การทำวงจรการบินสำหรับอากาศยาน เปรียบได้กับการวาดเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนอากาศ โดยมีเส้นยาวด้านหนึ่งทาบตัวอยู่บนรันเวย์ นั่นคือเส้นสุดท้ายที่เอาไว้บินลง และมันคือเส้นวิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน .. ทุกปีกบนฟ้าเริ่มต้นที่เส้นนี้
.
ส่วนเส้นที่เหลือ จะวาดวนไปทางซ้ายหรือวนไปทางขวาก็ได้ มันคือวงจรซ้ายและวงจรขวานั่นเอง
.
องค์ประกอบของวงจรการบินประกอบไปด้วย
.
1. Upwind leg : ขาวิ่งขึ้น เริ่มจากเครื่องตั้งตัวบนรันเวย์ เมื่อนักบินทำขั้นตอนตามคู่มือก่อนวิ่งขึ้นเรียบร้อย ก็พร้อมวิ่งขึ้น (Takeoff) บังคับเครื่องขึ้นบินไปตามทิศทางของรันเวย์ อยู่ในขาที่เรียกว่า Upwind มันคือขาบินทวนลม ทิศทางลมจะพัดสวนมา อากาศยานทุกชนิดต้องการวิ่งขึ้นในขาทวนลม
.
2. Crosswind leg : ขาขวางลม เมื่อเครื่องลอยขึ้นมาถึงระดับความสูงหนึ่ง จะเริ่มเลี้ยวไปในทิศทาง 90 องศาจากขา Upwind หากเลี้ยวซ้ายก็จะเรียกว่าวงจรซ้าย หากเลี้ยวขวาก็เข้าสู่วงจรขวา ในขานี้ลมจะขวาง นักบินจะคอนโทรลยากกว่าปกติ ไหนจะต้องไต่ไปด้วย เลี้ยวไปด้วย รักษาความเร็ว อัตราไต่ และทิศทางไปพร้อมๆกัน
.
3. Downwind leg : ขาตามลม การเข้าสู่ขาตามลม คือการบินขนานกันกับแนวรันเวย์ นักบินจะวางระดับความสูงที่คงที่ไว้ที่ความสูงหนึ่ง ทำเช็กลิสเตรียมตัว Landing (ทำขั้นตอนเตรียมตัวร่อนลงจอดสนามบิน เช่น กางล้อ เปิดไฟ ดูค่าพารามิเตอร์ต่างๆที่สำคัญก่อนร่อนลงจอด) ในขานี้ลมจะส่งท้าย เป็นการบินตามลม
.
4. Base leg : ขานี้เปรียบเสมือนฐานของการเตรียมความพร้อมในการร่อนลงจอด นักบินจะลดระดับความสูง เลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง 90 องศาจากขา Downwind จะว่าไปขานี้ก็ถือว่าบินขวางลมด้วย นักบินจะเตรียมเลี้ยวต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่แนวร่อนของรันเวย์ (แนว Final) การเลี้ยวเพื่อตั้งตัวให้ตรงแนวรันเวย์นั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะตอนฝึกบินใหม่ๆ
.
5. Final Approach leg : คือขาสุดท้ายที่จะเริ่มร่อนลงจอด นักบินจะทำตามขั้นตอน Final เช็กลิส ก่อนนำเครื่องลงจอดบนรันเวย์ เริ่มลดความเร็ว ลดความสูง ปรับแต่งมุมร่อน กระทั่งเครื่องลงสัมผัสพื้นสนาม
.
โดยทั่วไปเครื่องบินจะใช้ความสูงในขา Downwind 1,000 ฟุต สำหรับเฮลิคอปเตอร์ใช้ความสูง 500 ฟุตเหนือพื้น ทั้งนี้ระดับความสูงอาจปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละสนามบินมีภูมิประเทศและสิ่งกีดขวางโดยรอบที่แตกต่างกัน
.
แล้วถ้าไม่ใช้การบินขึ้นลงสนามบินทั่วไปจะวาดเส้นวงจรการบินอย่างไร
.
เฮลิคอปเตอร์สามารถบินขึ้นลงบนพื้นที่เล็กๆที่ไม่จำเป็นต้องมีความยาวเหมือนเช่นรันเวย์ได้ การบินลงในพื้นที่ต่างๆ นักบินก็จะลากเส้นสี่เหลี่ยมนี้บนอากาศ โดยพิจารณาจากทิศทางลมและสิ่งกีดขวาง โดยทาบแนวของขา Upwind / Final ให้อยู่ในแนวที่วิ่งขึ้นทวนลมให้มากที่สุดและปลอดภัยจากสิ่งกีดขวาง (ทั้งแนวร่อนลงและแนววิ่งขึ้น)
.
บางครั้ง แนวที่เลือกไว้อาจไม่ได้วิ่งขึ้นทวนลมแบบเป๊ะๆ ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยเทคนิคการคอนโทรลเครื่องในสภาวะลมขวาง สำหรับนักบินก็เรียกได้ว่า..ยากพอควร
นอกจากพื้นที่เล็กๆโดยทั่วไป ก็ยังมีพื้นที่อื่นๆที่เหล่าคอปเตอร์สามารถพาเครื่องเข้าถึงได้อีก ไม่ว่าจะเป็นบนยอดตึก ยอดเขา หรือแม้แต่บนดาดฟ้าเรือเล็กๆ
การลากเส้นวงจรการบินก็จะใช้หลักการเดียวกันหมด เพียงแต่อาจแตกต่างบ้างในเรื่องระดับความสูง ความเร็วที่ใช้บิน และเทคนิคเล็กๆน้อยๆตามแต่แบบชนิดเครื่องที่ทำการบิน
.
มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายกำกับไว้ในแต่ละขาของวงจรการบินที่นักบินต้องทำ ขั้นตอนต่างๆถูกระบุไว้ในเช็กลิส เช่น After Takeoff Check, Pre Landing Check และ Final Check
.
เฮลิคอปเตอร์ไปได้หลายพื้นที่ การบินในพื้นที่ต่างๆก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันไปอีก ไม่ว่าจะเป็นบินท่ามกลางตึกสูงใจกลางเมือง บินตามภูเขา บินตามป่า บินกลางทะเล
.
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเฮลิคอปเตอร์ที่บินเหนือทะเล บินไปลงบนแท่นขุดเจาะ ก่อนบินลงแท่นก็ต้องทำบางขั้นตอนที่สำคัญเช่น เปิดระบบเตรียมพร้อมกาง Floatation (ระบบทุ่นลอยน้ำได้ มีไว้กรณีหากเครื่องต้องลงฉุกเฉินกลางทะเล ก็จะสามารถกาง Floatation เพื่อลอยในทะเลได้)
.
การฝึกบินในวงจรให้ละเอียดนั้น ไม่ง่าย เป็นการฝึกสติชั้นดี เพราะยิ่งบินจะยิ่งละเอียดขึ้นในทุกขั้นตอน การบินมีเสน่ห์ตรงที่ไม่มีวันไหนเหมือนเดิมสักวัน เพราะอากาศล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้ทวนลม พรุ่งนี้ลมขวาง วันนี้แดดจ้า พรุ่งนี้เมฆครึ้ม วันนี้นกเยอะ พรุ่งนี้การจราจรทางอากาศหนาแน่น..ต้องบินวนรอ หรือแม้แต่บางวัน เครื่องก็มิได้ตามใจเราไปหมดทุกอย่าง เช่น อุปกรณ์บางอย่างเกิดขัดข้องกลางคันขณะบิน ก็ต้องแก้ไขไปตามขั้นตอน
.
การบิน..สอนให้รู้เสมอว่า จงหมั่นเตรียมพร้อมในทุกสถานการณ์ บินในวงจรอาจดูเหมือนง่าย แต่มันคือเบสิกสำคัญ และมันเปรียบเสมือนครูของเส้นสมมติในอากาศอีกหลายร้อยพันเส้นที่พันเกี่ยวเชื่อมโยงโลกนี้ทั้งใบ
.
ทุกปีกบนฟ้าล้วนเริ่มต้นที่วงจรการบิน
…
(ภาพประกอบคือตัวอย่างวงจรการบินของเฮลิอปเตอร์ ในภาพเป็นการบินวงจรขวา ภาพต่อมาด้านล่างคือภาพขณะเครื่องเลี้ยวจากขา Base leg เข้าแนวร่อนของขา Final ตามต่อด้วยภาพวงจรการบินขวา และวงจรการบินซ้ายตามลำดับ )
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL