Skip to content

เราต้องไม่ใช่ ‘ผัก’

  • by
เมื่อคืนก่อนอ่านหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง หน้าปกมีดวงตาหนึ่งจ้องมองมาที่เรา คนเขียนเป็นชาวฝรั่งเศส ยังไม่ทันจะอ่านจบ เปลือกตาก็ค่อยๆปิดลง
ตื่นเช้ามา ก่อนออกจากบ้านเพื่อจะไปทำงาน เห็นปลาหางนกยูงในอ่างน้ำที่ซื้อไว้เมื่อปีก่อน เห็นผีเสื้อบินอยู่ริมรั้ว เห็นแมลงปอบินฉวัดเฉวียนไปมา ผมสงสัยในอายุของพวกมัน แล้วก็รีบขับรถไปทำงาน
.
ขณะขับรถ เห็นทัศนียภาพยามพระอาทิตย์เคลื่อนขึ้นขับขอบฟ้า
.
วันหนึ่งเราเห็นอาทิตย์ขึ้นและตกคราละ 1 ครั้ง นั่นเพราะเรามองจากบนพื้นโลกด้วยมุมมองของเรา แล้วในช่วงชีวิตนึงของเราจะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและลงสักกี่ครั้งเชียว
.
หากมองในสเกลที่ใหญ่กว่าก็คงบอกว่าไม่เท่าไหร่ เช่นนักบินอวกาศที่มองเห็นอาทิตย์ขึ้นและตกวันละ 16 ครั้ง จากระดับความสูง 430 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นแสนสั้นนัก
.
แต่หากมองจากสัตว์ที่มีสเกลที่เล็กกว่าก็คงจะอิจฉาอายุขัยของคน
.
ผมตั้งคำถามกับตัวเอง ..
.
แต่ละนาทีที่ผ่าน เราใช้ชีวิตคุ้มสักแค่ไหนนะ
.
สักพักก็มีเสียงในใจอีกเสียงถามกลับมาว่า คำว่า’คุ้ม’ในความหมายของคุณคืออะไร
.
ผมนิ่งนึก .. พยายามขุดคุ้ยหาความหมายของคำว่า ‘คุ้ม’ ให้กับตัวเอง
.
หากคิดแบบนักลงทุน ‘คุ้ม’ คือการได้กำไร ลงทุนแล้วต้องไม่ขาดทุน
.
หากคิดแบบคนไปกินอาหารบุฟเฟต์ ‘คุ้ม’ คือกินยังไงก็ได้ให้คำนวณออกมาแล้วรู้สึกสบายใจว่า อาหารที่ลงท้องไปมีมูลค่ามากกว่าตังค์ที่จ่าย
.
หากคิดแบบนายจ้าง ‘คุ้ม’ คือใช้งานลูกจ้างให้เต็มที่ ผลิตงานออกมาให้กับองค์กรให้มากที่สุด เรื่องอื่นไม่สน
.
จะว่าไปคำว่า ‘คุ้ม’ มักมีบริบทในเชิงกายภาพและในทางเศรษฐศาสตร์ หากแต่บางคนตีความหมายของคำว่า ‘คุ้ม’ ลุ่มลึกกว่านั้น .. เพราะมันอยู่ในใจ อะไรที่ได้ทำแล้วรู้สึกว่าไม่เสียชาติเกิด นั่นคือ ‘คุ้ม’ สำหรับเขา
.
ในโลกนี้มีผู้ชายอยู่คนหนึ่ง เป็นอัมพาต ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ขยับได้นอกจากเปลือกตาข้างซ้าย เขาเป็นชาวฝรั่งเศส
.
การสื่อสารกับผู้คนทำได้ด้วยการขยับเปลือกตา คนที่คุยกับเขาจะท่องอักษรฝรั่งเศสเรียงทีละอักษร เมื่อไหร่เขาเลิกเปลือกตาที่อักษรไหน คนคุยด้วยก็จะจดอักษรนั้นบนกระดาษ.. จดจนเป็นคำ .. จากคำเป็นประโยค ..
.
เขาไม่รู้ว่า ด้วยสภาพร่างกายที่เป็นอยู่นั้น จะทานทนได้อีกนานสักเท่าไร มีเสียงแว่วจากบางผู้บางคนบอกว่าเขาเป็นเหมือน ‘ผัก’
.
คำปรามาสนั้นดิ่งลึกสู่สติสัมปชัญญะที่เหลืออยู่ เขาจึงพิสูจน์
.
เขาตัดสินใจเขียนหนังสือ 1 เล่ม
.
เขาใช้เวลาที่เหลืออยู่ 2 เดือนกว่า ในการกระพริบเปลือกตากว่าสองแสนครั้ง กระทั่งได้ต้นฉบับจำนวน 130 หน้า
.
หนังสือชื่อ Le Scaphandre et le Papillon (ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของเขาขณะพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ถ่ายทอดความรู้สึกประหนึ่งว่าตัวเองใส่ชุดประดาน้ำ ขยับไปไหนมาไหนลำบาก แต่หัวใจนั้นโบยบินอิสระดั่งผีเสื้อ
.
สัปดาห์แรกหลังหนังสือถูกพิมพ์ออกมา หนังสือขายไปกว่า 146,000 เล่ม .. แม้เขาจะมีชีวิตอยู่ภายหลังหนังสือวางขายได้เพียงแค่ 3 วัน แต่สำหรับเขา มัน ‘คุ้ม’ แล้วที่ได้เขียนหนังสือจนจบ
.
และเขาไม่ใช่ ‘ผัก’
.
หนังสือขายตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 จนป่านนี้ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้ว ก็ยังถูกพิมพ์จำหน่ายอยู่ เพราะเรื่องราวในนั้นช่างเปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่า
.
หนังสือของเขาชำแรกความมืดมนอนธการของเพื่อนมนุษย์ที่สิ้นหวังให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่
….
ผมทำงานเสร็จ เมื่อกลับถึงบ้าน มองไปที่ขอบฟ้าเห็นพระอาทิตย์กำลังหลบตัวลง นึกถึงผีเสื้อ แมลงปอและปลาหางนกยูงเมื่อเช้า
.
หากปลาหางนกยูงอายุขัยเฉลี่ยสัก 2 ปี
.
แมลงปอ 4 เดือน
.
ผีเสื้อ ราวๆ 30 วัน
.
พวกมันคงอิจฉาช่วงเวลาของมนุษย์ แต่มันก็คงใช้เวลาให้ ‘คุ้ม’ ในแบบของมัน
.
ครั้นหยิบหนังสือเล่มที่อ่านค้างไว้เมื่อคืนมาอ่านต่อ ร่วมยี่สิบนาทีที่ผ่านไปกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้น
.
ผมวางหนังสือชื่อ ‘ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ’ ลงบนโต๊ะ ครุ่นคิดถึงคำว่า ‘คุ้ม’ อีกครั้ง
.
พอจะได้คำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งไว้กับตัวเองแล้วว่า
.
“แต่ละนาทีที่ผ่าน เราใช้ชีวิตคุ้มสักแค่ไหนนะ”
.
ที่สำคัญ เราต้องไม่ใช่ ‘ผัก’
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
-ชาวฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือด้วยการกระพริบตามีชื่อว่า ‘ฌ็อง โดมินิก โบบี้’ เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Elle เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกด้วยวัย 43 ปี (ปี ค.ศ.1995) หลังจากนั้นจึงรักษาตัวที่โรงพยาบาล เริ่มเขียนหนังสือด้วยการกระพริบตาในปี ค.ศ.1996
.
-วันแรกที่หนังสือออกจำหน่าย มียอดขายถึง 25,000 เล่ม
.
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *