Skip to content

“เส้นทางและการผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์ของประเทศเรา..อยู่ที่ก้าวไหนของการเติบโต”

(บทความนี้เคยเขียนในโพสส่วนตัวเมื่อ ต.ค.2022 วันนี้เอามาลงใหม่เพราะเห็นว่า เนื้อหายังใช้ได้เหมือนเดิมแม้กาลล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีแล้ว)
.
แต่ก่อนประเทศเรา บริษัทเอกชนที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ในเชิงพาณิชย์ จะสรรหานักบินมาทำงานแต่ละช่วง ..ใช่ว่าง่าย .. ส่วนใหญ่ดึงตัวนักบินจากกองทัพมา .. ในยุคก่อเริ่มนั้น ทำให้สมองไหลออกจากกองทัพกันก็มาก
.
ขณะเดียวกัน ก็นำเข้านักบินต่างชาติมาด้วย เพราะยังต้องพึ่งพาต่างชาติ ในเรื่ององค์ความรู้ที่เรายังขาดอยู่ โดยเฉพาะวงการบิน Offshore (บินพาผู้โดยสารไปทำงานที่แท่นขุดเจาะกลางทะเล)
.
เพื่อผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์เพิ่ม จึงเริ่มมีนักเรียนทุนจากบริษัทเอกชน .. รุ่นแรกๆ บริษัทในประเทศส่งนักเรียนทุนไปเรียนบินที่แคนาดา อเมริกา บางคนใช้ทุนส่วนตัวไปเรียนที่ออสเตรเลีย ประเทศเหล่านั้น ท้องฟ้าเปิดกว้าง กฎระเบียบเอื้อให้คนเข้าถึงโลกของการบินได้ง่าย .. (เป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า ไม่มีที่ไหนส่งไปเรียนบินที่ประเทศโซนยุโรปเลย)
.
บางส่วนก็ได้นักบินทหารที่มีใบอนุญาตนักบิน (Licence) มาใช้งาน เพราะการบินพาณิชย์นั้น นักบินจำเป็นต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง อนาคตวิธีนี้อาจยากขึ้นแล้ว เนื่องด้วยนักบินทหารที่มี Licence จะเริ่มทยอยลดลงไป เพราะ Licence ขาด หรือไม่สามารถรักษาใบอนุญาตที่เคยมีเอาไว้ได้ อันเกิดจากกฎหมายการบินใหม่ที่ไม่เอื้อให้พวกเขาใช้ชั่วโมงบินกับอากาศยานของกองทัพในการต่อใบอนุญาตนักบิน
.
และแน่นอนว่า อาชีพนี้มีไม่กี่ร้อยคนในประเทศ หากไม่นับนักบินเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐ (ใน 1 แสนคนจะพบนักบินเฮลิคอปเตอร์แค่ 2 คน)
อุตสาหกรรมด้านการบินกับเฮลิคอปเตอร์ในเชิงพาณิชย์ของประเทศ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาจไม่หวือหวา หากแต่ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนต้นไม้ยืนต้นที่รอวันเติบโต
.
นักบินฝรั่งก็ค่อยๆลดลงไป เพราะเราเริ่มทำอะไรเองได้หลายอย่าง เราค่อยๆเรียนรู้ เพิ่มพูนความเป็นมืออาชีพ .. คนไทยไม่เคยด้อยกว่าชาติใดในโลก
.
กระทั่งมีนักบินเฮลิคอปเตอร์ไทย ไปโลดแล่นในเวทีต่างชาติ ก็หลายประเทศแล้ว ณ เวลานี้ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ผมรู้จัก ไปแสดงศักยภาพให้ต่างชาติเห็น บ่งบอกว่า ขนาดต่างชาติยังต้องจ้างเราไปทำงานให้ .. งานฝีมือแบบนี้ น่าส่งเสริมยิ่งนัก
.
จึงฉุกคิดขึ้นได้ว่า แล้วตอนนี้ประเทศเรามีความสามารถในการผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์อย่างต่อเนื่องในระดับไหนกัน
.
ย้อนกลับมาดูด้ามขวานเรา ก็พบว่า หนทางก้าวสู่อาชีพนี้มีไม่กี่ทางนัก อาจพอสรุปได้ว่า
.
1.ไปสอบเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หรือตำรวจ) จากนั้นก็เรียนให้จบ แล้วก็เลือกไปสอบเป็นนักบินเหล่าทัพต่อไป แต่ละเหล่าทัพก็จะส่งไปเรียนบินตามที่ที่แต่ละเหล่าทัพจัดสรรให้ ถึงตอนนั้นก็อยู่ที่ว่าจะได้ไปเรียนบินที่ไหน ในประเทศเท่าที่เห็นก็มีอยู่แค่ 3 ที่ได้แก่ โรงเรียนการบินทหารบก โรงเรียนการบินกำแพงแสน(ทหารอากาศ) และ สถาบันการบินพลเรือน
.
(มีเพียง 1 ใน 3 โรงเรียนนั้น..ที่สามารถฝึกนักบินจนถึงขั้นสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตนักบินสำหรับการนำไปใช้ประกอบวิชาชีพนักบินเฮลิคอปเตอร์พาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ ที่นั่นคือ ศูนย์ฝึกการบิน สถาบันการบินพลเรือน)
.
2.รอทุนจากบริษัทเอกชนในประเทศ เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ต้องการนักบินเฮลิคอปเตอร์มาทดแทนนักบินที่ใกล้วัยเกษียณ บริษัทจะเปิดสอบนักเรียนทุนเอง จากนั้นก็อยู่ที่บริษัทนั้นๆว่าจะเลือกส่งนักเรียนทุนไปเรียนบินเฮลิคอปเตอร์ที่ไหน
.
(หากกำลังการผลิตในประเทศมีศักยภาพพอ ก็คงไม่ต้องขนเงินไปเทให้ฝรั่งที่ต่างแดนเพื่อผลิตนักบินให้ .. ที่ๆพัฒนาแล้ว..เขาส่งคนไปเรียนเมืองนอกแค่ยุคบุกเบิกเท่านั้น จากนั้นก็หาวิธีผลิตและต่อยอดเอง)
.
3.สมัครเรียนบินเอง ด้วยทุนส่วนตัว จะในหรือนอกประเทศก็ตามแต่สะดวก แต่ปัจจุบันในประเทศเราก็มีโรงเรียนที่มีขีดความสามารถในการผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์พาณิชย์ได้ไม่แพ้ต่างชาติ แม้จะยังเป็นแหล่งผลิตเล็กๆ แต่เซลล์เล็กๆนี้ก็ยังคงต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไป
.
ประเทศไทยมี 7 หน่วยงานภาครัฐ และ 6 หน่วยงานเอกชน ที่ใช้นักบินเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติงาน (ย้อนอ่านบทความ ‘อัศวินแมลงปอเหล็ก’ ในโพสแรกๆของเพจ .. จะเห็นความสำคัญของเหล่านักบินเฮลิคอปเตอร์ ว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้าง)
.
เท่าที่คร่ำหวอดมาทั้งภาครัฐและเอกชน จึงประมาณการได้ว่า สำหรับบริษัทเอกชนที่ทำมาหากินกับนักบินเฮลิคอปเตอร์ เหลือเวลาเตรียมตัวอีกไม่ถึง 10 ปีแล้ว ที่จะต้องเตรียมหาคลื่นลูกใหม่มาทดแทนคลื่นลูกเก่า
.
จะหาจากนักบินเหล่าทัพอีกกระนั้นเหรอ ไม่แน่ใจว่าจะช้อปได้ง่ายๆเหมือนเมื่อสิบปีก่อน
.
แม้แต่หน่วยงานภาครัฐเอง ก็ขาดแคลนนักบินเฮลิคอปเตอร์มิใช่น้อย
.
เขียนมาเพื่อจะบอกว่า อนาคต ตลาดนักบินเฮลิคอปเตอร์ทั้งในและต่างประเทศจะยังคงต้องการนักบินเฮลิคอปเตอร์เพิ่ม และแน่นอน แหล่งผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์พาณิชย์ในประเทศนั้น..ย่อมสำคัญ
.
ต้นไม้ใหญ่เท่าหลายแขนโอบ .. แต่ก่อนเป็นเพียงไม้ต้นน้อย เพราะเริ่มตั้งแต่วันนั้น จึงมีวันนี้ แล้ววงปีก็จะเริ่มขยาย ถึงตอนนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาจะพบว่า มันคุ้มค่านักที่เราสามารถผลิดอกออกผลเองได้ ด้วยหยั่งรากลึกลงเป็นที่มั่นสืบไป
.
หากมองให้ครบทุกมิติ ก็คงจะตอบโจทย์ความคุ้มค่าในประเทศได้ไม่ยาก
.
ไม่อยากให้นักบินเฮลิคอปเตอร์พาณิชย์ในประเทศสูญพันธุ์ หรือย้อนกลับไปพึ่งพาต่างชาติอีก คงจะพอได้เห็นความสำคัญของแหล่งผลิตในประเทศที่ยังคงควรมีอยู่ได้บ้าง..ไม่มากก็น้อย
.
เพราะการผลิตว่ายากแล้ว การรักษาไว้อาจจะยากยิ่งกว่า ..
.
ไม่อยากเห็นอนาคตประเทศนำเข้านักบินต่างชาติอีก.. ภาพคนไทยตกงาน ต่างชาติเข้ามาทำแทน .. บางหน่วยงาน..จำเป็นต้องตระหนัก และมองข้ามช็อตให้เป็น ..
.
เส้นทางการผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ทอดยาวมามากกว่าหลายทศวรรษนั้น เปรียบเสมือนการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะกลุ่มของพวกเขามีจำนวนไม่มาก หากแต่ความไม่มากนี้อาจเป็นที่ต้องการในวันข้างหน้าอย่างสูงยิ่งก็ได้
.
ทั้งหน่วยผลิต ทั้งหน่วยสนับสนุน ควรรู้ให้เท่าทัน มองให้ครบทุกบริบท เมื่อเห็นโครงสร้างของภาพรวมนี้แล้วจะเข้าใจ
.
(แนะนำให้อ่านบทความ ‘อัศวินแมลงปอเหล็ก’ ประกอบ)
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *