วันนั้นลมแรง ขวางสนาม (Crosswind) ครูฝึกศิษย์เอาเครื่องร่อนลงที่สนามบินติดชายฝั่งทะเล แหล่งผลิตนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษ สีของน้ำทะเลหน้าร้อนดูสวยสดและงดงามเป็นพิเศษ
.
หากแต่วิวทะเลด้านซ้ายไม่ได้ช่วยทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย ดูเหมือนความตึงเครียดยังลอยวนอยู่ในห้อง Cockpit
.
ผมหันไปมองศิษย์ขณะฝึกบังคับแมลงปอเหล็ก ร่อนลงสนาม สายตาของศิษย์มองผ่าน Windshield (กระจกหน้าห้องนักบิน) โฟกัสไปที่จุดหนึ่งบนรันเวย์ มือกำคันบังคับแน่นหนัก เท้าคลออยู่ที่แป้นบังคับที่เท้า (Pedals)
.
การร่อนลงจอด นักบินจะทำในขาสุดท้ายที่เราเรียกกันว่าขา Final .. เราตั้งตัวที่ความสูงราวๆตึก 40 ชั้น
.
ก่อนทำ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่เรียกว่า Before Landing Check และตามต่อด้วย Final Check ทุกครั้ง ขั้นตอนเหล่านั้นคือเช็กลิสต์ เปรียบได้กับ ‘ศีล’ ของนักบิน
.
เจ้าหน้าที่ควบคุมที่หอบังคับการบินจะให้ข้อมูลต่างๆที่จำเป็นสำหรับนักบิน เอาไว้ใช้ประกอบการพิจารณาว่า เมื่อลงสนามควรจะต้องระแวดระวังอะไรบ้าง เช่น ค่าความกดอากาศ ทิศทางและความเร็วลม เพราะบางครั้งถ้าลมแรงและมีทิศทางขวางแนวร่อนลง การลงสนามในครั้งนั้นรับประกันได้ว่าหืดขึ้นคอ
.
การบินนั้น ‘ศีล’ ต้องไม่บกพร่อง เพราะมันกำกับในทุกสิ่งที่สำคัญก่อนนักบินจะนำเครื่องลงจอด เช่น คุณกางล้อรึยัง
.
สำหรับการร่อนลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ มีความต่างจากเครื่องบินค่อนข้างมาก ด้วยคาเรกเตอร์ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถบินขึ้น-ลงได้บนพื้นที่จำกัด
.
เฮลิคอปเตอร์ที่มีล้อจะสามารถร่อนลงสนามบินแบบเครื่องบินก็ได้ หรือจะบินมาหยุดที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วค่อยๆหย่อนตัวลงจอดก็ได้
.
ส่วนคอปเตอร์ที่ใช้ระบบฐานล้อ (Landing gear) เป็นแบบ Skids (หรือที่เรานิยมเรียกว่า ‘สกี’) ก็จะไม่ร่อนลงแบบวิ่งไปกับพื้น แต่จะบินลงมาถึงความเร็วที่ ‘ศูนย์นอต’ หยุดที่ท่าลอยตัวนิ่งๆใกล้ๆพื้นแล้วค่อยวางตัว ถ้าไม่ใช่การลงแบบฉุกเฉินจริงๆ ก็จะลงแบบนี้เป็นปกติ หากมีเหตุขัดข้องที่ต้องการความเร็วขณะบินลง เช่นระบบหางมีปัญหา ไม่สามารถบินมาหยุดลอยตัวนิ่งๆได้ ในเคสนี้แม้เป็น ฮ.ที่ใช้ระบบฐานล้อแบบสกี ก็จำเป็นต้องวิ่งไปกับพื้น ถูไถไปบนพื้นนั้น
.
เวลาฝึกใหม่ๆ ครูจะย้ำเสมอว่า ก่อนเริ่มร่อน ให้ตั้งตัวดีๆเอาไว้ก่อน ในขา Final เครื่องต้อง Stable ความหมายคือ ความเร็ว ความสูง ทิศทาง และอัตราร่อน ต้องอยู่ในโปรไฟล์ที่ถูกต้อง ไม่เบี่ยงเบนไปเยอะเกินความยอมรับได้ เข้าคอนเซปต์ที่เรียกว่า ‘Stabilized approach’
.
หากจะลงสนามแล้ว โปรไฟล์เครื่องไม่ได้ หรือ ‘Unstabilised Approach’ ต้องรีบตัดสินใจ ‘Go Around’ หมายถึง ไม่ลงต่อหรือยกเลิกการร่อนลง ให้ไต่ขึ้นไปแล้วค่อยบินกลับมาลงใหม่
.
เมื่อศิษย์เริ่ม ‘Start Approach’ หมายถึง เริ่มร่อนลง เมื่อพิจารณาแล้วว่าโปรไฟล์ของเครื่องใช้ได้ ครูจะขานคำว่า ‘Stabilized approach’
.
เมื่อเริ่มร่อน นักบินเฮลิคอปเตอร์จะต้องดักให้ทันกับอาการเครื่องต่างๆมากมาย
.
ลดกำลังเครื่องยนต์ (ลด Power) หัวเครื่องเปลี่ยน (แกน Yaw) ต้องกันเท้า หัวเครื่องทิ่ม (แกน Pitch กดลง) ต้องแก้หัว
.
แต่งมุมร่อนให้ได้ เลี้ยงจุดที่เล็งไว้ให้คงที่ คอนโทรลความเร็วให้ได้ .. ความเร็วจะถูกปรับอย่างประณีตโดยค่อยๆลดลงเรื่อยๆ เป้าหมายคือหยุดเครื่องไว้ที่ศูนย์นอต ที่ความสูง 5 ฟุต
.
เมื่อศิษย์บังคับปรับแต่งไปเรื่อยๆ จุดตั้งใจที่จะลงจอดซึ่งมองผ่าน Windshield ก็ค่อยๆเคลื่อนหลบลงไปที่ขอบล่างของกระจกหน้าห้องนักบิน หากเกิดลักษณะเช่นนี้เป็นที่รู้ว่ามุมร่อนเริ่มชันขึ้นแล้ว นักบินต้องรีบปรับ Power ใหม่ เพื่อกดให้เครื่องร่อนต่อ กลับกัน หากจุดที่เล็งไว้เริ่มลอยสูงขึ้น นั่นหมายถึงมุมร่อนเริ่มแคบไป ดังนั้นการรักษามุมร่อนจึงสำคัญ
.
ขณะเข้าใกล้พื้น สายตาต้องเหลือบมอง รักษาความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของเครื่องและพื้น กระทั่งความสูงอยู่ราวๆตึก 3 ชั้น
.
จังหวะนั้นต้องระวัง อาจเกิดสภาวะสูญเสียแรงยก เครื่องมีโอกาสสั่น นักบินต้องระมัดระวังและคอยเติมกำลังเครื่องยนต์ (เพิ่ม Power) ทีละนิดพร้อมๆกับคอยปรับแต่งความเร็ว
.
ครั้นเพิ่ม Power มา ต้องคอยดักหัวเครื่องที่จะคอยเปลี่ยนแปลงอีก
.
แก้กันไป แก้กันมา .. จนถึงความสูงราวๆ 5 ฟุต ไม่มีความเร็วแล้ว เพราะเครื่องหยุดนิ่งอยู่ในท่าลอยตัวที่ชื่อว่า ‘Hovering’
.
ลมที่ขวางซัดเครื่องเข้าด้านซ้าย ซึ่งพัดมาจากทะเลนั้น ทำให้เท้าที่คลออยู่บนแป้นบังคับแทบจะต้านไม่ไหว แต่นักบินจะต้องตรึงเท้าสู้ให้ได้ ความเร็วลมยังไม่เกินขีดจำกัดของเครื่อง การฝึกในสถานการณ์ Crosswind landing คือหนึ่งในบทเรียนที่ทุกคนต้องเจอ
.
มีอีกหลายเทคนิคที่ไม่ใช่อ่านตำราเองแล้วจะมาบินเองได้ เพราะนอกจากการฝึกในท่าทางปกติแล้ว ยังต้องพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ซึ่งครูจะสอนศิษย์ให้พึงระวัง และชวนคุยวิเคราะห์กับภัยล่อแหลมนานาที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละท่าทางการฝึก
.
ศิษย์ค่อยๆบังคับเครื่องลงบนพื้น เครื่องส่ายไปมาเล็กน้อย เหงื่อหยดซึมเป็นทาง ลมแรงขึ้น ผมพูดคำว่า “I have control’ ให้ศิษย์ปล่อยคันบังคับ เพื่อให้ศิษย์ได้ผ่อนคลาย
.
การบินร่อนลงสนามตามโปรไฟล์นี้ หากจะจินตนาการให้เห็นภาพ อาจเปรียบได้กับการขับรถลงทางลาดชันมุม 10 องศาจากพื้น ลงจากตึก 40 ชั้นมาหยุดที่ชั้นหนึ่ง ความเร็วรถก็เริ่มต้นที่ 110 – 130 กม./ชม. แล้วค่อยๆลดความเร็วมาเรื่อยๆจนกระทั่งหยุดนิ่ง หากแต่การบินมันไม่ง่ายเหมือนขับรถ โดยเฉพาะกับเจ้าแมลงปอเหล็กตัวนี้
.
เมื่อศิษย์ผ่อนคลายแล้ว ผมจึงพูดว่า “You have control” แล้วปล่อยคันบังคับให้ศิษย์
.
พลันหันไปดูสีน้ำทะเลนั้น มันก็ยังคงความงดงามอยู่เช่นเดิม
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL