สมัยฝึกภาคทะเล บนดาดฟ้าเรือช่วงกลางวัน แดดอาบเหล็กทั้งลำ นักเรียนนายเรือ(นนร.) จับสวบ(ไม้ถูพื้น) จับไม้กวาด สาละวนกันทำความสะอาดพื้นเรือ บางคนทำแค่ส่วนที่รับผิดชอบ บางคนทำเสร็จแล้วไปช่วยเพื่อนๆต่อ เรียกได้ว่า ‘อยู่แบบช่วยเหลือกันไป’ จะว่าไปแล้วมันคือภาพศิลปะกลางแดดอย่างหนึ่ง
.
เสียงเรียก “ครู” ก้องขึ้นในสมอง ยามนั้น คำเรียกว่า ‘ครู’ ถูกใช้เรียกรุ่นพี่นายทหารเรือทุกคน ไม่ว่าจะยศเรือตรียันนายพล ผู้น้อยจะเรียกผู้มีอาวุโสกว่าว่า ‘ครู’ ทั้งนั้น
.
หากทักษะของความเป็นผู้นำมีหลายระดับ ต้องบอกได้เลยว่า “เสด็จเตี่ย” มีครบครัน ไม่ว่าจะเป็น Commander / Teacher / Coach / Facilitator / Strategist / Diplomat / Unseen Leader และ Mentor (*อธิบายระดับทักษะผู้นำต่างๆอยู่ท้ายบทความ)
.
แต่ในทุกระดับนั้น เราๆคุ้นชินกับคำว่า “ครู” โดยเฉพาะทหารเรือ เราใช้คำนี้มามากกว่าร้อยปีแล้ว
.
ครั้งสมัยราชนาวีไทยยังมีขนาดเล็กและมีบุคลากรจำกัด ทุกคนจำเป็นต้องสวมหมวกหลายใบ หมายถึงทำงานหลายหน้า ทั้งการสอน และงานอื่นจิปาถะ ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นครู
.
แรกเริ่มเมื่อโรงเรียนนายเรือก่อตั้งมาได้ 5 ปี สามารถผลิตนายทหารเรืออกมาได้เพียง 4 นาย ความรู้ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นที่น่าพอใจ ทำได้ในระดับการอ่านและใช้แผนที่ แต่ยังออกทะเลเดินเรือไม่ได้ หากปล่อยให้นานไปเห็นจะไม่ได้การ
.
ร.5 จึงทรงแต่งตั้งให้เสด็จเตี่ย (สมัยนั้นยศนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์) เข้ามาช่วยวางหลักสูตรของโรงเรียนใหม่
.
เสด็จเตี่ยวางระบบ สร้างรากฐาน การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเข้มข้นแบบสากล เอาความรู้ที่ได้มาจากฝรั่งมาปรับใช้ ผ่านไป 3 ปี ราชนาวีไทยก็เอาเรือไป ‘อวดธง’ ยังต่างแดน นั่นคือครั้งแรกที่สยามประกาศให้โลกได้รู้ว่า เราไม่ต้องจ้างฝรั่งมาเดินเรือให้อีกต่อไปแล้ว
.
เป็นเพราะ 14 ปีก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสเอาเรือรบมาข่มขู่ เข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงเพราะคนไทยไม่สามารถขับเรือเองเป็น สมัยนั้นต้องจ้างกัปตันเดินเรือฝรั่ง ด้วยเหตุนี้ ร.5 จึงทรงส่งลูกๆไปเอาวิชาความรู้มาจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะวิชาการทหารเรือ
.
นอกจากวางกลยุทธ์ Set ระบบ ควบคุมบังคับบัญชา โค้ชนักเรียน สารพัดอย่างจะทำ เสด็จเตี่ยยังทรงเลือกสอนในหลายวิชาที่เชี่ยวชาญ เช่น ตรีโกณมิติ ดาราศาสตร์ วิชาการเรือ และอุทกศาสตร์ เช่นเดียวกับนายทหารเรืออีกหลายท่าน ที่ต้องแบ่งเวลามาช่วยกันสอนนักเรียนนายเรือ
.
หนึ่งคนทำหลายหน้าที่ สมัยบ้านเมืองไม่มีอะไรครบครัน ก็ต้องอยู่กันแบบช่วยเหลือกันไป
.
ครั้งการเมืองกระหน่ำ ทำพระองค์ออกจากรั้วของสมอไป 6 ปี เสด็จเตี่ยก็ค้นหาตัวตนใหม่ ในนามที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า ‘หมอพร’ เสด็จเตี่ยศึกษาวิชาแพทย์และช่วยรักษาผู้คนมากมาย ไม่เกี่ยงชนชั้น
.
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า เตี่ยทำครบจบทุกอย่างทั้งระดับ ผู้บังคับบัญชา ครู โค้ช ฟา นักวางแผนกลยุทธ์ และ นักการทูต
.
เตี่ยใช้ปรัชญาการทำงานแบบ “อยู่แบบช่วยๆกัน” ไม่ได้ทำแบบ “หน้าที่ใครหน้าที่มัน” อีกทั้งยังเข้าถึงคนทุกชนชั้น พูดได้เต็มปากว่าเสด็จเตี่ยคือเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงมีโอกาสคลุกคลีกับสามัญชน หรือ ‘ไพร่’ มากที่สุด
.
โดยเฉพาะในยามวิกฤต ไม่ว่าจะระดับประเทศ หรือระดับองค์กร ไล่มาถึงระดับกิจการเล็กๆ ปรัชญาการทำงานแบบ ‘ช่วยเหลือกัน’ มันช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ผ่านพ้นช่วงยามทุกข์เข็ญไปได้
.
เช้าวันหนึ่งขณะที่นักเรียนนายเรือใหม่กำลังขัดดาดฟ้าเรือกันอย่างงุ่มง่าม
.
“อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้” แล้วทรงทำงานให้ดูจนเสร็จ โดยมิได้ถือพระองค์เลย
.
อีกคราหนึ่งคือเรื่องเล่าจากพลเรือตรี ดาว เพชรชาติ เล่าให้ฟังสมัยท่านเป็นนักเรียนนายเรือว่า
.
“เสด็จมาจากไหน ข้าพเจ้าไม่ทันได้สังเกต ตรงมายังข้าพเจ้า รับสั่งว่า ‘ไม่ถูก ไม่ใช่ทำอย่างนั้น’
.
พร้อมกับยื่นพระหัตถ์มาขอไม้กวาดไปจากข้าพเจ้า แล้วพระองค์ท่านก็เอาไม้ปลายไม้กวาดกดลงกับพื้นอย่างหนัก แล้วกวาดไปขวาทีซ้ายทีอย่างแรงๆ สัก 3 – 4 หน แล้วหันมาทางข้าพเจ้า รับสั่งว่า ‘ทำอย่างนี้ – เอ้า’ ส่งไม้กวาดคืนให้กับข้าพเจ้า แล้วก็ทรงพระสรวลเบาๆ พร้อมกับหลีกนักเรียนไปยืนประทับทอดพระเนตรนักเรียนทำงานอยู่ทางท้ายเรือสุด..”
.
ผ่านไปหลายวันขณะนักเรียนนายเรือ ดาว เพชรชาติ กำลังทำงานอยู่ท้ายเรือ นายทหารที่เป็นเพื่อนสนิทกับพี่ชายของ นนร.ดาว ก็เข้ามาหา และพา นนร.ดาว ไปพบเสด็จเตี่ย พร้อมบอกเสด็จเตี่ยว่า นนร.คนนี้คือน้องชายของเพื่อนผู้ล่วงลับ (นายเรือเอก กลับ เพชรชาติ)
.
เสด็จในกรมฯพยักพระพักตร์พร้อมกับรับสั่งว่า
.
“จำได้ ตากลับ นักเรียนนายเรือเป็นลูกข้าทุกคน”
.
ถึงตรงนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มว่า ทำไม เตี่ยถึงเป็นผู้นำได้ถึงระดับ Unseen Leader และเป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมา นั่นคือระดับ Mentor เพราะว่าพระองค์ทรงเห็นทุกคนเป็นลูก และมองภาพรวมของการทหารเรือทั้งประเทศได้จบครบทุกมิติ จึงสามารถสร้างเหล็กในคนได้กล้าแกร่งอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 3 ปี
.
‘ครู’ สำหรับ ‘เตี่ย’ ของเราแล้ว กินความหมายรวบหมดไม่ว่าจะเป็น Commander / Teacher / Coach / Facilitator / Strategist / Diplomat / Unseen Leader และ Mentor
.
มันคือศิลปะในการพัฒนาศักยภาพคน อยู่ที่คนจะใช้ครบทุกระดับหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
.
ที่สำคัญ ในยามวิกฤต ‘อยู่แบบช่วยเหลือกัน’ มันน่าจะตอบโจทย์ให้กับองค์กรหลายแห่ง และกระตุกความคิดของบางคนที่คิดแค่เพียงว่า ‘ธุระไม่ใช่’
.
วันนี้วันที่ 19 พฤษภาคม ครบ 101 ปีแล้ว ที่เสด็จเตี่ยได้สิ้นพระชนม์ ณ ต.หาดทรายรี เมืองชุมพร อย่างสงบ ฝากชื่อ ‘อาภากร’ ไว้ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ
“ว่าตัวเราคือ ทหารเรือไทย”
.
นี่ก็ร้อยกว่าปีแล้ว ยังไม่เห็นจะมีใครที่ลืมพระองค์เลย
.
นี่คือตัวอย่างของผู้นำในระดับตำนานที่แท้จริง
.
เสียงก้องนั้นมันดังอยู่ในหู
.
“นักเรียนนายเรือเป็นลูกข้าทุกคน”
….
เกร็ดบางส่วนมาจากหนังสือ
.
“ให้โลกทั้งหลายเขาลือ :
.
เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ โดย ศรัณย์ ทองปาน
.

.
….
สาระเล็กๆน้อยๆเรื่องผู้นำ 7 ระดับ โดย อ.วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้เคยอธิบายไว้ และขอสรุปโดยย่อดังนี้
.
ระดับ -1 : Blamer
ผู้นำที่มีพฤติกรรมชอบตำหนิลูกน้อง มักเห็นจุดด้อยและข้อผิดพลาดของผู้คน ชอบมองแต่แง่ลบ ผู้นำลักษณะนี้อยู่ในระดับติดลบ
.
ระดับ 0 : Commander
ผู้นำที่มีพฤติกรรมชอบสั่ง เน้นการบังคับบัญชา ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผู้นำลักษณะนี้ อาจจำเป็นในยามศึกสงครามหรือยามวิกฤตที่ต้องการการปกครองควบคุมดูแลแบบเด็ดขาด
.
ระดับ 1 : Teacher
ผู้นำที่มีลักษณะของความเป็นครู ชอบสอนงาน ชอบอธิบาย เป็นระดับเริ่มต้นสู่ศิลปะของการนำคนที่เหลืออีก 5 ระดับ
.
ระดับ 2 : Coach
ผู้นำที่มีลักษณะโค้ช ใช้หลักการ “ฟัง ชม ถาม สะท้อนกลับ” ในการโค้ชคน ถนัดในการดึงศักยภาพของคนออกมาใช้งาน
.
ระดับ 3 : Facilitator
ผู้นำที่ถนัดการสร้างสถานการณ์เชื่อมโยงสิ่งต่างๆแบบองค์รวม กระตุ้นขีดความสามารถของคนให้เกิดขึ้นได้โดยคนๆนั้นไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าเป็นผู้วางพล็อตเรื่องไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น แล้วปล่อยให้คนเหล่านั้นเรียนรู้สิ่งต่างๆได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ
.
ระดับ 4 : Strategist
ผู้นำระดับนี้มีลักษณะเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ มีระดับความคิดที่ลึกล้ำ เป็นนักวางแผน มองใกล้เป็น มองไกลออก รู้เขา รู้เรา มองครบทุกมิติ
.
ระดับ 5 : Diplomat
เป็นผู้นำที่มีทักษะครบครันในทุกระดับ ผู้นำระดับนี้ใช้หลักการ “ชนะโดยมิต้องรบ” มีศิลปะของนักการทูต มองคนทะลุ มองถึงแก่น รู้ใจเขา รู้ใจเรา รู้จังหวะ รู้โอกาส รู้พลิกแพลง
.
ระดับ 6 : Unseen Leader
ผู้นำที่มีครบในทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด โดยแม้จะอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร ไม่ต้องโฆษณาตัวเอง ทุกคนก็พร้อมใจกันยอมรับในความเป็นผู้นำของเขา
.
ระดับ 7 : Mentor
ผู้นำในระดับตำนาน ที่แม้จะเสียชีวิตและกาลเวลาล่วงเลยไปสักกี่ร้อยกี่พันปี เรื่องราวของเขาจะยังคงถูกเล่าขานสืบต่อมา เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังๆได้นำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป
.