เขาเกิดในครอบครัวที่ฐานะยากจน แต่มีความฝัน ความพยายาม ความอดทน แม่ของเขาสอนเสมอว่า
.
“เกิดเป็นคน ต้องใช้ชีวิต ต้องดิ้นรน และอย่ายอมแพ้”
.
‘จอห์น บอยด์ (John Richard Boyd)’ เกิดปี ค.ศ.1927 ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคที่เครื่องบินบินว่อนทั่วฟ้า ยุคแห่งการพัฒนาและออกแบบเครื่องบินรบ
.
วัยประถม เขาฝันถึงการเป็นนักบิน
.
เขาวาดรูปเครื่องบินมากมายในสมุดส่วนตัว ภาพสเก็ตช์แบบเด็กๆ ก่อให้เกิดจินตนาการที่ไปไกลกว่านั้น เขาอยากขับเครื่องบิน และต้องเป็นเครื่องบินขับไล่เท่านั้น
.
มัธยมปลาย เขาสมัครเกณฑ์ทหาร เขาถูกส่งไปกองประจำการที่ญี่ปุ่น (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) มีเรื่องเล่าว่าเขาไม่ชอบที่นายทหารได้นอนในที่สบายแล้วปล่อยให้พลทหารนอนหนาวเหน็บอยู่ในเต็นท์ เขาสร้างวีรกรรมห่ามๆหลายอย่างจนถูกทำโทษและต้องขึ้นศาลทหาร
.
นิสัยดื้อๆ ตรงๆ ขวางๆของเขา ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้บังคับบัญชาสักเท่าไหร่
.
กลับจากเกณฑ์ทหาร เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่รัฐไอโอวา และสมัครเป็นทหารต่อในกองทัพอากาศเพื่อสมัครสอบเป็นนักบิน ทำข้อสอบ Aptitude test (ข้อสอบความถนัดนักบิน) และทำแบบทดสอบ IQ ได้คะแนน 90
.
หลายคนบอกว่าเขาไม่เหมาะที่จะเป็นนักบิน ด้วยคะแนน IQ ที่ต่ำ (โดยค่าเฉลี่ยไม่ควรจะต่ำกว่า 100)
.
แต่สำหรับ ‘บอยด์’ เขาชอบที่ถูกคนประเมินเขาต่ำ การเป็นคนอ่อนในสายตาของคนส่วนใหญ่ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีต้นทุนที่ต่ำ หากอดทน ขยัน ไม่ยอมแพ้ และเมื่อผลแห่งความสำเร็จมันผลิดอกออกมา ที่เหลือคือกำไรล้วนๆ
.
‘บอยด์’ แต่งงานปี ค.ศ.1953
.
เขาบอกภรรยาว่า สักวัน เขาจะเป็นนักบินขับไล่ให้ได้ หลังออกจากไอโอวา เขาก็ไปเข้าร่วมการรับสมัครนักบินที่ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐแอริโซนา
กองทัพเสนอให้ไปเป็นนักบินทิ้งระเบิด แต่เขาปฏิเสธ เพราะเป้าหมายของเขาคือนักบินขับไล่เท่านั้น
.
ความพยายามประสบผลสำเร็จ เมื่อผู้บังคับบัญชาในกองทัพอากาศยอมส่งให้เขาไปเรียนบินกับเครื่องบินขับไล่รุ่น ‘F86 Sabre’ จากนั้นเขาถูกส่งไปรบที่เกาหลี กองบินขับไล่ที่ 51 (ทำ 22 ภารกิจแต่ไม่เคยมีสถิติการยิงเครื่องบินข้าศึกเลย) ทว่าในทุกภารกิจ เขาเก็บเกี่ยวทุกๆสิ่งที่จะเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งพฤติกรรมของข้าศึกและพฤติกรรมของเครื่องบิน
.
หลังสงครามเกาหลีจบ เขายังทำงานต่อในฐานะนักยุทธวิธี จากนั้นถูกส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนสอนการใช้อาวุธต่อสู้ทางอากาศที่ฐานทัพอากาศเนลลิส ในเนวาดา (Flighter Weapons School)
.
จากประสบการณ์บินในสมรภูมิรบของเขา
ที่นั่นเขาเห็นจุดบกพร่องของหลักสูตรการฝึกนักบินรบของกองทัพอากาศ เขาต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นเหมือนอย่างที่เขาเห็น เขาต้องการพิสูจน์ .. ขณะเรียนเขาแสดงฝีมือให้ทุกคนเห็นทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกบินภาคอากาศ และ เขาได้รับการยอมรับจากทั้งเพื่อนและครูผู้ฝึก นั่นคือก้าวแรกแห่งความสำเร็จของเขา
จากนั้นเขาถูกขอให้อยู่เป็นครูฝึกที่นั่น เพื่อถ่ายทอดและฝึกเหล่านักบินให้กับกองทัพอากาศ
.
‘บอยด์’ จะเน้นสอนเบสิกต่างๆให้กับนักเรียนให้แน่นก่อน จากนั้นจึงเคี่ยวในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทิศทางและความเร็วขณะบินต่อสู้กลางอากาศ
เขาพัฒนาเทคนิคการต่อสู้ในอากาศกระทั่งได้รับฉายาว่า ‘บอยด์ 40 วิ (Forty Second Boyd) ความหมายคือ เวลาซ้อมต่อสู้กัน เขาจะปล่อยให้นักเรียนบินมาด้านหลังเขาในตำแหน่งที่ได้เปรียบ จากนั้นเขาจะใช้เวลาไม่เกิน 40 วินาที พลิกจากตำแหน่งที่เสียเปรียบกลับมาเป็นฝ่ายยิงแทน และหากใครเอาชนะเขาได้ เขาพร้อมจ่าย 40 เหรียญ ทว่า ไม่มีใครเอาชนะเขาได้ เขาไม่เคยแพ้เดิมพันนี้
.
เขาแสดงให้เห็นว่ายุทธวิธีโบราณที่กองทัพเคยใช้ในอดีตนั้นไม่ได้ผล ปัจจัยชี้ขาดในการรบทางอากาศไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังของการทำลายและพิสัยยิงเสมอไป หากแต่เคล็ดลับคือความสามารถในการเปลี่ยนความเร็วและทิศทางอย่างว่องไวกว่าอีกฝ่ายต่างหาก มันคือเรื่องของ ‘ความคล่องแคล่ว’
.
นี่คือที่มาของทฤษฎี ‘OODA loop’ หลักคิดของเขาสอดคล้องกับตำราพิชัยสงครามซุนวูที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
.
OODA มาจากคำว่า Observe, Orient, Decide และ Act อธิบายโดยย่อได้ดังนี้
.
1. Observe คือ รู้เขา สังเกตเขา ขณะบินจะต้องสังเกตข้าศึก ดูพฤติกรรม การเคลื่อนที่ มองให้ทะลุ รู้ใจข้าศึก
.
2. Orient คือ รู้เรา รู้สภาพโดยรอบ ประเมินรายละเอียด รู้สิ่งที่ผ่านมา ปัจจุบัน และคาดเดาอนาคต
.
3. Decide คือ การตัดสินใจ จากการประเมิน 2 ข้อแรก (รู้เขา รู้เรา) จะนำไปสู่การเลือก ว่าจะตัดสินใจแบบไหน การตัดสินใจจะต้องปราศจากอคติ และไม่ลังเล
.
4. Act คือ ลงมือทำ หรือ เมื่อได้เปรียบก็ลงมือ หากเสียเปรียบก็แก้ไข
.
ประเด็นสำคัญคือ ขั้นตอนเหล่านี้จะวนเป็น Loop เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ ‘ลงมือทำ’ แล้ว จะวนกลับไปที่ ‘รู้เขา หรือ สังเกต’ ใหม่อีกครั้ง
และ วงจรที่วนไปเรื่อยๆนี้ ฝ่ายไหนมีการวน Loop ที่เร็วกว่า .. ฝ่ายนั้นก็ชนะ
.
หลังคร่ำหวอดในงานสอนที่เนลลิสจนอิ่มตัว ในปี 1961 เขามุ่งสู่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย เทค (Georgia Tech University) เพื่อศึกษาวิจัยต่ออย่างจริงจังเกี่ยวกับทฤษฎีความคล่องแคล่วด้านพลังงานของเครื่องบิน เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพในการรบของเครื่องบินแต่ละแบบ ดูเหมือนว่าเขาจะคลั่งไคล้ในการรบทางอากาศมาก
.
เขานึกถึงคำของแม่ที่ว่า “เกิดเป็นคน ต้องใช้ชีวิต ต้องดิ้นรน และอย่ายอมแพ้”
.
หลังวิจัยสำเร็จ เขาถูกส่งไปฐานทัพอากาศเอกลิน ที่ฟลอริดา ที่นั่นเขาได้ต่อยอดงานวิจัยจนคิดค้นทฤษฎี EM (Energy Maneuverability) ได้สำเร็จ มันคือทฤษฎีที่ใช้ในการหาพลังงานของเครื่องบินที่บินที่ระดับความสูงต่างๆ ความเร็ว แรง G และปัจจัยอื่นๆ พร้อมเปรียบเทียบกับเครื่องบินข้าศึกเพื่อชิงความได้เปรียบในการต่อสู้ นักบินจะรู้ท่าทางการบินต่างๆ การสงวนพลังงานในแต่ละท่าทางเพื่อเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น
.
ทฤษฎี EM ฉีกกฎเกณฑ์เก่าๆในการบินทางยุทธวิธีทิ้งออกไป รวมถึงการออกแบบเครื่องบินรบอีกด้วย แน่นอนว่า ย่อมมีแรงกระเพื่อมจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบรรดานายพล ผู้บังคับบัญชาต่างๆ ที่ยึดติดยุทธวิธีแบบเก่าๆ หลักคิดแบบเดิมๆ
.
อาชีพรับราชการในชีวิตของเขาถูกกดดันไม่ใช่น้อย ถูกบีบให้หยุดในสิ่งที่ทำ เขายอมรับว่า เขาไม่ใช่พวกตามน้ำ ใช้ชีวิตสไตล์เขา ยังไงก็ไม่รุ่ง ไม่ได้เป็นนายพลแน่นอน แต่เขาไม่สน .. เขาไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่ยึดมั่น เพราะว่าเขาดื้อ เขาไม่หยุด และคนตรงๆก็มักเป็นแบบนี้ .. มีทุกยุคทุกสมัย
.
ในเส้นทางราชการ หากฝืนทวนกระแส มักไม่รุ่ง มันมีสองผลลัพธ์ที่ต้องเลือก ระหว่างความเจริญรุ่งเรืองส่วนตัว กับ บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
.
อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1965 งานวิจัยของเขาได้รับการยอมรับ เขาได้รับรางวัลจากกองทัพอากาศ สำหรับผลงานวิจัยของเขา ทฤษฎี EM (ทฤษฎีพลังงาน-ความคล่องตัว)
.
ต่อมาเขาถูกส่งตัวไปกระทรวงกลาโหมเพื่อช่วยพัฒนาเรื่องการออกแบบเครื่องบินรบ
.
ครั้นเขามาถึงเพนตากอนในปี ค.ศ.1966 เขาได้ช่วยต่อยอดพัฒนาโครงการเครื่องบินขับไล่แบบต่างๆ เช่น เครื่องบินขับไล่โมเดล FX
.
การเข้าร่วมทีมออกแบบเครื่องบินรบที่เพนตากอนนำไปสู่การสร้าง YF-16 ต้นตำรับเครื่องบินขับไล่ยุคใหม่
.
YF-16 ถูกพัฒนาต่อจนเป็น F-16 ในที่สุด
.
นักบินขับไล่แห่งกองทัพสหรัฐได้นำเอาเทคนิค ‘OODA Loop’ ของ ‘บอยด์’ มาใช้ บวกกับเครื่องบินขับไล่ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดอันเป็นผลพวงมาจากทฤษฎี EM ส่งต่อให้กับนักบินรุ่นหลังๆไปเรื่อยๆ
.
‘OODA Loop’ ไม่เพียงถูกนำมาใช้ในทางทหารเท่านั้น แต่มันยังสามารถนำมาใช้ในศาสตร์อื่นๆได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการชิงไหวชิงพริบกันทางธุรกิจ การตลาด หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬา
.
จากเด็กไอคิว 90 กระทั่งเป็นนักบินขับไล่ และเป็นต้นตำรับของหลักคิดทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย
.
หากไม่ใช่เพราะความดื้อ ความอดทน เพราะว่าไหนๆก็เกิดมาเป็นคนแล้ว มันก็ต้องใช้ชีวิต ต้องดิ้นรน หมั่นพัฒนาตัวเอง และที่สำคัญคือ..อย่ายอมแพ้
.
ดังคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตมันก็เหมือนเดินขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนลง ถ้าหยุดก็มีแต่จะถอยหลัง”
.
และการหยุดเดินย่อมมิใช่วิถีทางของเขา โดยเฉพาะการกระทำใดที่ผิดไปจากสิ่งที่ยึดมั่น ทางเลือกของเขาที่หันหลังให้กับการตามกระแสในแวดวงราชการเพื่อมุ่งทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ว่า คนส่วนใหญ่มิใคร่เลือกกระทำเช่นนี้ แต่มิใช่กับเขา กับผู้ชายคนนี้ คนที่ชื่อว่า ‘จอห์น บอยด์’
….
สาระเพิ่มเติม
.
– จอห์น บอยด์ เกษียณอายุราชการด้วยยศ ‘นาวาอากาศเอก’
– จอห์น บอยด์ ได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลสำคัญต่อวิวัฒนาการของเครื่องบินรบสมัยใหม่ รวมถึงกลยุทธ์การต่อสู้ทางอากาศ
– จอห์น บอยด์ เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจอัลฟ่า และผู้บัญชาการกลุ่มสนับสนุนการรบที่ 56 ณ ฐานทัพอากาศนครพนม ในประเทศไทย (เม.ย. 1972 – เม.ย. 1973)
– มาตรฐานค่าเฉลี่ยของ IQ สำหรับคนทั่วไปอยู่ที่ 100 และมีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า IQ สามารถพัฒนากันได้
– อาชีพนักบิน ไม่ได้วัดกันที่ IQ (Intelligence Quotient) อย่างเดียว หากว่าอย่างอื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ EQ (Emotional Quotient : ความฉลาดทางอารมณ์), AQ (Adaptability Quotient : ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง), CQ (Curiosity Quotient : ความอยากรู้อยากเห็นและไม่หยุดพัฒนา)
.
ภาพด้านล่างโดย Vilius Kukanauskas จาก Pixabay
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL