Skip to content

เรื่องเล่าวันปล่อยเดี่ยวให้ศิษย์การบินรุ่น HP55

  • by
(บันทึกเมื่อ 6 เม.ย.67)
.
“Safety Fly Safety Mind”
.
คำนี้บ่งบอกว่าหัวใจของการบินคือความปลอดภัย เป็นสโลแกนประจำรุ่นของศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์รุ่นที่ 55 หรือ HP55
.
หลักสูตรการบินกับเฮลิคอปเตอร์เชิงพาณิชย์สำหรับรุ่นนี้ เราปรุงการฝึกเอาไว้ทั้งหมด 120 บทเรียน ใส่ผงชูรสที่มีรสชาติจัดจ้าน ผ่านการขบคิดปรับแต่งตามยุคตามสมัยมานานกว่า 50 ปี
.
และเมื่อพวกเขาผ่านการฝึกมาแล้ว 20 กว่าบท กระทั่งถึงบทเรียนของการบินปล่อยเดี่ยว บอกได้เลยว่าครูต้องใช้ทุกทฤษฎีของการสอน เพื่อใส่ปีกติดหาง ใส่หัวใจของความเป็นนก ทำให้ศิษย์สามารถบินเองได้
.
การทำให้คนที่ไม่เคยบินมาก่อนสามารถทำการบินได้ด้วยสมรรถนะของนักบินที่พร้อม งานเช่นนี้ไม่ง่าย .. งานครูการบินจึงถือเป็นตำแหน่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตนักบินของผม
.
ศิษย์การบินไม่ใช่เป็นเพียงแค่ศิษย์ แต่ยังถือเป็นผู้โดยสารบนเครื่องด้วย และผู้โดยสารคนนี้ที่ครูจะต้องปั้นให้เขาเป็นนักบินที่ดีให้ได้
.
ดังนั้นภาระหน้าที่ของคำว่า ‘ครูการบิน’ จึงต่างกับ ‘กัปตัน’ โดยทั่วไปตรงที่ว่า ครูการบินต้องเป็น ‘กัปตันและครูสอนบินในอากาศ’ ไปพร้อมๆกัน หมายความว่าดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของอากาศยานและผู้โดยสาร อีกทั้งต้อง ‘โค้ช’ ผู้โดยสารคนนั้นให้ ‘บินเป็น’
.
ศิษย์การบินตื่นเต้นแค่ไหนก่อนทำการบินปล่อยเดี่ยว บอกได้เลยว่า ครูการบินนั้นตื่นเต้นกว่าหลายเท่า .. ไม่มีใครลืมวันแรกได้ วันแรกที่ได้บินเดี่ยว วันที่การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เรา..ไม่ใช่ครู
.
ครูต้องงัดสารพัดวิธีเพื่อปลุกของดีในตัวศิษย์ออกมาให้ได้ เพราะครูเชื่อว่าศิษย์ทุกคนมีศักยภาพ และวงรอบการบินปล่อยเดี่ยวของศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ก็มาถึง
.
การฝึกให้คนบินได้ อาจไม่ยากเท่าการฝึกให้คนตัดสินใจเองได้อย่างไม่ลังเล ยามกางปีกบนฟ้า ไม่มีเวลาให้คิดเยอะ หนึ่งวินาทีเราเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 50 เมตร (ขึ้นอยู่กับความเร็ว) เกิดอะไรผิดปกติขึ้น ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ถูกต้อง และไม่ลังเล
.
การฝึกบินก่อนการบินปล่อยเดี่ยวมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงบทเรียนที่ 23
.
ผมต้องทำตัวเป็นอากาศขณะนั่งประเมินศิษย์ที่ทำการบินในวงจร เพื่อให้ศิษย์มั่นใจว่าเขาบินด้วยตัวเองได้ ตัดสินใจทุกอย่างเอง ให้เขาเชื่อมั่นว่าเมื่อไม่มีครูขึ้นบินด้วย ‘พวกเขาเอาอยู่’ บินได้ด้วยความปลอดภัย ตรงกับสโลแกนของรุ่นนี้ที่ว่า “Safety Fly Safety Mind”
.
หลังฝึกบินเสร็จ ต้องสอบอารมณ์ทุกครั้ง มองให้ทะลุถึงวิธีคิดของศิษย์
.
ก่อนปล่อยเดี่ยว ต้องทำ Oral Test ชวนคุย แล้วก็ถาม ถามแล้วก็ถามอีก ถามจากเหตุไปผล ย้อนจากผลมาเหตุ ค่อยๆซึมแทรกหลักคิดแบบ ‘โยนิโสมนสิการ’
.
คำถามปลายเปิด คำถามชวนคิด คือเทคนิคหนึ่งที่ใช้วิเคราะห์ศิษย์รายคน เพื่อดูความพร้อมของแต่ละคนทั้งความรู้ และสภาพจิตใจ
.
ก่อนการบินปล่อยเดี่ยว ครูต้องมั่นใจว่าศิษย์รู้ทุก Emergency ท่อง Procedure ในส่วนของ Immediate Action ได้ครบทุกท่าทางและไม่บกพร่อง
.
เมื่อปีกและหางเข้าที่เข้าทาง ทุกคนผ่านการสอบอารมณ์กันแล้ว ห้วงเวลาสำคัญก็มาถึง บทเรียนที่ 24 “Initial Solo”
.
และนี่คือวันแรกในชีวิตนักบินของการได้เป็น ‘กัปตัน’ เรียกว่าวัน ‘ปล่อยเดี่ยว’ หรือ ‘Solo Flight’ บินคนเดียวโดยปราศจากครูนั่งข้างๆ .. วันที่อยู่ในก้นบึ้งของความทรงจำแรกสุดสำหรับวิชาชีพนี้
.
สัปดาห์นี้มีความโล่งใจมากที่ศิษย์ทุกคนปล่อยเดี่ยวกันครบ ทำการบินด้วยความปลอดภัย มีความมั่นใจกันทุกคน .. ต่อจากนี้ก็เริ่มเข้าสู่ถนนของการบินที่เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
.
ราคาที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นคำว่า ‘วินัย’
.
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ภารกิจสำเร็จพร้อมความปลอดภัย’ กำไรที่ได้คือ ‘ความภาคภูมิ’ และที่สำคัญ ‘ไม่มีคำว่าขาดทุน’ สำหรับผู้ที่ตั้งใจ ..
.
เมื่อเลือกเดินบนทางนี้แล้ว ท่องไว้เสมอว่า “ต้องเป็นมืออาชีพให้ได้”
.
ต่อจากนี้บอกได้เลยว่า ถนนสายนี้ย่อมขรุขระ
.
แต่เชื่อเถอะว่า
.
“The best view comes after the hardest climb”
(วิวที่งดงามมักเผยให้เชยชมภายหลังการปีนป่ายที่แสนจะทรมาน)
….
สาระเพิ่มเติม
.
– Oral Test คือการทดสอบด้วยคำถามปากเปล่า ไม่ได้มีการทำข้อสอบในกระดาษ แต่เป็นการชวนคุย ถามคำถามสำคัญที่ศิษย์การบินควรรู้ก่อนทำการบินปล่อยเดี่ยว โดยส่วนใหญ่ครูจะเน้นในเรื่องคำถามชวนคิด ทดสอบดูว่าหากเกิดสถานการณ์ผิดปกติต่างๆ ศิษย์จะมีวิธีคิดอย่างไร และคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับเครื่องขณะทำการบิน ศิษย์จะต้องตอบให้ได้ทุกข้อ
.
– Emergency คือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ขณะทำการบิน
คำว่า Emergency ในที่นี้ ในการบินจะรู้ดีว่า ในทุกๆเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้น จะมีวิธีบังคับเครื่องอย่างไร และจะจัดการอย่างไรต่อไป ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม Procedure ที่ระบุไว้ในคู่มือการบิน
.
– Procedure คือขั้นตอนการปฏิบัติตามคู่มือการบิน โดยในทุกๆเฟสของการบิน ตั้งแต่เริ่มต้นตรวจเครื่องก่อนทำการบิน การสตาร์ตเครื่อง กระทั่งนำเครื่องวิ่งขึ้นบิน และนำเครื่องมาลงจอดนั้น จะมีขั้นตอนกำกับไว้ในคู่มือเสมอ
.
นักบินจะต้องปฏิบัติตามคู่มือนั้นตามลำดับขั้นตอน
.
– Immediate Action คือสิ่งที่นักบินจะต้องทำในทันที โดยยังไม่ต้องเปิด Procedure ดู โดยส่วนใหญ่คำว่า Immediate Action จะถูกเขียนกำกับไว้ในคู่มือการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขณะทำการบิน (Emergency Procedure) และนักบินจะต้องจำขั้นตอนเหล่านั้นให้ได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขณะบิน จะไม่มีเวลาให้นั่งนึกนาน ดังนั้นเมื่อไรเกิดเหตุที่ต้องบังคับเครื่องในทันที นักบินจะต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน
.
– HP ย่อมาจาก Helicopter Pilot เป็นตัวย่อสำหรับรุ่นของศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์ ในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเฮลิคอปเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น HP54 หมายถึงศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเฮลิคอปเตอร์ รุ่นที่ 54
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *