งานบินกับเฮลิคอปเตอร์ ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การขนส่งผู้โดยสารและลำเลียงสิ่งของแบบที่เครื่องบินแอร์ไลน์ทั่วไปเขาบินกัน แต่มันกินกว้างไปในอุตสาหกรรมอื่นที่หลากหลายมาก
.
ในประเทศไทยอาจยังไม่เห็นภาพเท่าต่างประเทศดังเช่นน่านฟ้าอื่นที่เขาบินกันให้ว่อน ขยายปีกกันเกลื่อนฟ้า ด้วยเพราะหลายเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนของบ้านเมืองเรา
.
รายงานอุตสาหกรรมตลาดแรงงานนักบินเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐอเมริกาคาดว่าตลาดงานนักบินเฮลิคอปเตอร์จะเติบโต 6% ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2028 ด้วยแรงหนุนจากหลายภาคส่วนเช่น การท่องเที่ยว บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการขนส่ง
.
อ้างอิงจากรายงานของโบอิ้งที่เคยคาดการณ์ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ทั่วโลกจะขาดแคลนราว 61,000 คน ในปี 2038
.
แต่นั่นคือภาพรวมของโลก ขณะที่ไทยเราอาจดูเหมือนเป็นเซลล์เล็กๆที่ตลาดแรงงานเฮลิคอปเตอร์ยังไม่หวือหวาเท่าไหร่นัก แต่เพื่อให้รู้ถึงโลกข้างนอกโน้นว่างานบินกับคอปเตอร์นั้นมีสีสันฉูดฉาดขนาดไหน ต่อไปนี้คือตัวอย่างพอสังเขปที่จะเล่าสู่กันฟัง
.
1. Aerial Stock Mustering – ‘บินต้อนสัตว์’ มักพบในประเทศที่มีฟาร์มใหญ่ๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา บราซิล นักบินมีหน้าที่บินต้อนสัตว์ให้ไปยังสถานที่เฉพาะ เช่น คอก หรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 146,250 – 234,000 บาท/เดือน>
.
2. Aerial Photography and Filming – บินถ่ายภาพทางอากาศ / บินถ่ายทำภาพยนตร์ หรือถ่ายทำโฆษณาต่างๆ
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 204,750 บาท/เดือน>
.
3. Helicopter Search and Rescue (SAR) – บินค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ที่ได้รับแจ้ง และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น ตามภูเขาหรือทะเล
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 292,500 บาท/เดือน>
.
4. Powerline Surveys – บินสำรวจตรวจสอบสายไฟฟ้าแรงสูง
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 160,875 – 248,625 บาท/เดือน>
.
5. Offshore (Oil Industry) Services – บินส่งผู้โดยสารไป-กลับ แท่นขุดเจาะกลางทะเล (อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ)
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 204,750 – 292,500 บาท/เดือน>
.
6. Helicopter Emergency Medical Service (HEMS) – บินบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อพาผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาล
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 263,250 บาท/เดือน>
.
7. Firefighting – บินดับเพลิงในพื้นที่ที่ได้รับแจ้ง ส่วนใหญ่ต้องไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น ไฟไหม้ป่า หรือพื้นที่บนภูเขา
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 175,500 – 277,875 บาท/เดือน>
.
8. Tourism and Sightseeing – บินพาผู้โดยสารท่องเที่ยว ชมสถานที่ทัศนียภาพทางอากาศ
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 175,500 บาท/เดือน>
.
9. Corporate and VIP Transport / Charter Services – บินขนส่งผู้โดยสาร / วีไอพี / บุคคลผู้มีชื่อเสียง / พนักงานองค์กร
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 204,750 – 351,000 บาท/เดือน>
.
10. Agricultural Spraying – บินฉีดพ่นยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช รวมถึงปุ๋ยสำหรับพืชผลทางการเกษตร
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 146,250 – 234,000 บาท/เดือน>
.
11. News and Traffic Reporting – บินรายงานข่าวและการจราจรทั้งแบบรายงานสด แบบเรียลไทม์
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 131,625 – 204,750 บาท/เดือน>
.
12. Flight Instructors – ครูการบินเฮลิคอปเตอร์ ทำหน้าที่สอนผู้ที่สนใจอยากเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้จบและสามารถสอบใบขับขี่เฮลิคอปเตอร์ได้
<รายได้เฉลี่ยเดือนละ 117,000 – 204,750 บาท/เดือน>
.
ค่าตัวที่เขียนมานี้ อ้างอิงเฉลี่ยจากประเทศใหญ่ๆที่ใช้เฮลิคอปเตอร์กันเป็นว่าเล่น (คิดอัตราค่าเงินเฉลี่ย 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ)
.
ในแต่ละประเทศอาจมีราคาค่าตัวที่แตกต่างกันไป ไม่ต่างกันกับวิชาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยที่หลากหลายของแต่ละประเทศ เช่น ค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ อุปสงค์ อุปทานของตลาด แรงงาน นโยบายภาษี มาตรฐานค่าจ้าง และ การเมือง
.
เส้นทางวิชาชีพก็อาจเปรียบได้กับวิชาชีพแพทย์ เมื่อเรียนจบ จะต้องไปเรียนเฉพาะทางเพิ่มเติม นักบินก็เช่นกัน เมื่อก้าวย่างออกจากโรงเรียนการบิน การจะไปบินกับบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ พวกเขาจะต้องไปบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องไปเรียนเฉพาะทางกับเครื่องแบบนั้นๆก่อน
.
ส่วนการจะไปทำงานที่ประเทศไหน ก็ต้องศึกษากฎหมายการบินของประเทศนั้น ต้องใช้ใบอนุญาตนักบินของประเทศนั้นๆ หรือบางที่ก็ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ แล้วแต่กติกาของแต่ละที่
.
สำหรับคนที่เรียนบินกับโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศที่มีมาตรฐาน ส่วนใหญ่สามารถใช้ใบขับขี่นักบินนั้น นำไปแปลงร่างเพื่อเทียบเคียงกับใบขับขี่ของประเทศที่จะไปทำการบินด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆว่าเขามีเงื่อนไขอย่างไร โดยมากต้องมีการสอบบางรายวิชาและมีการตรวจสอบฝีมือบินก่อน
.
ความก้าวหน้าในวิชาชีพก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เริ่มจากเป็นนักบินผู้ช่วยก่อน บินเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สั่งสมชั่วโมงบิน เมื่อคุณสมบัติครบ องค์ประกอบได้ ก็ปรับเป็นนักบินผู้ช่วยอาวุโส สักพักก็เป็นกัปตัน หากใครอยากพัฒนามากขึ้น ก็ไปเป็นครู ไปเป็นนักบินผู้ตรวจสอบนักบินกันเองอีกที ระดับที่เพิ่มหมายถึงค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และค่าตอบแทนที่เพิ่มนั้น มันก็มาคู่กันกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นนั่นเอง
.
มันต้องผ่านอะไรอีกเยอะสำหรับวิชาชีพนักบินนี้
.
ร้อยชั่วโมงแรกคือของยากที่สุด แต่มันก็น่าจดจำที่สุดเช่นกัน และมันปูทางไปสู่หลักพัน หลักหมื่นชั่วโมง เพื่อให้เหล่าคอปเตอร์ได้โลดแล่นไปบนโลกกว้าง บนเส้นทางที่หลากหลาย
.
อย่างไรก็ตาม..ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย
.
คุณค่าของแต่ละวิชาชีพก็เช่นกัน
….
– อ้างอิงรายได้นักบิน ฮ.จากเว็บไซต์ VelvetJobs
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL