ปลายทางสุดท้ายของการเรียนบินก็คือการขอสอบใบขับขี่ ใบนี้คือใบเบิกทางแรกสู่วิชาชีพที่ต้องหากินบนท้องฟ้า
.
ถ้าไม่นับเหล่านักบินทหาร ตำรวจ และบางหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่ได้บังคับให้นักบินในสังกัดต้องมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาขององค์กร ซึ่งก็จะมีมาตรฐานในการรักษาไว้ซึ่งปีกของพวกเขา เพื่อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลอยู่
.
แต่หากใครอยากจะไปโลดแล่นบนถนนนักบินพาณิชย์ ใบอนุญาตนักบินหรือ Licence คือสิ่งแรกที่ทุกคนต้องไขว่คว้ามันมาให้ได้
.
อ้างอิงตามกฎหมายการบินใหม่ของประเทศ มี Licence อยู่ 4 แบบ ต่อไปนี้คือสรุปย่อของประเภทใบอนุญาตเหล่านั้น
.
1. LAPL(H) – Light Aircraft Pilot Licence for Helicopters (ใบอนุญาตนักบินเครื่องบินเบาสำหรับเฮลิคอปเตอร์)
ใบขับขี่นี้ถูกออกแบบมาให้นักบินทำการบินได้กับเฮลิคอปเตอร์ที่มีเครื่องยนต์เดียวและมีน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม โดยที่มีผู้โดยสารนั่งอยู่บนเครื่องได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน เท่านั้น (ไม่รวมนักบิน)
.
LAPL(H) ถือเป็นใบขับขี่ระดับเริ่มต้น ถูกออกแบบมาโดยเน้นการบินส่วนตัว ไม่สามารถทำการบินเชิงพาณิชย์ได้ หมายความว่าบินรับจ้างไม่ได้นั่นเอง เหมาะกับคนมีเงินซื้อเฮลิคอปเตอร์มาใช้ส่วนตัวแค่นั้น เช่น บินพาครอบครัวไปเที่ยว หรือบินไปทำงาน อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ไม่สามารถทำการบินตอนกลางคืนได้
สาเหตุที่ออกแบบใบขับขี่ประเภทนี้มา ก็เพื่อคนที่อยากมีเฮลิคอปเตอร์ใช้ส่วนตัว และบางคนที่อาจจะอยากขับเฮลิคอปเตอร์เป็น แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกไปให้สุดกับสายอาชีพนี้ในฐานะนักบินอาชีพ หรือยังมีทุนในการเรียนไม่มาก จึงอยากลองเรียนให้จบเพื่อสอบให้ได้ใบขับขี่ระดับเริ่มต้นนี้มาถือไว้ก่อน ซึ่งต่อไปหากมีทุนทรัพย์เพิ่ม ก็สามารถไปเรียนต่อยอดเพื่อให้ได้ใบขับขี่ในระดับที่สูงขึ้นไปพร้อมสิทธิในการบินที่เพิ่มมากขึ้นตามมา
.
สำหรับหลักสูตรบินกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งใบ LAPL(H) นี้ ตามกฎหมายระบุชั่วโมงฝึกบินขั้นต่ำไว้ที่ 40 ชั่วโมง
.
2. PPL(H) – Private Pilot Licence for Helicopters (ใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคลสำหรับเฮลิคอปเตอร์)
.
ใบอนุญาตประเภทนี้สามารถทำการบินได้ตามสิทธิทุกอย่างที่ผู้ถือใบอนุญาตแบบ LAPL(H) มี นั่นคือสามารถทำการบินส่วนตัวได้ มีผู้โดยสารนั่งอยู่ในเครื่องได้ แต่ที่พิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาคือ สามารถบินกับเฮลิคอปเตอร์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กิโลกรัมได้ แต่ต้องไปฝึกบินเพิ่มเติมกับเฮลิคอปเตอร์เฉพาะแบบนั้นๆก่อน (มี Type Rating กับ ฮ.แบบที่จะไปบิน)
.
อีกทั้งใครถือ PPL(H) ยังสามารถไปเรียนต่อยอดสำหรับการฝึกบินกลางคืน เพื่อให้ได้ศักย์ในการบินกลางคืนเพิ่มขึ้นมา
.
และอีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษกว่าคือ ผู้ถือใบขับขี่แบบ PPL(H) ยังสามารถเรียนต่อเพื่อให้ได้ศักย์การบินครูการบินเพื่อไปทำการสอน ไปฝึกบินให้กับผู้ที่จะมาเรียนบินเฮลิคอปเตอร์สำหรับคอร์ส LAPL(H) หรือ PPL(H) โดยการสอนบินนี้ยังสามารถรับค่าตอบแทนได้อีกด้วย
.
สำหรับหลักสูตรบินกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งใบ PPL(H) นี้ ตามกฎหมายระบุชั่วโมงฝึกบินขั้นต่ำไว้ที่ 45 ชั่วโมง
.
โดยสรุป PPL(H) ให้สิทธิทางการบินที่มากกว่า LAPL(H) รวมถึงความเป็นไปได้ในการรับค่าตอบแทนในฐานะครูสอน ซึ่งใบขับขี่นี้เหมาะกับผู้ที่สนใจเข้าสู่วงการบินเชิงพาณิชย์ เพราะสามารถต่อยอดเพื่อเรียนให้ได้ใบขับขี่ในระดับที่สูงกว่านี้ได้ นั่นคือใบอนุญาต CPL(H)
.
3. CPL-H – Commercial Pilot Licence for Helicopters (ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีสำหรับเฮลิคอปเตอร์)
.
นี่คือใบขับขี่ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในวงการ เพราะมันคือใบเบิกทางที่จะพานักบินเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่การบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
.
สิทธิทำการบินสำหรับผู้ถือใบอนุญาตนี้นั้น นักบินสามารถบินได้ทุกอย่างที่ผู้ถือ LAPL(H) และ PPL(H) ทำการบินได้ หากแต่ยังสามารถทำการบินเชิงพาณิชย์เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนได้ด้วย
.
ธุรกิจต่างๆที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ทำมาหากินก็ต้องการนักบินที่ถือใบอนุญาต CPL(H) นี้
.
อุตสาหกรรมการบินกับเฮลิคอปเตอร์ที่กินกว้างไปมากกว่าการขนส่งผู้โดยสาร เช่น บินค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย บินบริการการแพทย์ฉุกเฉิน บินดับเพลิง บินส่งผู้โดยสารไปแท่นขุดเจาะ และอีกมากมาย
.
โดยนักบินที่ถือ CPL-H สามารถทำหน้าที่ผู้บังคับอากาศยานกับเฮลิคอปเตอร์แบบที่ต้องการคนบินแค่คนเดียวได้ หรือสามารถเป็นผู้ช่วยนักบินที่บินกับเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องใช้คนบินสองคน
.
สำหรับหลักสูตรบินกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งใบ CPL(H) นี้ ตามกฎหมายระบุชั่วโมงฝึกบินขั้นต่ำไว้ที่ 135 ชั่วโมง
.
สรุป CPL-H เป็นประตูสู่การบินเชิงพาณิชย์ คือใบเบิกทาง คือหมุดหมายแรกของคนที่ตัดสินใจเลือกเดินเข้าสู่วิชาชีพนี้
.
4. ATPL-H – Airline Transport Pilot Licence for Helicopters (ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกสำหรับเฮลิคอปเตอร์)
.
นี่คือใบขับขี่ระดับสูงสุดแล้ว ผู้ถือใบอนุญาตนี้ล้วนต้องเคยถือใบอนุญาต CPL-H มาก่อนทั้งสิ้น แน่นอนว่าสิทธิทำการบินย่อมสามารถทำได้ทุกอย่างที่ผู้ถือใบขับขี่ทั้ง 3 แบบข้างต้นทำได้ หากแต่สิ่งที่พิเศษกว่าก็คือ สิทธิการบินในฐานะผู้บังคับอากาศยานหรือตำแหน่งกัปตันของงานขนส่งทางอากาศเชิงพาณิชย์นั่นเอง
.
สำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์จบใหม่ป้ายแดง ที่ได้ใบขับขี่ CPL-H มาถือไว้ จะต้องออกไปทำงานสะสมชั่วโมงบินรวมให้ได้มากกว่า 1,000 ชั่วโมงก่อน จึงจะมีสิทธิสอบเพื่อให้ได้ใบขับขี่ ATPL-H มาครอบครอง (ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะพอควร เช่นต้องสอบทฤษฎีสำหรับ ATPL-H ให้ผ่านก่อน ต้องมีชั่วโมงบินกับเฮลิคอปเตอร์ที่ทำการบินมากกว่าหนึ่งคน ต้องมีชั่วโมงบินในฐานะผู้ควบคุมอากาศยานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้ เป็นต้น)
.
นอกจากใบอนุญาตนักบินเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 4 แบบนี้ นักบินจะมีศักย์การบินประดับตัวอีกยิบย่อยหลายอย่างเช่น ศักย์การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน ศักย์การบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆ และศักย์การบินครูการบิน เป็นต้น โดยที่ศักย์การบินเหล่านี้จะถูกประทับไว้ในเล่มใบอนุญาตนักบินเหล่านั้น
.
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานการบินที่จะไปทำ ความต้องการคุณสมบัติย่อยของนักบินในแต่ละภารกิจก็จะแตกต่างกันไป แต่สุดท้าย ปลายทางของการเรียนบินจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับวิชาชีพนี้ที่ยังคงทอดยาวออกไปอีกไกลลิบ
.
เส้นทางของวิชาชีพนักบินนั้นจะต้องเก็บเกี่ยวทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
.
มั่นใจได้เลยว่าระหว่างทางทุกคนย่อมพบเจออุปสรรคมากมายแน่นอน แต่เชื่อเถอะว่า อะไรได้มาง่ายๆมันไม่ขลังหรอก โดยเฉพาะนักบินคลื่นลูกใหม่ภายใต้กฎกติกาใหม่ของประเทศเวลานี้ บอกได้เลยว่า นักบินยุคใหม่ที่สอบได้ใบขับขี่ CPL-H ตามระบบใหม่ กระทั่งในอนาคตสามารถสอบและได้ ATPL-H ตามกติกาใหม่มาครอบครองนั้น ..
.
รับรองว่าใบขับขี่ของคลื่นลูกใหม่จะขลังกว่ารุ่นเก่าหลายโขแน่นอน
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL