ห้องมืดๆ มีที่นั่งนักบิน มีคันบังคับ มีแผงหน้าจอและเครื่องวัดต่างๆเหมือนของจริง มองออกไปด้านหน้า เห็นจอกว้างโค้งรับทุกมุมมองของสายตา หน้าจอแสดงภาพจำลองบรรยากาศภายนอกเครื่องเสมือนจริง
.
ห้องจิ๋วๆกับแอร์เย็นเฉียบที่เมื่อได้นั่งแล้วเหงื่อแตกพลั่กๆ สมองประมวลผลเหมือนบังคับเครื่องจริงๆ ยิ่งเข้าห้องนี้ใหม่ๆ หลายคนก็มีอาการเมาแทบอ้วก มึนหัว สะบักสะบอมกันถ้วนหน้า
.
ทุกอย่างในห้องนักบินจำลองนี้ สามารถเล่นได้ กดปุ่มได้ บังคับเครื่องได้ ด้านหลังยังมีคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบ มีที่นั่งครูและหน้าจอสำหรับครูฝึก เอาไว้ป้อนสถานการณ์ต่างๆสำหรับฝึกศิษย์การบิน
.
ห้องนี้สามารถสร้างฝน หิมะ ใส่เมฆ ลม ใส่เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถ เรือ แท่นขุดเจาะกลางทะเล และอื่นๆลงไปในโลกเสมือนจริงนี้ได้
.
ครูฝึกสามารถใส่ข้อขัดข้องของระบบต่างๆลงไปได้ทุกระบบเพื่อฝึกการตัดสินใจของศิษย์การบิน ถือเป็นเครื่องครูชั้นยอด เป็นหนึ่งในเครื่องฝึกนักบินที่ควรมี
ห้องนี้เราเรียกว่าห้อง ‘Simulator’ หรือห้อง ‘เครื่องฝึกบินจำลอง’ นักบินหลายคนคุ้นเคยกันยิ่งนัก
.
ในหลายบริษัทใช้เครื่องนี้สำหรับการเทรนและเช็กนักบิน โดยเฉพาะเครื่องเกรดสูงๆระดับเทียบเท่าอากาศยานจริง เราสามารถใช้เช็กนักบินตามวงรอบประจำปีได้ รวมถึงการเช็กเพื่อขออัปเกรดตำแหน่งนักบินให้สูงขึ้น เช่น ขอเช็กเพื่อเลื่อนระดับจากผู้ช่วยนักบินไปเป็นกัปตัน
.
ถือได้ว่าเป็นเป็นห้องจิ๋วๆที่เปลี่ยนชีวิตนักบินมาแล้วหลายชีวิต .. เป็นทั้งห้องเช็ก ห้องเชือด ห้องโง่ และห้องแห่งการเรียนรู้ที่คุ้มค่าสุดๆ
.
‘Simulator’ มีหลายระดับ สำหรับเฮลิคอปเตอร์ในทางสากลสามารถแยกกลุ่มได้ดังนี้
.
1. Basic Instrument Training Device (BITD) – เป็นเครื่องฝึกขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ซับซ้อนมาก มุ่งเน้นให้ผู้ฝึกได้ทำความคุ้นเคยกับแผงเครื่องวัดและอุปกรณ์ต่างๆภายในเครื่อง
.
2. Flight and Navigation Procedures Trainer (FNPT) – เป็นเครื่องฝึกที่มีเกรดสูงขึ้นมาอีก มีภาพแสดงผลที่ละเอียดขึ้น แบ่งย่อยได้อีก 3 ระดับ สามารถใช้ฝึกได้เสมือนจริงมากขึ้น
.
3. Flight Training Device (FTD) – เครื่องฝึกบินที่มีคุณสมบัติสูง จำลองอุปกรณ์ต่างๆให้ใช้ได้เทียบเท่าของจริง แยกย่อยได้อีก 3 ระดับ (ตามมาตรฐานฝั่งยุโรป) แต่ถ้าฝั่งอเมริกาก็จะแยกออกถึง 7 ระดับเลยทีเดียว
.
4. Full Flight Simuator (FFS) – เครื่องฝึกบินจำลองขั้นสูงสุด ซึ่งมีความเหมือนอากาศยานจริงมากที่สุด มีระบบที่ซับซ้อน ห้องนี้จะมีการเคลื่อนไหวตามอาการของเครื่องที่นักบินบังคับ ให้ความรู้สึกเหมือนว่าบินอยู่กับเครื่องจริงๆ เครื่องแบบนี้จะแบ่งย่อยออกเป็น 4 ระดับ (A, B, C, D) ตามความซับซ้อนของระบบ .. เครื่องฝึกบินจำลองระดับ FFS นี้ ว่ากันว่าราคาแพงกว่าเฮลิคอปเตอร์จริงๆหลายเท่านัก
.
โรงเรียนการบินส่วนใหญ่จะเลือกใช้ Simulator แบบ FNPT และ FTD เนื่องจากสามารถใช้ชั่วโมงบินในห้องจิ๋วๆนี้มานับเป็นชั่วโมงการฝึกของหลักสูตรได้อีกด้วย แต่จะนำชั่วโมงมานับได้มากน้อยเท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับของ SIM ที่โรงเรียนเลือกใช้ ยิ่งใช้ SIM เกรดสูง ก็ยิ่งใช้ SIM ในการฝึกของหลักสูตรได้มากขึ้นตาม
.
อีกเหตุผลคือราคาของ FNPT และ FTD ก็ไม่สูงมากเท่า FFS แถมการดูแลรักษาก็ไม่ซับซ้อนเท่าด้วย
.
ส่วนบริษัทสายการบินต่างๆจะเลือก SIM แบบ FFS ในการฝึกให้กับนักบิน โดยเฉพาะการบินเปลี่ยนแบบ (ฝึกบินกับเครื่องแบบต่างๆที่บริษัทใช้ประกอบกิจการ) และการเช็กนักบินประจำปี เพราะ FFS นั้นใช้ฝึกได้แทบจะเทียบเท่าบินกับเครื่องจริง แถมประหยัดค่าน้ำมันมหาศาลมากหากเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องจริงในการฝึก
.
ห้องเล็กๆ แคบๆ กับแอร์เย็นเฉียบนี้ คือสะพานเชื่อมภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมาก ศิษย์การบินจะได้เห็นภาพ ได้ฝึก ได้ลองผิดลองถูก ได้ลองตาย ได้อ้วก ได้มึนงง ได้ตรัสรู้วิธีเอาตัวรอดในยามคับขัน และได้อีกสารพัดสารพันอย่าง
.
ยกตัวอย่างเช่น ในห้องเรียน นักเรียนไม่เข้าใจการใช้ระบบวิทยุนำทาง จินตนาการไม่ออก พอมานั่งในห้อง SIM ครูให้ลองบิน ให้ใช้อุปกรณ์จริงๆ เมื่อศิษย์เริ่มงง ครูก็กดปุ่มหยุดชั่วคราวได้ เพื่อหยุดการบินชั่วขณะ แล้วก็เริ่มอธิบายแบบ Step by Step
.
เมื่อศิษย์เริ่มปรับตัว คุ้นเคยกับ SIM มากขึ้น อาการเมา SIM ไม่มีแล้ว ครูก็เริ่มเพิ่มโหมดความยากขึ้นเรื่อยๆ ไล่ไปตั้งแต่การฝึกทำขั้นตอนต่างๆตามคู่มือไปจนถึงบางสถานการณ์ที่ต้องใช้การตัดสินใจภายใต้สภาวะที่กดดัน
.
เช่น ไฟไหม้ เครื่องยนต์ดับ ระบบไฟฟ้าขัดข้อง ระบบไฮดรอลิกมีปัญหา หรือแม้กระทั่งบินๆอยู่ดีๆ ฝนสาดมาหนักจนกระทั่งอากาศปิดมองไม่เห็นอะไร
.
จะบอกว่าจากเตรียมตัวมาเต็มร้อย พอมานั่งในห้องโง่นี้ ประสิทธิภาพของสมองลดลงไปมากกว่าครึ่งแน่นอน
.
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ศิษย์ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องซ้อม ต้องทำซ้ำ ต้องประยุกต์ ต้องใช้สมองส่วนหน้าเผชิญกับทุกสถานการณ์ในห้องเล็กๆที่ถูกป้อนโปรแกรมสุดหินเอาไว้
.
แต่เชื่อเถอะว่าห้องนี้มีประโยชน์มหาศาลมาก บอกได้คำเดียวว่า
.
“Train hard in the sim, fly safe in the sky”
.
ตั้งแต่โรงเรียนมี Simulator เฮลิคอปเตอร์ สำหรับใช้ฝึกศิษย์การบิน สถิติพัฒนาการในการเรียนรู้ของศิษย์รุ่นหลังๆก็ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด ความมั่นใจที่ครูมีต่อศิษย์ก่อนปล่อยให้พวกเขาขึ้นไปบินเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นมาเยอะ
.
ยิ่งเชื่อมั่นมากขึ้นอีกว่า เมื่อศิษย์ก้าวพ้นออกจากรั้วโรงเรียน ออกไปนั่งกุมบังเหียนให้บรรดาผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังและฝากชีวิตไว้ ตลอดเที่ยวบินจะเป็นไปด้วยความราบรื่นและปลอดภัยอย่างแน่นอน
.
ห้องเล็กๆแบบนี้ ถึงจะแพง แต่โคตรคุ้มเลย
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL