เวลาบังคับเครื่องในห้องนักบินจะมีเครื่องวัดตัวหนึ่งชื่อว่า Attitude มีลักษณะเหมือนลูกโลกจำลอง แบ่งเป็นครึ่งล่าง (พื้น) และครึ่งบน (ท้องฟ้า) เส้นตัดแบ่งคือเส้นขอบฟ้าจำลองหรือเรียกว่า Artificial Horizon line
เครื่องวัดนี้ใช้ดูท่าทางของเครื่องที่เราบังคับอยู่ว่า ขณะนั้นเครื่องมีอาการอย่างไร เช่น หัวทิ่มไปไหม เครื่องเอียงขนาดไหน
เครื่องวัดนี้สำคัญมาก มีหลายเคสที่นักบินพาผู้โดยสารรอดพ้นอันตรายในยามคับขัน ด้วยเครื่องวัดตัวนี้ที่ช่วยให้นักบินแก้อาการเครื่องจากท่าทางที่ผิดเพี้ยนกลับมาเป็นปกติดังเดิม โดยเฉพาะยามบินเข้าสภาพอากาศที่ทัศนวิสัยไม่ดีและยากต่อการมองด้วยสายตา (IMC : Instrument Meteorological Conditions)
Attitude แปลว่า ‘เจตคติ’ ไม่ใช่ ‘ทัศนคติ’ อย่างที่เราคุ้นเคย
อันที่จริงคนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า Attitude หมายถึง ‘ทัศนคติ’ ต่อไปนี้คือคำอธิบาย
ทัศนะ (ทัด-สะ-นะ) คือ การเห็น / ความเห็น
เจต (เจ-ตะ) คือ ใจ / สิ่งที่คิด
คติ คือ แนวทาง
ทัศนคติ หมายถึง แนวความคิดเห็น ซึ่งลงลึกได้แค่เปลือก ขณะที่คำว่า ‘เจต’ กินลึกถึงระดับอารมณ์
เจตคติ จึงหมายถึง ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ความเห็นถูกส่งออกนอกและไม่ลึกเท่าจากสิ่งที่คิดจากข้างในแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นการกระทำ
คำนิยามของ Attitude ตามต้นฉบับภาษาอังกฤษแปลเป็นไทยได้ว่า “สิ่งที่คิดหรือสิ่งที่รู้สึกต่อบางคนหรือบางสิ่ง” ดังนั้นจึงสอดคล้องกับคำว่า ‘เจตคติ’ มากกว่า ‘ทัศนคติ’
สำหรับเครื่องวัดที่นักบินใช้อ่านค่าอีกสิ่งหนึ่งขณะทำการบินซึ่งมักสัมพันธ์กันกับ ‘Attitude’ นั้นก็คือ ‘Power’
อากาศยานทุกชนิดล้วนต้องใช้พลังในการขับเคลื่อน พลังเหล่านั้นมาจากเครื่องยนต์
เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ (Piston engine) จะใช้เครื่องวัดอ่านค่า Power ที่เรียกว่า Manifold pressure gauge หน่วยวัดเป็น Inches of mercury (inHg) ในขณะที่เครื่องยนต์ Gas turbine จะใช้เครื่องวัดในการอ่านค่า Power ที่เรียกว่า Torque gauge หน่วยวัดคือ Pound-Feet
แต่เพื่อให้ง่ายต่อการแปลผลของนักบิน หน่วยของ Torque จึงถูกแปลงค่าออกเป็นเปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ง่ายต่อการคำนวณประกอบการตัดสินใจ เพราะงานบนฟ้าไม่มีเวลาคิดเยอะ หน่วยวัดต่างๆจึงออกแบบมาให้ง่ายต่อการคิด
Power คือ พลัง และเมื่อ Attitude บวก Power จึงได้เท่ากับ Performance
Performance ในที่นี้หมายถึง “ประสิทธิภาพในการบิน”
ทุกเฟสในการบินจะปรับ Power และ Attitude ไม่เหมือนกัน ขณะไต่ใช้ท่าทางและกำลังเครื่องยนต์แบบหนึ่ง ขณะร่อนก็อีกแบบหนึ่ง ขณะบินตรงบินระดับที่ความเร็วต่างๆก็ปรับเป็นอีกแบบหนึ่ง
นี่คือสูตรสำคัญของการบังคับเครื่อง และการบังคับชีวิต..ก็เช่นกัน
ยามชีวิตมืดบอด มรสุมถาโถมเข้ามา ถ้า ‘เจตคติ’ ไม่ดี โอกาสพลาดมีสูง ยิ่งขาด ‘พลังใจ’ ชีวิตคงแทบสิ้นหวัง และถ้า Performance ของชีวิตหมายถึงการกระทำ (กรรม) เมื่อถอดสูตรคำนวณออกมาก็ไม่ต่างกันกับการบังคับเครื่องบิน
เข้าหลักการที่ว่า Attitude + Power = Performace หรือ ..
เจตคติ + พลังที่ขับเคลื่อน = กรรม
โดยสรุป Attitude ที่นักบินใช้ดูขณะบินจึงสำคัญมาก ส่วน Attitude ของชีวิตยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะสำคัญขนาดไหน
ยามเข้าสภาพอากาศที่มองไม่เห็นอะไรจากภายนอกเลย แล้วนักบินแก้ Attitude ขณะบินและปรับ Power ได้เหมาะสม ก็สามารถบังคับเครื่องให้บินต่อไปได้
เฉกเช่นชีวิตคนเรา ห้วงยามที่ดิ่งเหว ไร้ทางไปต่อ ไม่เห็นอะไรในเบื้องหน้า หากปรับ ‘เจตคติ’ได้ดี พร้อมมี ‘พลังที่ใช้ขับเคลื่อนชีวิต’
เพียงเท่านี้ก็ไปต่อได้ในทุกสถานการณ์
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL