มีคำกล่าวนึงว่าไว้
.
“A smooth sea never made a skilled sailor”
<ทะเลที่ราบเรียบมิอาจสร้างกะลาสีผู้เก่งกาจ>
.
ฉันใดก็ฉันนั้น บนท้องฟ้าก็เช่นกัน สำหรับวิชาชีพนักบิน ไม่มีใครผ่านการทำงานบนฟ้าได้โดยราบรื่นทุกเที่ยวบินแน่นอน บนเส้นทางนี้ มันมักจะมีเรื่องให้คอยขบคิดและแก้ปัญหาอยู่เสมอ
.
มีกลยุทธ์มากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้เหล่านักบินได้ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกคิด ใช้เป็นหลักยึดในการตัดสินใจ
.
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจของนักบินนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ขั้นสูงที่ไม่ใช่แค่การท่องจำสูตร รู้ทุกโมเดล ปราดเปรื่องทุกทฤษฎีแล้วจะมีการตัดสินใจที่เฉียบคม ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้โดยไม่สะดุดสักครั้ง
.
นี่คือศาสตร์ของ Problem Solving and Decision Making หนึ่งในเก้าสมรรถนะที่นักบินทุกคนต้องมี .. เป็นสิ่งที่ฝึกยากที่สุด ที่สำคัญ ต้องใช้คนฝึกให้เท่านั้น ใช้ AI ทำแทนครูฝึกไม่ได้แน่นอน
.
คีย์สำคัญของการตัดสินใจในการแก้ปัญหามีอยู่สองอย่างคือ ‘ต้องเหมาะสม’ และ ‘ทันเวลา’
.
ตำราการบินของนักบินพูดถึงกลยุทธ์หลัก 3 อย่างได้แก่ Algorithm, Heuristic และ Trail and error .. ต่อไปนี้คือคำอธิบายอย่างย่อ
.
1. Algorithm – กระบวนการแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอน
กลยุทธ์นี้นักบินเราถูกฝึกกันมาตั้งแต่วัยละอ่อน มันคือการปฏิบัติตามขั้นตอน การทำตามเช็กลิสต์นั่นเอง นี่คือวิธีมาตรฐานที่เรายึดถือปฏิบัติกันมา พวกเราจะถูกฝึกให้ท่องจำขั้นตอนสำคัญเมื่อเผชิญเหตุฉุกเฉิน แล้วทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้
แน่นอนว่าขั้นตอนต่างๆเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ผ่านการตกผลึกมาจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตทั้งสิ้น
ไม่ผิดที่จะบอกว่า ขั้นตอนต่างๆล้วนแล้วแต่ถูกเขียนขึ้นมาด้วยเลือด
.
2. Heuristic – กลยุทธ์การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
คือเทคนิคที่เหล่านักบินใช้ในการแก้ปัญหา พวกเราจะมีหลักคิดง่ายๆ มีวิธีคิดในใจให้รวดเร็ว เช่น กฎ Rule of Thumb ของนักบิน มีประโยชน์มากในการคำนวณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การคิดแก้ลม การแก้องศาของทิศทางหัวเครื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางและองศาที่เปลี่ยนไป การคำนวณความเร็ว ระยะทางและเวลา ซึ่งนักบินจะฝึกใช้สูตรคิดเหล่านี้อย่างชำนาญ ทำให้เกิดกระบวนการคิดในใจที่รวดเร็วมาก
.
3. Trial and Error – กระบวนการลองผิดลองถูก
ฟังชื่อกลยุทธ์นี้อาจรู้สึกขัดๆว่า มันจะดีเหรอ มาลองผิดลองถูกได้ไง แต่จะบอกว่า นี่คือหนึ่งในวิธีที่ถูกเขียนไว้ในตำรานักบินจริงๆ เพียงแต่การลองผิดลองถูกนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาระบบความคิด มันทำให้สามารถเข้าใจบางเรื่องได้อย่างลึกซึ้งและหาวิธีแก้ไขได้
ในอดีต ทุกท่าทางที่ตกผลึกมาให้นักบินฝึก เช่น ออโต้โรเตชั่นของนักบินเฮลิคอปเตอร์ ในยุคแรกๆนั้น เทคนิคการคอนโทรลเครื่อง ตั้งแต่เริ่มร่อน กระทั่งเครื่องถึงพื้นนั้น เชื่อได้เลยว่าไม่ใช่ทำแค่ครั้งเดียวแล้วเขียนสรุปขั้นตอนฝึกออกมาเผยแพร่ได้เลย มันผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน
และหากว่าเกิดข้อขัดข้องใดที่ไม่เคยมีตำราเล่มใดเขียนมาก่อน ไม่มีขั้นตอนบอก ไม่มีเช็กลิสต์ให้อ่าน ถึงตอนนั้นนักบินแทบต้องงัดทุกกลยุทธ์ที่มีเอามาใช้ และบางครั้ง มันก็คือเรื่องของ Trail and Error นั่นเอง
.
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ตอนฝึกศิษย์การบินใหม่ป้ายแดง ในท่าทาง Hovering (บินลอยตัวนิ่งๆ) ไม่มีใครทำได้ในชั่วโมงที่หนึ่ง ไม่มีใครทำได้ในครั้งแรกที่จับคันบังคับแน่นอน พวกเขาจะต้องผ่านการลองผิดลองถูกภายใต้การฝึกของครู
.
ออกแรงเพิ่มนิด เบาหน่อย มือขวาต้องจับแบบนี้ มือซ้ายต้องหิ้วแบบนี้ เท้าวางแบบนี้ ออกแรงเท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ยังไม่ใช่ ช้าไป เร็วไป .. เมื่อผ่านการฝึกไปสักพัก สมองจะจดจำสิ่งผิด เรียนรู้สิ่งถูก รู้ว่าสิ่งไหนที่ใช่และสิ่งไหนที่ไม่ใช่เอง
.
จากนั้นระบบความคิดในการแก้ไขจะไวขึ้น กระทั่งมีความเป็นธรรมชาติ ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างไม่สะดุด ฉะนั้นแล้ว เรื่องนี้คือเรื่องของ ‘ประสบการณ์’ ล้วนๆ
.
หากพิจารณาดูแล้ว จะเห็นได้ว่าการฝึกคนให้คิดเป็น ตัดสินใจได้อย่างมีกลยุทธ์ มีชั้นเชิงนั้น ไม่ใช่จะทำกันได้เพียงชั่วข้ามคืน ต่อให้โลกพัฒนา AI ถึงขีดสุด เชื่อได้เลยว่า ศาสตร์ด้าน Problem Solving and Decision Making สำหรับนักบินนี้ ใช้หุ่นยนต์สอนแทนคนไม่ได้แน่ๆ
.
เพราะสิ่งที่คนมีแต่ AI ไม่มีนั่นคือเรื่องของประสบการณ์ สันชาตญาณนักบิน และจิตวิญญาณ หรือ ‘ตัวรู้’
.
และต่อให้เอา AI มาบินเอง ก็ยังไม่เชื่อว่า AI จะสามารถพลิกแพลงโจทย์บนฟ้าในแต่ละเที่ยวบินได้ครบหมดทุกกระบวนท่า ต่อให้ป้อนฐานข้อมูลเหตุการณ์ฉุกเฉินบนฟ้าในอดีตทั่วโลกลงไป หากแต่เมื่อไร้ ‘ตัวรู้’ ไร้ซึ่ง ‘อารมณ์’ ใครจะกล้าการันตีความปลอดภัยของผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลัง
.
เพราะว่าท้องฟ้าไม่เคยเหมือนเดิมสักวัน มีโจทย์ใหม่ๆผุดขึ้นมาเสมอ .. อีกทั้ง AI ไม่คิดล่วงหน้าแน่นอน ในขณะที่นักบินที่ดีย่อมหมั่นเรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนนักบินที่ยอดเยี่ยมจะถูกสอนให้ฝึกคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเสมอ ครูสอนว่า จงคิดนำไปกว่าเครื่องบินที่เราบินอยู่หนึ่งก้าวเสมอ
.
<A good pilot is always learining, but a great pilot is always thinking ahead>
.
ส่วนกะลาสีที่เก่งกาจนั้น ย่อมไม่ได้ผ่านทะเลที่ราบเรียบมาตลอดทั้งชีวิตแน่ๆ .. การตัดสินใจและแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทำตามตำราหรือฐานข้อมูลที่มีเสมอไป มันต้องรู้จักพลิกแพลง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น
.
มันต้อง ‘เหมาะสม’ และ ‘ทันเวลา’
.

(ภาพนี้จากห้องพักผ่อนฝูงบิน 2 หน่วยบินเรือหลวงจักรีนฤเบศร
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL