Skip to content

สารแห่งความสุข

เนื้อหาดีๆจากหนังสือ ‘สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยพีระมิดสามสุข’ ถูกกลั่นกรองจากคุณชิอน คาบาซาวะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ชาวญี่ปุ่น
หากความสุขคือผลลัพธ์ กลไกการขับความสุขออกมาสำหรับงานค้นคว้านี้คือสารเคมีในสมอง ซึ่งในสมองจะมีสารเคมีหลายตัวมาก มีมากกว่า 100 ชนิด แต่ตัวเด่นๆที่ถูกคัดสรรมาในหนังสือเล่มนี้โฟกัสไปที่ 3 ตัวได้แก่ เซโรโทนิน ออกซิโตซิน และโดพามีน เมื่อไรสาร 3 ชนิดนี้หลั่งออกมา เราจะมีความสุข
.
1.เซโรโทนิน – ความสุขจากการมีสุขภาพกายและใจที่ดี
.
2.ออกซิโตซิน – ความสุขจากความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ และมิตรภาพ
.
3.โดพามีน – ความสุขจากการได้รับความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย เงินทอง ชื่อเสียง และเกียรติยศ
.
เคล็ดลับโดยสรุปก็คือ การบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 โดยให้จัดลำดับความสำคัญให้ถูกก่อน เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกว่า ควรให้ความสำคัญกับด้านใดในชีวิตก่อน อย่างไหนค่อยตามมาทีหลัง
.
หากย่อสารเคมีที่ชื่อฟังดูแล้วจำยาก แล้วเปลี่ยนคำใหม่เป็น ‘สุขภาพ / ความผูกพัน / ความสำเร็จ’ แบบนี้จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
.
จากประสบการณ์กว่า 30 ปีของคุณหมอที่ผ่านการรักษา การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมคนไข้ จนตกผลึกออกมาเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ก็สรุปได้ว่า คนเราควรเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อยดังนี้
.
1. สุขภาพ (เซโรโทนิน)
2. ความผูกพัน (ออกซิโตซิน)
3. ความสำเร็จ (โดพามีน)
.
ทำไมเอาความสำเร็จไว้ท้ายสุด เพราะจากสถิติพบว่า มนุษย์งานที่ตะเกียกตะกายหาความสำเร็จ ยิ่งมุ่งมั่นมากเกิน ส่วนใหญ่สุขภาพจะทรุดโทรม ครอบครัวจะห่างหาย แม้เดินทางมาถึงยอดพีระมิดแล้ว หันหลังกลับมาดู อาจว่างเปล่า ฐานล่างพร้อมจะโค่นเมื่อไรก็ได้
.
รากฐานที่ควรจะเป็นคืออะไร .. คำตอบคือ ‘สุขภาพ’
.
หากสุขภาพจิตและกายแข็งแรง ย่อมเปรียบได้กับฐานรากที่มั่นคง และชั้นต่อจากนั้นคือฐานแห่ง ‘ความผูกพัน’
.
เมื่อไรรับอารมณ์สุขที่เกิดจากความผูกพันได้ สารออกซิโตซิน จะหลั่งออกมา ยกตัวอย่างเช่นเวลากอด เวลาหอมลูก ความผูกพันในครอบครัว ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างเพื่อนก็รวมอยู่ในความสุขประเภทนี้ด้วย ความสุขเกิดขึ้นง่ายๆแค่นี้
.
ครั้นรากฐานมั่นคงแล้ว ต่อไปจะสร้างตึกกี่ชั้นก็ทำได้ตราบที่ใจอยากจะทำ พลังงานมันจะวิ่งพรวดพราดไม่มีวันหมด ต่อยอดเข้าสู่โหมด ‘ความสำเร็จ’ ถึงตอนนั้น โดพามีน ก็จะหลั่งออกมา
.
โดยสรุปคือ จัดลำดับความสำคัญของ ‘สุขภาพ’ ‘ความผูกพัน’ และ ‘ความสำเร็จ’ ให้ได้ แล้วสารแห่งความสุขจะทำงานผสมผสานกันอย่างสมดุล
.
คุณหมอเคยไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา สังเกตพฤติกรรมการทำงานของคนอเมริกันที่นั่นต่างกับคนญี่ปุ่นในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง นั่นคือคนญี่ปุ่น พนักงานจะกลับบ้านช้า เลิกงานแล้วไม่กลับบ้าน อยู่เคลียร์งานต่ออีกพักหนึ่ง ในขณะที่คนอเมริกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน เก็บของกลับบ้านทันที
.
คุณหมอถามพนักงานชาวอเมริกันคนหนึ่งว่า
.
“เลิกงานปุ๊บ กลับบ้านปั๊บ ไปทำอะไรเหรอ”
.
พนักงานตอบ
.
“ถามอะไรแปลกๆ ก็ต้องไปทานมื้อค่ำกับครอบครัวสิ”
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *