจตคติ’
.
ทำไมใช้ 3 หัวใจหลักนี้กับวิชาชีพนักบิน ทำไมต้องเรียงจาก K ไป S ตบท้ายด้วย A ทำไมเน้นเรื่องนี้กับนักบินแอร์ไลน์มากเป็นพิเศษ
.
อันที่จริงวิชานี้ล้วนจำเป็นกับทั้งนักบินแอร์ไลน์ นักบินทหารตำรวจ รวมถึงนักบินหน่วยงานอื่นๆ .. มันจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบินกับเครื่องที่มีความสลับซับซ้อน มีการปฏิบัติการในทุกภารกิจที่ต้องใช้การทำงานเป็นทีม
.
อย่าพูดว่ามันเหมาะกับนักบินอย่างเดียวเลยแม้แต่ในทุกสาขาวิชาชีพก็ใช้ KSA กันมาตลอด เพียงแต่บริบทของเนื้อหาสาระในแต่ละวิชาชีพนั้นแตกต่างกันไป
‘ความรู้’ เป็นบันไดขั้นแรกที่ทุกคนต้องผ่าน
.
‘ทักษะ’ เป็นสิ่งที่จะได้จากการเรียนรู้แล้วฝึกฝนจน ‘ชำนาญ’ เก็บเกี่ยวประสบการณ์กระทั่งเกิดเป็น ‘ความเชี่ยวชาญ’
.
ขณะที่คำว่า ‘เจตคติ’ เป็นเรื่องของ Mindset เป็นความรู้สึกของคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องผูกเกี่ยวร้อยกันไปกับทั้ง ‘ความรู้’ และ ‘ทักษะ’ เมื่อตกผลึกแล้วมันคือ “การรู้แจ้งแทงตลอดในสายงานนั้นๆนั่นเอง”
.
รู้แจ้งจึงบังเกิดปัญญา .. วิชาชีพบนฟ้าจำเป็นต้องมี ‘เจตคติ’ ที่ถูก มันคือเรื่องของ Right mindset มันคือเรื่องของ ‘ปัญญา’ ในทางที่ถูก
.
หากจะเรียน KSA จำเป็นต้องเน้น ‘ภาคปฏิบัติ’ มากกว่านั่งฟังบรรยายในห้องเพียงอย่างเดียว คล้ายๆการไปปฏิบัติกรรมฐาน อย่างเช่นนักปฏิบัติธรรมที่หมั่นฝึกควบคุมตัวตน ขัดเกลา Mindset อยู่เนืองนิจ
.
เพราะ KSA คือสะพานเชื่อมภาคทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ มุ่งเน้นสมรรถนะที่นักบินพึงมีทั้งหมด 9 อย่าง เราเรียกความสามารถทั้งหมดนั้นว่า ‘Core Competencies’ ทั้งหมดนี้ถูกกำกับด้วยคำว่า ‘Attitude’ ทั้งสิ้น (มีรายละเอียดอยู่ท้ายบทความ)
.
การเรียนรู้และฝึกฝนในทุกบทเรียนของนักบิน จะต้องมี ‘เจตคติ’ กำกับอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ครูผู้สอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคอากาศจะต้องแกะให้ออกว่า ศิษย์การบิน มี ‘Attitude’ กับเรื่องนั้น เรื่องนี้อย่างไร ต้องประเมินให้ได้ว่าเขาเข้าใจในสิ่งนั้นถูกต้องในระดับ ‘เจตคติ’ หรือไม่ เพราะมันคือฐานรากที่สำคัญที่สุด
การบินยุคใหม่ เราจะไม่ปล่อยให้ศิษย์จำภาพผิดๆเช่นว่า เมื่อเป็นกัปตันแล้ว ข้า..คือกัปตันที่ต้องถูกที่สุด ใครห้ามเถียง หรือ ข้า..เป็นครู ต้องถูกที่สุด หรือประโยคต่างๆบนฟ้าเช่น
.
“แค่นี้ไม่เป็นไรหรอก”
.
“พี่ทำแบบนี้มามากกว่าร้อยครั้งแล้ว”
.
“แค่นี้ทำไม่ได้เหรอ”
.
“เอ็งต้องเชื่อพี่”
.
หรือในทุกถ้อยคำสบถบนฟ้าที่เหล่านกยุค 90 เคยผ่านหู .. การเรียนรู้แบบเก่าไม่อาจใช้ได้กับ ‘นก’ ยุคใหม่อีกต่อไป
.
วัตถุประสงค์หลักของ KSA นั้นคือ การบ่มเพาะ ‘Soft skill’ และ ‘Right mindset’ นั่นเอง
.
ทำไมเชื่อมโยงกับ ‘สัทธรรม’ ที่อิงกันไม่ขาด และมันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ ‘นักบินอาชีพ’
.
ศาสนาพุทธสอน ‘สามสัทธรรม’ ที่หลายคนอาจคุ้นหูมาบ้างได้แก่ ‘ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ’
.
ปริยัติ (ปริ = รอบ, ยตฺติ = เล่าเรียน)
ปฏิบัติ = (ปฏิ = เฉพาะ, ปตฺติ = การถึง)
ปฏิเวธ = (ปฏิ = ตลอด, วิธ = การแทง)
.
สังเกตได้ว่ามันก็คือ KSA นั่นเอง
.
สัทธรรมปิดจบที่คำว่า ‘ปฏิเวธ’ เมื่อผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนจนมีทักษะที่ผ่านเกณฑ์ในแต่ละระดับ การหยั่งรู้ด้วยปัญญาจึงเกิด เมื่อบ่มเพาะเจตคติได้ มันจะย้อนกลับไปกำกับ ‘ความรู้’ และ ‘ทักษะ’ อีกครั้ง และมันวน loop ไปเรื่อยๆ เพราะความรู้และทักษะสำหรับนักบินนั้นจำเป็นต้องฝึกฝนอยู่ตลอด เหมือนการขัดเกลา Mindset ของนักปฏิบัติธรรม ฝึกฝนจนแตกฉาน
.
<ปฏิเวธ คือ การแทงตลอด หยั่งรู้ด้วยปัญญา เป็นความรู้สึกของใครของมันที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง>
.
การบินกันแบบ Multi Crew (ใช้นักบินมากกว่า 1 คนขึ้นไปทำการบิน) จำเป็นต้องมี Soft Skill และ Right Mindset ให้มาก มันคือเทคนิคที่จับต้องไม่ได้ มันคือ Non technical skill
.
กัปตันไม่ใช่ว่าจะถูกทุกอย่าง ผู้ช่วยนักบินก็ไม่ใช่ว่าจะนั่งนิ่งไม่กล้าทักท้วงอะไรบนฟ้าเมื่อเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
.
ครูการบินมิใช่ผู้รู้ทุกอย่างที่ศิษย์จะมิกล้าทักท้วง ไม่กล้าถาม
.
ผู้ตรวจสอบการบิน เช็กเกอร์ หรือจะตำแหน่งอื่นใดก็เช่นกัน ใช่ว่าจะรู้..จะถูกทุกเรื่องเสมอ
.
ในบางครั้งผู้ช่วยนักบินก็ช่วยตักเตือนกัปตันขณะบินให้รอดพ้นสถานการณ์เลวร้ายมาหลายครั้งแล้ว
.
ศิษย์ช่วยเตือนครู หรือถามบางสิ่งที่ไปกระตุ้นให้ครูตระหนัก .. บางครั้ง ‘ศิษย์’ ก็เป็น ‘ครู’ ให้กับ ‘ครู’ ด้วยเช่นกัน ..
.
ครูถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์ .. ศิษย์สะท้อนตัวตนของครู
.
ในโลกนี้ไม่มีใครรอบรู้ทุกเรื่อง
.
KSA คือสิ่งที่นักบินทุกคนต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตัดอัตตาได้ อุเบกขาจึงเกิด เมื่อนั้นก็เข้าใกล้ Right Mindset เข้าไปทุกที
.
….
.
สาระเพิ่มเติม
.
ในทางสากล นักบินพึงมีสมรรถนะทั้งหมด 9 อย่างได้แก่
.
1.มีความรู้ (Knowledge)
2.การปฏิบัติตามขั้นตอน (Application of procedures)
3.การบังคับเครื่องด้วยมือ (Flight path management – Manual control)
4.การบังคับเครื่องด้วยระบบอัตโนมัติ (Flight path management – Automation)
5.การสื่อสาร (Communication)
6.ภาวะผู้นำ-ทำงานเป็นทีม(Leadership ans teamwork)
7.การตัดสินใจ-แก้ไขปัญหา (Problem Solving and decision Making),
8.การตระหนักรู้ในสถานการณ์ (Situational awareness)
9.การบริหารจัดการภาระงาน (Workload management)
.
สังเกตได้ว่าสมรรถนะทั้งหมดนี้ มีทักษะที่จับต้องได้น้อยกว่าทักษะที่จับต้องไม่ได้ หรือมี Non Technical skill มากกว่า Technical skill
.
Technical skill ได้แก่ ความรู้ , การปฏิบัติตามขั้นตอน (Procedure) , การบังคับเครื่องด้วยมือ และการบังคับเครื่องด้วยระบบอัตโนมัติ
.
Non Technical skill ได้แก่ การสื่อสาร , ภาวะผู้นำ+การทำงานเป็นทีม , การตัดสินใจ+แก้ไขปัญหา , การตระหนักรู้ในสถานการณ์ และ การบริหารจัดการภาระงาน
.
เช่นนี้ Soft Skill และ Right Mindset จึงสำคัญนักสำหรับนักบิน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *