“เขาถูกพ่อบังคับให้ซ้อมเปียโนทุกวัน”
.
เขาเบื่อ เขาอยากไปเล่นกับเพื่อน แบบที่เด็กทั่วไปได้เล่น เขาอายุ 5 ขวบ
.
ยุคนั้นไม่มีไอแพด แท็บเล็ต และมือถือ เขาถูกกดดันจากพ่อ
.
ผ่านไป 2 ปี เขาเริ่มชอบเปียโน ….ห้องเดิมๆ….เปียโนตัวเดิม….เสียงบ่นเดิมๆ….ไม่รู้เพราะความเคยชิน พรสวรรค์ พรแสวง หรือ โชคชะตา
.
แต่เขารู้ว่า เขาคือความหวังของครอบครัว ครอบครัวกำลังลำบาก เขาตัดสินใจเดินหน้าต่อ
.
สมองส่วน ‘อะมิกดาลา’ ตื่นตัว บอกให้เลือกระหว่าง Fight, Flight หรือ Freeze (สู้ หนี หรือ นิ่ง) เขาเลือกที่จะสู้ ความกลัวผลักดันให้เขาสู้
.
เขาไม่ได้กลัวที่พ่อบังคับเขา แต่เขากลัวครอบครัวลำบาก
.
‘เขาคิดได้เอง’ บางครั้งทางเลือกของคนเหมือนถูกขีดเส้นไว้แล้ว บางคนเลือกได้ บางคนจำต้องเลือก
.
4 ปี ผ่านไป เด็กอายุ 11 ขวบ แต่งเพลงได้เอง ทำงานในวงดนตรี หาเลี้ยงครอบครัวได้
.
ชีวิตโลดแล่นในวงการ พร้อมการเติบโตทางสังคม เขาเริ่มมีชื่อเสียง เขารังสรรค์ผลงานแหกกฎดนตรีร่วมยุคสมัยนั้น ดนตรีโรแมนติกเริ่มมาประชันดนตรีคลาสสิก เป็นอมตะไปอีกกว่า 200 ปี
.
แต่บันไดแห่งชีวิตมักมีอุปสรรคเข้ามาทดสอบเสมอ
.
วัย 26 ปี หูเขาเริ่มมีปัญหา เสียงคุยของคนรอบข้างเริ่มจางลง กระทั่งความเงียบสงัด เข้ามาแนบชิดอย่างถาวร .. หูของเขาหนวกสนิท
.
ชีวิตถูกคลื่นลูกใหญ่ถาโถม เขาคิดถึงวัยเด็ก เขาตรากตรำมาเพื่ออะไร พ่อเคี่ยวเข็ญเขาเพื่ออะไร ความชำนาญที่เขามี เขาจะทิ้งมันไว้ได้อย่างไร
.
เขาหลับตา และเริ่มใช้ใจแต่งเพลง
.
“โลกดนตรีของเขาไม่เคยหนวก แม้ภายนอกเขาไม่ได้ยินเสียงอะไร”
.
แต่ภายในเขาสามารถรับอารมณ์และความรู้สึกของทุกตัวโน๊ตได้อย่างหมดจด
.
เขาใช้ ‘มนายตนะสัมผัส’ คือ สัมผัสมันด้วยใจ แทนการได้ยินด้วยหู
.
‘เบโธเฟน (เบธโฮเฟน)’ ใช้หลักอิทธิบาท 4 อย่างเต็มเหนี่ยว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาใช้ ‘วิมังสา’ ด้วยมโนวิญญาล้วนๆ ความรู้เกิดขึ้นได้ทางใจ โดยไม่ต้องพึ่งอายตนะภายนอก คือเสียงอีกต่อไป
.
หนึ่งในผลงานเพลงอันโด่งดังของเขาชื่อ ‘Für Elise’ อ่านว่า เฟือร์เอลีเซอ
.
“เฟือร์..เอลีเซอ” เป็นภาษาเยอรมัน
.
“เฟือร์” คือ “ฟอร์ (For)” เอลีเซอ คือชื่อหญิงสาว
.
เพลง ‘แด่ เอลีเซอ’ เขาแต่งเพลงนี้ให้เธอ เธอผู้เป็นที่รักตลอดกาล
.
ดนตรีมี 3 ท่อน ท่อนแรก คือท่อนที่ทุกคนฟังแล้วต้องร้องว่า ‘อ๋อ’ เพราะคือท่อนที่คุ้นหูมากที่สุด ให้อารมณ์ชวนค้นหา ทะเยอทะยาน และมีเป้าหมาย
ท่อนที่สอง ฟังแล้วมีพลัง สนุกสนาน มีแรงบันดาลใจ
.
ท่อนที่สาม กระแทกด้วยทำนองที่เกรี้ยวกราด ระคนไปกับความเศร้า แต่ถูกโน้ตจากท่อนแรก วนกลับมาเล่นซ้ำใหม่ มีนัยว่า “เศร้าแล้วอย่าหยุด จงเดินหน้าต่อไป”
.
“ชีวิตทุกคนล้วนวนไปคล้ายตัวโน้ตของเพลง 3 ท่อนนี้”
.
แด่เธอ ผู้เป็นที่รักตลอดกาล
…..
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
*วิมังสา หมายถึง การไตร่ตรอง การทดลองและหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อหาเหตุผล ตรวจสอบข้อดี ข้อด้อยของสิ่งที่ทำ เพื่อนำไปสู่การวางแผน วัดผล และคิดค้นวิธีแก้ไขเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
.
* มโนวิญญาณ หมายถึง สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ทางใจ เป็นการน้อมจิตไปในธรรมารมณ์ทั้ง 3 ได้แก่ 1.น้อมจิตเพื่อเสพเวทนา 2.น้อมจิตระลึกถึงความจำ(การนึก) 3.น้อมจิตปรุงแต่งสังขารได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย, การคิดและการปรุงแต่งอารมณ์
.
เท่าที่ศึกษาประวัติบุคคลสำคัญมา มักพบว่า คนที่สร้างสรรค์สิ่งเหลือเชื่อให้กับโลกมักมีจิตใจที่แข็งแกร่ง เวลาทำสิ่งใดมักจะด่ำดิ่งด้วยสมาธิอันแน่วแน่ ยิ่งเป็นผู้พิการด้วยแล้ว จะมีบางสิ่งมาชดเชยให้กับพวกเขา คนเหล่านี้จะมีแรงขับและความมุ่งมั่นมากกว่าคนทั่วๆไป
….
ภาพหน้าปกโดย Ri Butov จาก Pixabay
.
ภาพด้านล่างโดย-S.-Hermann-F.-Richter-จาก-Pixabay
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL