โดยทั่วไปเวลาเห็นเครื่องบินร่อนลงจอดสนามบิน หากจินตนาการลากเส้นจากสนามบินขึ้นไปที่ตัวเครื่องบิน มุมที่ลากขึ้นไปจะอยู่ประมาณ 3 องศาจากพื้น นั่นคือมุมร่อนปกติที่เครื่องบินใช้กัน .. แต่มันไม่ใช่สำหรับเฮลิคอปเตอร์
.
ถามว่าคอปเตอร์ร่อนลงด้วยมุม 3 องศาเหมือนเครื่องบินได้ไหม คำตอบคือ ทำไมจะไม่ได้ พวกเราถูกฝึกให้ร่อนลงด้วยมุมที่หลากหลายมากกว่านั้น ด้วยเพราะเฮลิคอปเตอร์ถูกออกแบบให้ใช้งานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก
.
ส่วนใหญ่ใครเลือกบินเฮลิคอปเตอร์ มักเป็นพวกสายบู๊ ชอบความสมบุกสมบัน การลุยไปในทุกที่ที่ใบพัดจะพาไปถึง ความคล่องตัวนี้จึงต้องแลกมากับการฝึกอย่างหนัก การกะมุมร่อนด้วยสายตาให้แม่นยำอย่าง ‘นก’ จึงจำเป็น
.
ศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์จะถูกสอนให้รู้จักมุมร่อน 3 แบบ ประกอบได้วย
.
1. Normal Approach (ร่อนด้วยมุมปกติ) : มุมร่อนอยู่ที่ 7 – 12 องศา ถือเป็นมุมร่อนปกติที่ใช้ในสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น บนรันเวย์ พื้นที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวาง
.
2. Steep Approach (ร่อนด้วยมุมชัน) : มุมร่อนที่ชันกว่าปกติ อยู่ที่ 12 – 15 องศา บางสถานการณ์อาจชันถึง 20 องศา มุมร่อนนี้มักใช้ในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งกีดขวาง เช่น ต้นไม้ สายไฟฟ้า หรือตึกสูงๆ
.
3. Shallow Approach (ร่อนด้วยมุมบาง) : มุมร่อนตื้นๆหรือบางๆ ที่น้อยกว่า 7 องศา (โดยทั่วไปใช้ประมาณ 3 – 5 องศา) มุมร่อนนี้มีประโยชน์กรณีเครื่องมีกำลังน้อยในวันที่บินอาจแบกน้ำหนักไว้มาก หรือบางเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องร่อนลงแล้วให้สกีไถไปกับพื้น หรือหากเป็นคอปเตอร์แบบมีล้อก็วิ่งไปกับพื้น เช่น ระบบใบพัดหางทำงานผิดปกติ เราก็จะวางแผนร่อนลงด้วยมุมบางๆ แล้วก็ลงจอดแบบเครื่องบิน นั่นคือวิ่งไปกับพื้น
.
สำหรับการบินลงในพื้นที่จำกัดที่หลากหลาย ก็จะมีเทคนิคร่อนอยู่ 3 แบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เทคนิคเหล่านั้นได้แก่
.
1. Single Angle Approach (ร่อนด้วยมุมเดียว)
วิธีคือกำหนดจุดลงจอดจุดเดียว ลงด้วยมุมร่อนเดียว เป็นวิธีร่อนโดยทั่วไปที่ใช้กัน มักเหมาะในกรณีพื้นที่ลงกว้าง สิ่งกีดขวางน้อย ข้อดีคือคอนโทรลเครื่องให้ร่อนด้วยมุมร่อนเดียว กะมุมร่อนครั้งเดียว ควบคุมอัตราเร็ว อัตราร่อนได้อย่างต่อเนื่อง
.
2. Doubble Angle Approach (ร่อนสองมุม)
วิธีนี้นักบินจะคอนโทรลเครื่องด้วยมุมบางๆมาก่อน โดยกำหนดจุดอ้างอิงจุดนึงไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องบินพ้นสิ่งกีดขวางของแนวร่อน เมื่อใกล้ถึงจุดนั้นจึงค่อยๆหย่อนตัวลงมาด้วยมุมชัน โดยการร่อนครั้งที่สองนี้จะกำหนดจุดวางตัวไว้บนพื้นที่ที่จะลง วิธีนี้ต้องการทักษะที่มากขึ้น ต้องการการโฟกัสจุดที่มากขึ้น ซึ่งบางครั้งศิษย์บางคนก็ทำเองได้ก่อนที่จะรู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังร่อนลงด้วยเทคนิคนี้
.
3. Vertical Approach (ร่อนแนวตั้ง)
การร่อนด้วยวิธีนี้มักใช้กรณีพื้นที่ลงนั้นรายล้อมไปด้วยสิ่งกีดขวางที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องใช้มุมร่อนที่ชันมากๆ ร่อนถึงจุดลงแล้วค่อยๆหย่อนตัวลง ซึ่งวิธีนี้ต้องมั่นใจก่อนว่าเครื่องมีกำลังมากพอ อีกทั้งนักบินต้องควบคุมเครื่องอย่างประณีต อัตราร่อนต้องน้อยมากๆ
.
(ดูภาพบทความด้านล่างประกอบคำอธิบาย)
.
ทุกเทคนิคที่กล่าวมา ขณะนักบินนำเครื่องร่อนลงจอดนั้น ความสัมพันธ์ของอัตราเร็ว อัตราร่อน และระยะทางเข้าใกล้ จะต้องแม่นยำ เพราะหากโปรไฟล์ไม่ได้ เครื่องอาจเข้าสู่สภาะเสี่ยงที่จะร่วงเมื่อไรก็ได้ ทิศทางหัวเครื่องต้องนิ่ง มุมร่อนต้องได้ และต้องพร้อม Go Around ทุกเมื่อ (ยกเลิกการร่อนแล้วบินออกไปตั้งตัวใหม่)
.
นี่ยังไม่นับถึงเทคนิคการร่อนลงจอดบนเรือรบที่กำลังวิ่งอยู่กลางทะเลของเหล่านักบินเฮลิคอปเตอร์ราชนาวี ซึ่งจะมีเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ของอัตราเร็วทั้งเรือและเฮลิคอปเตอร์ มุมมองขณะร่อน ความสูงของดาดฟ้าเรือ ทะเลและท้องฟ้าที่กลืนเป็นสีเดียวกันและพร้อมจะหลอกตาเราเมื่อไรก็ได้
.
เทคนิคทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องการการฝึกฝนที่เข้มข้น การมองได้อย่าง ‘นก’ เข้าใจธรรมชาติบนท้องฟ้า สวมหัวใจใส่จิตวิญญาณของสัตว์ปีก เพื่อให้การบินเป็นไปตามโปรไฟล์ที่ปลอดภัย ล้วนเป็นศิลปะแห่งการควบคุมเครื่องทั้งสิ้น
.
การบินลงจอดสำหรับอากาศยานทุกประเภทล้วนต้องการทักษะเฉพาะ มันคือขั้นตอนหนึ่งที่ยาก และสำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่ได้ใช้มุมร่อนมุมเดียวเสมอไปนั้น ย่อมมิอาจประมาท
.
มีคำกล่าวหนึ่งว่าไว้
.
“In the world of aviation every landing is a story of skill precision and adaptability”
.
“ในโลกของการบิน การร่อนลงจอดทุกครั้งเป็นเรื่องของทักษะ ความแม่นยำ และความสามารถในการปรับแต่ง”
.
ใครเลือกบินเฮลิคอปเตอร์ .. ได้บู๊สมใจแน่นอน
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL