ฤดูฝน เมฆหนาแน่นเต็มท้องฟ้า อากาศอึมครึม หลังส่งผู้โดยสารไปยังแท่นขุดเจาะที่ชื่อว่า “เบญจมาศ” เสร็จแล้ว นักบินดับเครื่อง เติมน้ำมัน เช็คน้ำหนักก่อนวิ่งขึ้นอีกครั้ง เพื่อบินกลับไปยังฐานปฏิบัติการ ณ สนามบินบนบกแห่งหนึ่ง
.
ขากลับ เมื่อถึงกลางเส้นทาง เรดาร์บนเครื่องกวาดรอบทิศทางหน้าเครื่อง พบกลุ่มเมฆฝนปกคลุมขวางเส้นทาง นักบินพยายามหาจุดที่คาดว่ากลุ่มเมฆบางที่สุด เพื่อบินอ้อมลัดเลาะฝ่าจุดที่คิดว่าปลอดภัย เพื่อผ่านกระแสอากาศแปรปรวนให้น้อยที่สุด พวกเรารู้ว่า เราไม่ควรลุยฝ่าพื้นที่สีแดงเข้มบนหน้าจอเราดาร์นั้น
.
ขณะใบพัดแหวกอากาศ ทุกอณูของมวลอากาศ ไหลผ่านใบพัด อากาศก็เช่นน้ำ เป็นของไหล และธรรมชาติของมันคือไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ความหนาแน่นของอากาศก็เช่นกัน แต่อากาศไม่ได้ไหลในแนวระนาบอย่างเดียว มันไหลในแนวตั้งด้วย
.
เมื่อไรความต่างของความหนาแน่นของอากาศในบริเวณที่เครื่องบินบินผ่านมีมาก ไม่นิ่ง แปรปรวน เกิดการเปลี่ยนแปลงของการไหลอย่างฉับพลัน ความปั่นปวนจึงเกิดขึ้น เราเรียกมันว่า Tubulance และโอกาสที่เมื่อบินผ่านบริเวณนั้นย่อมเหมือนรถที่วิ่งบนถนนที่ขรุขระ เมื่อรถวิ่งผ่านเส้นทางที่ไม่ราบเรียบ สิ่งที่ควรทำคือลดความเร็ว .. บนท้องฟ้าก็เช่นกัน
.
อากาศยานทุกชนิดจะมีความสามารถในการทำความเร็วที่แตกต่างกันไป แต่ที่แน่ๆในคู่มือการบินของเครื่องบินแต่ละแบบ ล้วนกำหนดไว้เสมอว่า หากบินเข้าสภาพอากาศแปรปรวน ควรจะลดความเร็วและไม่ควรบินเกินความเร็วที่เท่าไหร่ และนักบินควรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
.
ขณะที่อากาศไม่นิ่งเคลื่อนที่ผ่านปีกเครื่องบินหรือใบพัดเฮลิคอปเตอร์ เปรียบได้กับล้อรถยนต์ที่เคลื่อนอยู่บนถนนที่ไม่เรียบ แต่อย่างที่บอก บนฟ้ามันไม่ได้มีแค่แนวระนาบอย่างเดียว อากาศมันพร้อมจะหอบเครื่องที่บินผ่านหรือกดเครื่องให้เสียความสูงได้โดยไม่ทันตั้งตัว
.
ที่สำคัญบนถนนเรายังมองเห็นหลุมเห็นบ่อ แต่ในอากาศ เราไม่เห็นมวลอากาศนั้น ความยากในการหลบหลีกจึงไม่เหมือนการขับรถ แม้เราจะหลบเมฆฝนได้ แต่หลายครั้งเราก็บินผ่านอากาศที่ดูเหมือนจะดี ไร้เมฆ ทางปลอดโปร่ง แต่เครื่องก็ถูกหอบขึ้น กดลงได้เหมือนกัน เราเรียกอากาศบริเวณนั้นว่า Clear Air Tubulance
.
ความปั่นป่วนเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง บินผ่านรอยต่อของกระแสลมกรด (Jet Stream) กระแสลมที่ปะทะภูเขา และกระแสลมที่เกิดจากเครื่องบินลำอื่นบินผ่าน
.
เวลาขับรถด้วยความเร็วระดับหนึ่งแล้วเบรคกระทันหัน ตัวเราจะพุ่งไปข้างหน้า เป็นไปตามกฎของแรงเฉื่อย ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อไรเครื่องบินถูกหอบขึ้น เราจะรู้สึกว่าตัวหนักเหมือนถูกกดลง ตรงกันข้าม ถ้าเครื่องถูกอากาศกดลง ตัวเราจะลอยขึ้น ตรงนี้ที่เรามักเรียกกันว่าเครื่องกำลังตก ‘หลุมอากาศ’
.
ฉะนั้นแล้วเมื่อนั่งอยู่บนเครื่องบิน โดยเฉพาะเมื่อผ่านย่านที่ความหนาแน่นของอากาศแตกต่างกันมาก สิ่งที่ควรทำที่สุดคือคาดเข็มขัดนิรภัย
….
เฮลิคอปเตอร์บินกลับจากแท่นขุดเจาะกลางทะเล จอเรดาร์ยังคงกวาดแสดงผลเห็นกลุ่มฝนอยู่
.
อีกประมาณ 50 ไมล์ทะเล จะถึงสนามบินที่หมาย เมื่อบินเข้าใกล้กลุ่มเมฆหนาเหล่านั้น เราจำต้องฝ่าจุดที่บางที่สุด กัปตันแจ้งผู้โดยสารให้คาดเข็มขัดนิรภัยและบอกทุกคนบนเครื่องว่าเรากำลังจะบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน
.
นักบินต้องปฏิบัติตามกฎ ทำตามขั้นตอน และพวกเราถูกฝึกมาให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการความร่วมมือจากทุกคนบนเครื่องเช่นกัน
.
อากาศคือของไหล มันก็เหมือนน้ำ เป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงมัน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการบินคือ ไม่เอาตัวเข้าไปสู่สภาพที่แย่ แต่หากทำไม่ได้ ก็เข้าไปสู่สภาพแย่ที่น้อยที่สุด และหากจะต้องฝ่ามันไป การปฏิบัติตามขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการลดความเร็ว ปรับโหมดการใช้ระบบควบคุมเครื่องอัตโนมัติ (Autopilot) ให้เหมาะสม รวมถึงการแจ้งลูกเรือและผู้โดยสาร
.
ขณะเคลื่อนผ่านกลุ่มเมฆบางนั้น กระแสอากาศโดยรอบก็หอบเครื่องให้หล่นวูบ ความสูงเสียไปราว 100 ฟุต สำหรับการบินแล้วถือว่ารุนแรงพอสมควร
.
ครั้นเราบังคับเครื่องตามขั้นตอน เอาเครื่องกลับมาสู่สภาวะปกติได้ อากาศก็เริ่มเปิด ทางเริ่มชัด แลเห็นฝั่งลางๆ
.
กัปตันหันกลับไปด้านหลัง ตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทุกคนรัดเข็มขัด ทุกคนปลอดภัย ทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพียงเท่านั้นก็โล่งใจ
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในทุกเที่ยวบินก็คือความร่วมมือของทุกๆคน
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
Jet Stream – คือแถบกระแสลมแรงที่ระดับความสูงประมาณ 10 – 15 กม. หรือราวๆ 3 หมื่นถึง 5 หมื่นฟุต ซึ่งเป็นระดับชั้นความสูงที่เครื่องบินขนาดใหญ่ทำการบิน ความเร็วลมสูงมากถึง 200 – 400 กม./ชม.)
.
ภาพด้านล่างจาก ภาพโดย Mariakray จาก Pixabay
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL