Skip to content

พลังของการพัฒนาขั้นจิ๋ว

  • by
คนส่วนใหญ่ชอบมองภาพกว้าง มองภาพในอุดมคติ ปลายทางที่เพอร์เฟกต์ ธงอยู่บนยอดทาง จะเดินไปคว้าธงนั้นมันต้องบากบั่นฟันฝ่าพอสมควร
สมัยซ้อมกีฬาตอนเด็ก ผมจำได้ว่า การตีลูกแบดมินตัน มันยากมาก โดยเฉพาะลูกเซฟ (ตีลูกจากท้ายคอร์ทฝั่งเราไปท้ายคอร์ทอีกฝั่งหนึ่ง) ตอนนั้นสมัยวัยรุ่น คิดว่าแรงดีแล้ว แต่ก็ใช้เวลานานมาก ใช้เวลาหลายเดือนก็ไม่สามารถทำได้ เล่นเอาท้อแทบถอย แต่พอย่อยเป้าหมายเป็นรายสัปดาห์ ซอยย่อยเป็นรายวัน แล้วดูความก้าวหน้าไปทีละวัน มันทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น
.
อย่างเช่นวันนี้ตีแรงไปถึงกลางสนามได้ 5 ลูก วันพรุ่งนี้พัฒนาเป็น 6 ลูก สัปดาห์ต่อไปเริ่มตีแรงขึ้นเกือบถึงท้ายคอร์ท พอเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ กลับทำให้รู้สึกดีขึ้นอย่างประหลาด แม้ว่าผ่านไป 3 เดือนยังเซฟลูกไม่ถึงท้ายสนาม แต่กลับรู้สึกสนุกในทุกวัน
.
คนเรามักแพ้ใจตัวเอง ชอบคิดการณ์ไกล มองภาพใหญ่ไว้ก่อน พอก้าวพลาด แม้ก้าวเล็กๆ ใจก็ฝ่อหนัก ประสิทธิภาพในการพัฒนาตนเองจะยิ่งตกต่ำ
พออ่านบทหนึ่งในหนังสือ “The three happiness” จึงทำให้ฉุกคิดถึงอะไรหลายๆอย่าง พาภาพมายังปัจจุบันกับการงานที่ทำอยู่ งานที่มากมายจิปาถะ เล่นเอาเกือบท้อ แต่ถ้าในแต่ละวันเก็บเกี่ยวงานแต่ละอย่างไปได้ทีละนิด นั่นก็เหมือนกับได้ก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้น มันก็ยังดีกว่าไม่ก้าวเลย
.
บทหนึ่งในหนังสือพูดถึง “พลังของการพัฒนาขั้นจิ๋ว” มันคือการสร้างความสุขจากการกระทำเล็กๆในแต่ละวัน เป็นการเข้าถึงความสุขแบบโดพามีน เพื่อลิ้มรสของการพัฒนาตนเองในทุกวัน
.
หนังสือเฉลยว่า หากตั้งความหวังหรือเป้าหมายไว้ใหญ่ คิดถึงแต่แค่ปลายทางอย่างเดียว ความสุขจะไม่เกิด เผลอๆสารความเครียด (คอร์ติซอล) จะยิ่งหลั่งออกมา และมันจะไปบล็อกทักษะการพัฒนาสิ่งต่างๆของตัวเราทันที
.
ผมได้รับมอบหมายให้เขียนหลักสูตรการบินถึง 5 หลักสูตร แตกย่อยออกเป็น 12 แผนย่อย แล้วยังมีงานพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม งานประจำ งานบิน งานสอน งานจัดซื้อจัดหา งานยิบงานย่อยอีกร้อยเรื่องสารพันอย่างที่ถาโถมเข้ามา งานแบบเซอร์ไพรส์ก็มีไม่ใช่น้อย เรียกได้ว่าต้องดูแลสอดส่องตั้งแต่ข้าวปลาอาหารศิษย์ หนังสือตำรา หลักสูตร ไปยันซื้อเฮลิคอปเตอร์
.
บางทีงานล้นจนต้องใช้เทคนิคของกฎ 20/80 (หมายถึงงานสำคัญๆจะมีอยู่ 20% ที่ทำแล้วให้ผลลัพธ์ถึง 80% ของงานทั้งหมด ในขณะที่งานอีก 80% แม้ว่าทำเสร็จ แต่มันให้ผลแค่ 20% เท่านั้น) พอจัดลำดับเร่งด่วนและความสำคัญของงานได้ ก็ค่อยๆแกะไปทีละอย่าง เทคนิคนี้จะแบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่มคือ
.
1. งานสำคัญ+เร่งด่วน – ให้ใครทำแทนก็ไม่ได้ ต้องลุยเอง
.
2. งานสำคัญ+ไม่ด่วน – ฝากใครทำก็ไม่ได้ แต่ไม่ด่วน งานแบบนี้ต้องจัดสรรเวลาในการทำ
.
3. งานไม่สำคัญ+เร่งด่วน – งานแบบนี้ฝากคนที่ไว้ใจทำได้ แต่ต้องทำเลย
.
4. งานไม่สำคัญ+ไม่ด่วน – ฝากใครทำก็ได้ ถ้าว่างค่อยทำ
.
ทฤษฎี น่ะใช่ แบ่งงานออกง่ายๆได้ 4 กลุ่มนี้ แต่ปัญหาคือ เวลาเอามาประยุกต์ใช้จริงมันไม่ง่ายแบบนั้น และส่วนใหญ่มักเจองานสำคัญ+เร่งด่วน มาพร้อมๆกันเป็นชุดแบบไม่ยั้ง ถ้าแบบนี้คงต้องใช้สูตร “ทำได้เท่าที่ทำได้ ถามด้วยคาถา ช่างแมร่ง !”
.
เราไม่อาจแบกโลกไว้คนเดียว มีกฎการทำงานหนึ่งบอกไว้ว่า ในโลกนี้มีการควบคุมอยู่แค่ 2 อย่างเท่านั้นคือ ‘สิ่งที่ควบคุมได้กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้’ เทคนิคการใช้กฎนี้ไม่ยาก นั่นก็คือทำให้เต็มที่ในสิ่งที่คอนโทรลได้ ส่วนสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ก็ไม่ต้องไม่ทุกข์ร้อนอะไรกับมัน ทำได้แค่เฝ้าดู ศึกษาไว้เป็นครู ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
.
แต่สิ่งที่เฉือนกันของแต่ละคนก็คือความพยายามที่จะทำในสิ่งที่ควบคุมได้ให้มันเต็มที่ในแต่ละขั้นบันไดนั้นต่างหาก พอหมดวันแล้วมาสำรวจขั้นบันไดที่ก้าวผ่าน หากจะคิดให้มันสนุก มันก็จะสนุก เมื่อนั้นโดพามีนน้อยๆก็จะหลั่งสะสมไปทีละนิด มันก็คือ “พลังของการพัฒนาขั้นจิ๋ว” ตามตำราที่เขียนเอาไว้
อีกครั้งที่ผมนึกถึงวัยเด็ก ลูกแบดมินตันที่ถูกตีออกไปจากท้ายคอร์ทถึงท้ายคอร์ทอีกฝั่งหนึ่ง พอเข้าใจเทคนิคการเหวี่ยงแขน มันก็ไม่ยากเลย ไม่ต้องออกแรงให้มากที่สุด ขอแค่รู้จังหวะของมัน
.
หากเปรียบกับงานที่เผชิญ ก็คงเหมือนกับการค่อยๆเก็บเกี่ยวงานแต่ละชิ้นไปในแต่ละวัน บางครั้งไม่จำเป็นต้องโถมสุดตัว เอาแค่ก้าวไปทีละขั้น ปักธงไว้ทีและก้าว เมื่อใกล้ถึงธงสุดท้ายของแต่ละงาน ทักษะที่พัฒนาแล้วมันก็ผลิดอกออกผลของมันเอง
.
จบเวลางานของวันก็เปลี่ยนเป็นโหมดส่วนตัวให้ไว
.
คิดแบบสนุกในแต่ละวัน..น่าจะดีกว่า..คิดแบบทรมาน..เพียงเพราะปักธงไว้แค่ที่เดียว..แถมไกลเกิน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *