Skip to content

หัวใจ 6 อย่างของ PIC (Pilot In Command)

ในวงการบิน มีคำเรียกตำแหน่งหน้าที่ของนักบินมากมาย มีอยู่บทบาทหนึ่งที่สำคัญ และมีคำหลายคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ บางคำมีความหมายคล้ายๆกันและก็เรียกเหมารวมกัน ใช้ตามต่อๆกันมา บทความนี้จะเจาะลึกถึงคำว่า Captain (กัปตัน) PIC (Pilot in command) และ Commander
.
ในทุกเที่ยวบินจะต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดใหญ่หรือเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องใช้นักบินมากกว่าหนึ่งคน ระบบบนเครื่องจะมีความสลับซับซ้อนมาก จำเป็นต้องใช้นักบินสองคนบิน แบ่งเป็น กัปตัน และนักบินผู้ช่วย (Captain และ Co-Pilot)
.
ในขณะที่เวลาบินจริงๆ จะมีหมวกอยู่อีก 2 ใบแทนหน้าที่ของ ‘คนบิน’ และ ‘คนมอนิเตอร์’ (ภาษาการบินใช้คำว่า PF : Pilot Flying และ PM : Pilot Monitoring) ซึ่งหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้อาจสลับกันทำได้ ขึ้นอยู่กับหน้างานจริง หมายความว่าคนที่เป็นกัปตัน ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ PF หรือบังคับเครื่องในเที่ยวบินนั้นเสมอไป ระหว่างบินอาจสลับกันสวมหมวก PF หรือ PM กันได้ เรื่องนี้คือเรื่องของหน้าที่ขณะบิน แต่ความรับผิดชอบหลักในการตัดสินใจต่างๆจะเป็นของนักบินที่สวมบทบาท PIC เสมอ
.
คำว่า PIC นั้น หากอ่านข้อบังคับทางการบินฉบับภาษาไทยจะแปลว่า ‘ผู้ควบคุมอากาศยาน’ ส่วนนิยามหลักสากลของคำว่า PIC หมายถึงผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในความปลอดภัยและการปฏิบัติการบินในเที่ยวบินนั้นๆไม่ว่าจะกำลังบังคับเครื่องหรือไม่บังคับเครื่องอยู่ก็ตาม ซึ่งความรับผิดชอบหลักจะอยู่ที่นักบินคนนี้ เขาคือผู้รับผิดชอบสูงสุดในเที่ยวบินนั้น
.
ส่วนคำว่า ‘กัปตัน’ และ ‘Commander’ ซึ่งคนทั่วๆไปมักคุ้นที่จะเรียกว่า ‘กัปตัน’ ความหมายในบริบทนี้คือนักบินที่มีตำแหน่งเป็น Commander ของบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ ซึ่งการจะได้มาซึ่งตำแหน่งนี้ นักบินจะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมมากขึ้น มีชั่วโมงบินที่สูง และผ่านคอร์ส Command Upgrade Course ที่ถูกกำหนดไว้ตามแต่ละองค์กรกันมาก่อน
.
‘กัปตัน’ หรือ ‘Commander’ เป็นตำแหน่งที่มีรายได้สูงมาก เป็นตำแหน่งในฝันของนักบินทุกคน
.
ในบางครั้งนักบินที่มีตำแหน่งเป็นนักบินผู้ช่วยของบริษัทก็อาจถูกเรียกว่า ‘กัปตัน’ ได้ หากว่าในเที่ยวบินนั้นเขาทำหน้าที่เป็น PIC
.
ถามว่านักบินผู้ช่วย (Co-Pilot) ทำหน้าที่เป็น PIC บนเที่ยวบินได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ในวงการบินเราจะเรียกบทบาทนี้ว่า PICUS (Pilot In Command Under Supervision)
.
PICUS ถูกออกแบบมาสำหรับนักบินที่ถือใบอนุญาตนักบินแล้ว แต่ยังมีตำแหน่งเป็นนักบินผู้ช่วยอยู่ และต้องการสะสมชั่วโมงบินในฐานะ PIC เมื่อมีชั่วโมงบินแบบ PIC มีมากพอก็จะขอเข้าคอร์ส Command Upgrade ได้
.
เป็นการต่อยอดความก้าวหน้าในสายอาชีพ เพื่อมุ่งสู่ตำแหน่ง Commander พร้อมรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามความรับผิดชอบนั้น
.
ซึ่งเขาจะได้บินในฐานะ PIC ภายใต้การกำกับดูแลของ ‘Commander’ หรือ ‘กัปตัน’ ตัวจริงอีกทีหนึ่ง
.
แล้วศิษย์การบินที่กำลังเรียนบินอยู่สามารถบินในฐานะ PIC ได้ไหม คำตอบคือได้แน่นอน ในบางเที่ยวบินที่ศิษย์การบินต้องทำการบินคนเดียวหรือที่เราเรียกกันว่า Solo Flight นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการบินในบทบาท PIC เช่นกัน หรือในบางเที่ยวบินที่ศิษย์การบินทำการฝึกบินกับครู แต่เที่ยวบินนั้นถูกออกแบบให้ฝึกบินโดยศิษย์การบินต้องสวมบทบาทของการเป็น PIC
.
สำหรับเคสนี้วงการบินเราจะเรียกว่า SPIC หรือ Student Pilot In Command นั่นเอง
.
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่านักบินผู้ช่วยหรือศิษย์การบิน ก็สามารถบินในฐานะ PIC ได้ แต่ต้องบินภายใต้การกำกับดูแลของ Commander หรือ ครูการบิน ถามว่ากำกับดูแลอย่างไร ยกตัวอย่างศิษย์การบินทำการบินโดยสวมบทบาท SPIC ครูการบินจะฝึกให้ศิษย์การบินรับผิดชอบเที่ยวบินนั้นทุกอย่าง ตัดสินใจเองทุกอย่าง ตั้งแต่ที่พื้น จนกระทั่งเครื่องบินขึ้นไปจนจบภารกิจและบินกลับลงมาด้วยความปลอดภัย
.
อีกกรณีคือ ในยามเครื่องเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉินเช่น ‘กัปตัน’ หมดสติ และเหลือนักบินผู้ช่วยคนเดียวในขณะนั้น นักบินผู้ช่วยก็จำเป็นต้องทำหน้าที่แทน ‘กัปตัน’ ได้ นั่นคือสวมบทบาทของ PIC ในทันที
.
หัวใจของการเป็น PIC มีดังต่อไปนี้
.
1. Ensuring Safety (รับผิดชอบความปลอดภัย) – ผู้ที่เป็น PIC ต้องทำให้มั่นใจว่าตลอดเที่ยวบินนั้น การปฏิบัติการทุกอย่างเป็นไปด้วยความปลอดภัย
2. Making Critical Decisions (ตัดสินใจ) – PIC ต้องตัดสินใจได้ทันที ถูกต้อง ฉับไว และแม่นยำ โดยเฉพาะการตัดสินใจในห้วงยามวิกฤต
3. Pre-Flight Responsibilities (ความรับผิดชอบก่อนบิน) – ทุกหน้าที่ตั้งแต่เตรียมการก่อนขึ้นบิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผน วิเคราะห์สภาพอากาศ คำนวณน้ำมันเชื้อเพลิง การบรีฟก่อนบิน การตรวจเอกสารประจำอากาศยานก่อนขึ้นบิน ทั้งหมดทั้งมวลนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ PIC ทั้งสิ้น
4. In-Flight Duties (บริหารจัดการหน้าที่บนเที่ยวบิน) – การบินคือการทำงานเป็นทีม ยิ่งบนเครื่องขนาดใหญ่ มีลูกเรือ มีพนักงานตำแหน่งต่างๆหลากหลายหน้าที่ รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศด้วย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทักษะในการจัดการการแบ่งภาระหน้าที่ การควบคุมให้ทุกภาคส่วนทำงานตามหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
5.Emergency Authority (อำนาจในการตัดสินใจยามฉุกเฉิน) – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขณะทำการบินนั้น ใครเป็นผู้ตัดสินใจหลัก และ PIC ย่อมมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจแก้ไขปัญหานั้น แม้ว่าในบางครั้งอาจต้องละเลยการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกฎระเบียบบางอย่าง หากว่าสิ่งที่ทำนั้นจำเป็น ทั้งนี้ต้องทำไปเพื่อความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ
6. Post-Flight Reporting (การรายงานหลังการบิน) – PIC ต้องรับผิดชอบจวบจนขั้นตอนสุดท้ายของเที่ยวบิน ไม่ใช่แค่นำเครื่องกลับมาลงแล้วดับเครื่องยนต์เป็นอันจบภารกิจ หากแต่ต้องตรวจเครื่องหลังบิน รับผิดชอบการกรอกเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีหากเที่ยวบินนั้นมีข้อขัดข้องอะไร PIC จะต้องรายงานทุกครั้งที่พบเจอด้วย
.
ความรับผิดชอบในฐานะ PIC นั้นสำคัญมาก ต้องใช้ทักษะ ความคิด ความรู้ การตัดสินใจ การบริหารจัดการ รวมถึงมีทัศนคติและเจตคติที่ดี เพื่อนำพาเครื่องขึ้นบินกระทั่งบรรลุภารกิจและกลับมาลงได้ด้วยความปลอดภัย
.
ส่วน Commander หรือ กัปตัน อาจเปรียบได้กับชั้นยศ เสมือนหัวโขน มีค่าตัว มีความรับผิดชอบที่สูงมาก และกว่านักบินจะได้เป็น Commander ได้นั้น ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน
.
วิชาชีพนี้ไม่มีโชค มีแต่ฝีมือและการตัดสินใจที่แม่นยำล้วนๆ ฝีมือที่ว่านี้รวมอยู่ในองค์ประกอบ 3 อย่างที่ชื่อว่า Knowledge (ความรู้) Skills (ทักษะ) และ Attitudes (เจตคติ) แล้วแตกย่อยออกได้เป็นกุญแจสำคัญ 6 อย่างของการเป็น PIC ตามที่ได้กล่าวมา
.
กัปตัน Richard de Crespigny (กัปตันสายการบิน Qantas ชาวออสเตรเลีย) เคยกล่าวไว้ว่า
.
“When you are the captain, the burden of responsibility cannot be passed on. You are the last line of defense in the face of risk”
.
<เมื่อไรคุณเป็นกัปตัน ภาระความรับผิดชอบมิอาจส่งต่อให้กันได้ คุณคือปราการด่านสุดท้ายที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงนั้น>
.
กัปตันก็ดี Commander ก็ดี รายได้ที่สูงลิบจึงต้องแบกไว้บนหัวโขนที่หนักอึ้ง ความปลอดภัยของทุกคนบนเครื่องจึงฝากไว้กับตำแหน่งหน้าที่นี้ .. ผู้ที่ต้องสวมหัวใจของ PIC ให้ครบเครื่อง
.
บทบาทนี้จึงถือได้ว่าสำคัญยิ่งในทุกๆเที่ยวบิน
….
สาระเพิ่มเติม
.
กัปตันริชาร์ดที่กล่าวถึง คือกัปตันที่บิน Airbus A380 เมื่อปี 2010 เที่ยวบินที่ 32 ขณะเครื่องบินขึ้นจากสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ผ่านไปไม่ถึง 4 นาที เครื่องยนต์มีอาการขัดข้อง ต้องรีบนำเครื่องกลับมาลงจอด และสามารถกลับมาลงจอดที่สนามบินได้ด้วยความปลอดภัย ด้วยการตัดสินใจของความเป็น PIC อย่างมืออาชีพ เหตุการณ์ในครั้งนั้นผู้โดยสารทั้ง 469 คนและลูกเรือทั้งหมดปลอดภัย
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *