Skip to content

เพื่อนที่ไว้ใจได้ของนักบิน

เวลาขับรถ เรามองถนน มองภายนอก ส่วนภายในเราดูเข็มความเร็วและเกจวัดน้ำมันเชื้อเพลิง มีบ้างที่ดูรอบเครื่องยนต์ .. แล้วถ้าบนฟ้า นักบินดูอะไร
.
หากกำลังขับรถบนถนนในวันที่มีฝน แล้วฝนสาดเข้ามา หนักขึ้นเรื่อยๆจนบดบังทัศนวิสัย ที่ปัดน้ำฝนก็เอาไม่อยู่ เข็มความเร็วไม่ช่วยอะไร ดีที่สุดคือจอดรถข้างทาง รอจนกว่าฝนจะเบาบางลง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นบนฟ้าขณะนักบินกำลังบินอยู่ นักบินจะทำอย่างไร
.
ดีที่สุดคือเลี่ยงไม่เข้าไปสู่สภาพอากาศแบบนั้น แต่หากจำต้องเข้าไปแล้ว นักบินจะเหลือเพื่อนที่ไว้ใจได้ไม่กี่อย่างอยู่ตรงหน้าของพวกเขา
.
มีเครื่องวัดอยู่ 6 ชิ้น ที่ถือได้ว่าเป็นเพื่อนตาย ที่นักบินทุกคนต้องรู้จัก อ่านค่าได้ และรู้ใจมัน
.
เวลาบินบนท้องฟ้า จะมีหลายแกนที่ต้องควบคุม ไม่เหมือนขับรถบนถนนที่มีแค่การเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาบนทางระนาบ ในขณะที่บนอากาศ มีความสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มิติจึงกว้างกว่า ท่าทางของมันจึงมีครบทุกแกน นักบินต้องรู้จักคำว่า Pitch (หัวเครื่องเชิดหรือกดลง) Roll (เครื่องเอียงข้างซ้ายหรือขวา) Yaw (หัวเครื่องส่าย ซ้ายหรือ ขวา)
.
.
ในทุกแกนที่นักบินต้องควบคุม นอกจากคันบังคับที่ใช้แล้ว จะมีแผงคอนโซลตรงหน้าที่นักบินใช้ดูประกอบเวลาบิน จะมีเครื่องวัดหลายอย่างมากมาย ยิ่งเครื่องใหญ่ๆยิ่งดูเยอะแยะลานตาไปหมด แต่จริงๆแล้ว มีเครื่องวัดอยู่ 6 ชิ้นหลักที่เรียกได้ว่า..เสมือนเป็นเพื่อนตายของนักบิน ทุกคนต้องมองมันพร้อมอ่านค่าได้ แปลผลได้ และควบคุมเครื่องไปด้วย
.
เคยมีเคสกรณีศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ของกองทัพสหรัฐ พบว่าในหมู่นักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมกับการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน เมื่อบินเข้าสภาพอากาศที่ไม่ดี มักพบว่าเกิดอาการหลงสภาพ หลงฟ้า หลงแผ่นดิน ทำให้สูญเสียการควบคุมเครื่อง และใช้เวลาไม่ถึง 56 วินาที เครื่องก็โค่น
.
การบินด้วยการมองที่เครื่องวัดเป็นหลัก โดยที่ไม่มองภายนอกเครื่องเลย เราเรียกการบินแบบนี้ว่า ‘การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน’
.
วลี “56 Seconds to live” สำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์จึงเกิดขึ้น (หมายความว่าหากนักบินบินเข้าไปสู่สภาพอากาศที่มองไม่เห็นภายนอกเลย เขามีเวลาแก้ไขไม่เกิน 56 วินาทีเท่านั้น)
.
สำหรับหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ทุกคนจะต้องผ่านบทเรียนการฝึกบินขั้นพื้นฐานกับเครื่องวัดประกอบการบิน (Attitude Instrument Flying) และนี่คือบทเรียนสำคัญ เป็นไฟลต์บังคับ
.
ครูจะเน้นย้ำถึง 3 หัวใจหลักที่ทุกคนจะต้องฝึกและทำให้ได้นั่นคือ ขณะบินจะต้องกวาดสายตามองเครื่องวัดทั้งหมดให้ครบ (Cross-Check) , ต้องแปลผลค่าที่อ่านได้ (Interpretation) และ ต้องควบคุมเครื่องได้ (Aircraft Control)
.
ทั้ง 3 อย่างนั้น นักบินจะต้องทำแทบจะพร้อมๆกัน เป็นไปโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญคือการแปลผลที่ถูกต้อง
.
เพราะค่าที่แสดงออกมาของเครื่องวัดทั้ง 6 ชิ้น จะช่วยให้นักบินรู้ได้ว่า ณ เวลานั้น เครื่องมีอาการอย่างไร อยู่ในท่าทางแบบไหน แม้นักบินมองไม่เห็นสิ่งต่างๆภายนอกเครื่อง นักบินก็สามารถแก้ไขท่าทางและควบคุมเครื่อง ทำการบินต่อไปได้
.
เครื่องวัดทั้ง 6 ชิ้นนั้นได้แก่
.
1.Attitude Indicator คือ เครื่องวัดท่าทางการบิน ใช้ดูท่าทางของเครื่องทั้งแนวแกน Pitch และ Roll
.
2.Altitude Indicator คือ เครื่องวัดระดับความสูง บอกให้นักบินรู้ว่าขณะนั้นเครื่องอยู่สูงเท่าไร
.
3.Airspeed Indicator คือ เครื่องวัดความเร็ว บอกว่าความเร็วขณะนั้นเป็นเท่าไร (หน่วยวัดความเร็วเรียกว่า ‘นอต’ หมายถึง ‘ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง’)
.
4.Vertical Speed Indicator คือ เครื่องวัดอัตราไต่และอัตราร่อน (ใช้หน่วยวัดเป็นฟุตต่อนาที)
.
5.Heading Indicator คือ เครื่องวัดทิศทาง บอกว่า ณ ตอนนั้น หัวเครื่องอยู่ที่ทิศทางไหน
.
6.Turn Coordinator หากแปลตรงๆจะหมายถึงเครื่องวัดการประสานการเลี้ยว เครื่องวัดนี้ใช้ดูสมดุลของเครื่องขณะเลี้ยว
.
(ใครอยากเรียนบิน ควรจำคำภาษาอังกฤษ เพราะคำศัพท์ทุกอย่างสำหรับการบิน รวมถึงคู่มือการบิน เราใช้ภาษาอังกฤษ และท่องจำเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด)
.
นอกจากเครื่องวัดทั้ง 6 ชิ้นนี้แล้ว ยังมีเครื่องวัดกำลังของเครื่องยนต์อีกหนึ่งชิ้นที่สำคัญ เพื่อให้นักบินได้ตรวจเช็ก Power ของเครื่องขณะบินด้วย แน่นอนว่าเมื่อสแกนดูเครื่องวัดทั้ง 6 แล้ว ต้องเหลือบมาดู Power ด้วยเช่นกัน
.
เวลาฝึกบิน ครูจะให้ใส่ Hoods หรือไม่ก็ Foggles บิน (Hoods มีลักษณะคล้ายๆหมวกที่มีแผ่นกำบังด้านหน้ายื่นออกมา ใช้บังไม่ให้ศิษย์การบินมองเห็นบรรยากาศภายนอกเครื่อง, ส่วน Foggles มีลักษณะคล้ายแว่นตา ที่มีส่วนที่ปิดการมองเห็นภาพในมุมกว้าง มีช่องให้มองเห็นผ่านได้แค่ภายใน Cockpit แค่นั้น) เพื่อมุ่งเน้นให้ฝึกบินด้วยการมองที่เครื่องวัดในเครื่องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
.
.
การสแกนดูเครื่องวัดของศิษย์การบินจนเกิดความชำนาญ ถือเป็นความท้าทายหนึ่งของครูการบิน เพราะศิษย์การบินแต่ละคนมีทักษะ ความช้าเร็วที่ต่างกัน
.
ครูมักสอนเสมอด้วยคำที่ท่องกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ครั้งศาสตร์การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินได้ถูกพัฒนาขึ้น คำพูดที่ว่า
.
“ต้องเชื่อเครื่องวัด อย่าเชื่อความรู้สึก”
.
คำนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก และมันพานักบินที่หลงเข้าสภาพอากาศโดยไม่ได้ตั้งใจให้รอดตายมาหลายรายแล้ว เพราะเมื่อนักบินได้รับการฝึกจนกระทั่งซึบซับ 3 หัวใจหลัก (Cross-Check, Interpretation, Aircraft Control) รวมถึงรู้ใจเพื่อนตายทั้ง 6 ชิ้น พวกเขาจะเอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน
.
และที่สำคัญ อย่าลืมว่าเรามีเวลาเพียง 56 วินาทีเท่านั้นในสภาพอากาศอันเลวร้าย แต่ดีที่สุดสำหรับนักบินก็คือ อย่าเอาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์ที่มันแย่
และนั่น..คือปราการขั้นแรกสุดที่นักบินทุกคนพึงกระทำ
.
สาระเพิ่มเติม
.
– การบินภายใต้สภาพอากาศที่จำกัด ที่เราไม่สามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอกเครื่องเลย หรือทัศนวิสัยต่ำกว่ากฎการบินที่กำหนดไว้ นักบินที่มีศักย์การบิน IR* สามารถเลือกบินด้วยกฎการบินแบบ IFR* ได้ โดยอากาศยานที่ใช้นั้นจะต้องได้รับการรับรองว่าสามารถทำการบินด้วยกฎการบินแบบ IFR ได้ด้วย
.
– IR ย่อมาจาก Instrument Rating
.
– IFR ย่อมาจาก Instrument Flight Rules
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *