Skip to content

แด่ผู้ที่ล้มเหลวแต่ยังไม่ล้มเลิก

นักข่าวสัมภาษณ์ชายชราผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกในฐานะนักธุรกิจและนักประดิษฐ์ผู้มีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากถึง 1,093 ชิ้น
.
“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งด้านงานประดิษฐ์และด้านธุรกิจ”
.
ชายชรายิ้ม ยังไม่ทันตอบ เพื่อนรุ่นน้องของเขาที่นั่งข้างๆชิงตอบแทน
.
“เพื่อนผมกินอาหารเมนูเดิมซ้ำๆกันมาตลอดชีวิต..แล้วเขาไม่เคยเบื่อ”
.
นักข่าวถาม “อะไรคืออาหารเมนูเดิมๆครับ”
.
รุ่นน้องวัยย่าง 60 ยิ้ม แล้วตอบไปว่า “เขากินความล้มเหลวเป็นอาหาร แล้วย่อยมันด้วยปัญญา”
.
“ปีนี้คุณอายุเท่าไรแล้ว” นักข่าวหันกลับไปถามชายชรานักประดิษฐ์
.
“76 ปี ยังอยู่ได้อีกนาน” เขายังยิ้มที่มุมปาก
.
ภาพในวัยเด็กย้อนเข้ามาโดยไม่ทันคิดล่วงหน้า เขาเคยถูกอาจารย์ปรามาสว่า “หัวขี้เลื่อย” เขาไม่สนใจเรียนในตำรา แต่เขาชอบเรียนรู้นอกห้องเรียนจาก ‘ของจริง’
.
เขาเร่ขายขนมบนรถไฟ ขายลูกอม ขายหนังสือพิมพ์และแอบทดลองงานประดิษฐ์บนรถไฟจนเกิดเหตุเพลิงไหม้ จากนั้นก็โดนไล่ออก
.
เขาดื้อกับการทดลองที่ล้มเหลวมามากกว่า 10,000 ครั้ง พอคิดถึงตรงนี้ เสียงของนักข่าวก็แทรกเข้ามาในสำนึกเขา
.
“ตอนที่คนอื่นหาว่าคุณบ้าที่พยายามประดิษฐ์หลอดไฟ คุณรู้สึกอย่างไรกับการที่คุณล้มเหลวมามากกว่า 10,000 ครั้ง”
.
เขายิ้มอีกแล้ว และเปรยว่า “ผมไม่เคยล้มเหลว..แต่ผมได้ค้นพบ 10,000 วิธีที่มันไม่เวิร์กต่างหาก”
.
……………………………………………………………….
.
ในอนาคต คำถามสัมภาษณ์งานอาจไม่เน้นไปที่ความสำเร็จดังเช่นที่ผ่านมา อย่างเช่น
.
“คุณจบอะไรมา มีใบประกาศอะไรบ้าง ผลการเรียนเป็นอย่างไร แล้วประสบความสำเร็จอะไรมาแล้วบ้าง”
.
แปลกตรงที่ว่า เขาไม่ได้โฟกัสกันที่ ‘ความเก่ง’ กันอีกต่อไปแล้ว
.
ส่วนใหญ่เขานิยมถามถึงความล้มเหลวของคุณมากกว่า แล้วเขามักจะโฟกัสไปที่คำขยายความต่อจากนั้นว่า
.
“คุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้อย่างไร!”
.
บันทึกความล้มเหลวคือสถิติที่ดี มันบอกว่าคุณได้ผ่านอะไรมา แล้วคุณจัดการกับมันได้อย่างไร
.
จริงแท้ที่เปลือกโลกยังคงสงวนพื้นที่ไว้สำหรับคน ‘เก่ง’ ไม่ว่ายุคสมัยใด หากแต่ความ ‘เก่ง’ นั้นดูฉาบฉวย และภายใต้ของคนที่เพอร์เฟกต์มักมีความ ‘กลัว’ แอบซ่อนอยู่
.
‘เก่ง’ กับ ‘กลัว’ เป็นของคู่กัน
.
คนเก่ง กลัว คนไม่ยอมรับ
คนเก่ง กลัว ความพ่ายแพ้
คนเก่ง กลัว ไม่มีที่ยืน
คนเก่ง กลัว สูญเสียอัตตาที่กอดไว้แน่นเกิน
.
“อย่าติดกับดับความเก่ง แต่จงกอดความชำนาญ และเพียรพิจารณ์ถึงความล้มเหลวอยู่เนืองๆ”
.
หากยกเอาคำอมตะของ โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ว่า “ผมไม่เคยล้มเหลว..แต่ผมได้ค้นพบ 10,000 วิธีที่มันไม่เวิร์กต่างหาก”
.
ประโยคนี้ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ
.
แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว : ฉันค้นพบวิธีทำน้ำซุปที่ยอดแย่มาแล้ว 100 หม้อ แล้วหม้อที่ 101 ของฉันมันเวิร์ก ปัจจุบันฉันมีแฟรนชายส์ร้านก๋วยเตี๋ยวมากกว่า 500 สาขาทั่วประเทศ
.
เจ้าของโรงแรม : ผมรู้วิธีที่ทำให้ลูกค้าเดินหนีไม่เลือกพักที่โรงแรมของผมมาหลายครั้งแล้ว และผมจะไม่ทำอย่างนั้นอีก
.
นักกีฬา : ผมค้นพบวิธีที่ทำให้เล่นแล้วแพ้มานานถึง 5 ปี กับ 100 กว่ารายการแข่งขัน แล้วรายการที่ 101 ผมก็เริ่มชนะ จากนั้นผมก็ได้ยืนบนโพเดียมเพื่อรับถ้วยรางวัล ส่วนวิธีที่มันไม่เวิร์กก็ถือซะว่า “เจ็บแล้วต้องจำ..จะได้ไม่ทำอีก”
.
……………………………………………………………….
.
นักข่าวกลับไปแล้ว ชายชราทั้งสองยังนั่งอยู่ด้วยกัน
.
ผู้อ่อนวัยกว่าเอ่ย “ผมชอบประโยคของคุณที่ว่า ไม่เคยล้มเหลว แต่ได้ค้นพบอีก 10,000 วิธีที่มันไม่เวิร์ก”
.
ชายชราวัย 76 ตอบ “บางครั้งแค่เปลี่ยนมุมมอง โลกก็ขับเคลื่อนต่อไปได้”
.
“เราไม่รู้อีก 100 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราได้ทิ้งมรดกดีๆไว้ให้คนรุ่นหลัง เราก็หลับสบายแล้ว”
.
“อีก 100 ปี อาจมีคนเอาประวัติคุณไปทำหนังขาย*” ชายอ่อนวัยกว่าทัก
.
ชายชรายิ้ม “ขายเรื่องดราม่าดีกว่า หนังน่าจะทำเงินได้ดี เพราะคนชอบเรื่อง negative มากกว่า positive”
.
ทั้งคู่หัวเราะพร้อมกัน “อย่างไรก็ดี ประโยคสอนใจนั้นก็คงเป็นอมตะ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนไปอีกนาน”
.
“แล้วชีวิตคุณใช้สมการอะไรในการขับเคลื่อน คุณถึงได้ประสบความสำเร็จกับบริษัทผลิตรถยนต์ของคุณ” ผู้สูงวัยกว่าถามบ้าง
.
ชายวัย 60 ตอบ “ความสำเร็จกว่า 99% นั้น มักเกิดมาจากความล้มเหลวเสมอ**”
.
ชายทั้งสองหัวเราะพร้อมกันอีก “เราต่างใช้ความล้มเหลวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเหมือนกัน”
.
สาระเพิ่มเติม
.
*88 ปี ภายหลัง ทอมัส เอดิสัน เสียชีวิต หนังเรื่อง The current war ก็ถูกสร้างขึ้นโดย Martin Scorsese
และกำกับโดย Alfonso Gomez-Rejon ประเด็นหนังตีแผ่เรื่องราวในอีกมุมที่หลายคนไม่เคยรู้และเรื่องดราม่าในวงการกระแสไฟฟ้าในยุคนั้น
.
**“ความสำเร็จกว่า 99% นั้น มักเกิดจากความล้มเหลวเสมอ” คือคำพูดของ เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์
.
****ทอมัส เอดิสัน และ เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นเพื่อนกัน
….
ภาพหน้าปกโดย PIRO4D จาก Pixabay
.
ภาพด้านล่างโดย Arek Socha จาก Pixabay
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *