Skip to content

‘พฤติกรรม (Behaviours)’ ของนักบิน

  • by
พฤติกรรม คือ สิ่งที่เราทำหรือแสดงออกมา แต่บุคลิกภาพ (Personality) คือ สิ่งที่เราเป็น
.
หากให้เข้าใจง่ายขึ้นอาจอธิบายได้ว่า บุคลิกภาพเปลี่ยนยาก ในขณะที่พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนได้ (พฤติกรรมใดทำบ่อยๆก็จะกลายเป็นนิสัย)
.
ในการบิน เรามีวิธีประเมินนักบินในด้านทักษะที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังในบทความก่อนๆแล้วว่า นักบินยุคใหม่ควรเน้นเรื่องนี้มากกว่าเรื่อง ‘ฝีมือบิน’
.
เพราะฝีมือมันฝึกฝนกันได้ ชี้วัดง่าย อยู่ที่ ‘ครู’ จะ ‘โค้ช’ อย่างไร มันก็เหมือนการ โค้ชนักกีฬา การจะปั้นนักกีฬาให้มีฝีมือที่เก่งและเฉียบ มันต้องใช้เวลา เช่น การฝึกซ้ำๆในท่าเดิมๆ มีวินัยและอดทนจนแตกฉาน
.
การบินก็เช่นกัน เมื่อชั่วโมงบินถึง ฝีมือก็จะมา ในขณะที่ ‘ทักษะที่จับต้องไม่ได้’ นั้นยากกว่าที่จะสอน จะฝึก และประเมิน
.
องค์รวมของสมรรถนะนักบิน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude) นั้น สิ่งที่วัดกันยากที่สุดก็คือ ‘เจตคติ’ ใครจะสร้างเครื่องมือมาส่องดูภายในใจคน ว่าใครคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
.
(เจตคติ คือ ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง)
.
แม้ว่าเราไม่สามารถอ่านใจใครได้ .. แต่เราสามารถสังเกต ‘พฤติกรรม’ คนได้
.
ทฤษฎีเชื่อว่าพฤติกรรมแสดงออกเช่นไร มันบ่งบอกถึงเจตคติภายในของคนคนนั้น
.
หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินจึงได้สร้างเครื่องมือในการวัดและสังเกตพฤติกรรมของนักบินขึ้นมา ชื่อว่า Behavioural Indicators (ตัวชี้วัดพฤติกรรม) เครื่องมือนี้ก็คือการออกแบบพฤติกรรมต่างๆที่สามารถสังเกตได้ขณะทำการบิน และเอาไปแปะไว้ในสมรรถนะทั้ง 9 ข้อที่นักบินพึงมี
.
โดยเราเรียกพฤติกรรมที่ถูกสังเกตได้นั้นว่า ‘OB’ หรือ ‘Observable behaviours’
.
สมรรถนะทั้ง 9 ข้อประกอบไปด้วยทั้งทักษะที่จับต้องได้และทักษะที่จับต้องไม่ได้ มี OB กำกับไว้ดังนี้
.
1. ความรู้ มี OB 7 พฤติกรรม เช่น สามารถสาธิต อธิบายความรู้ในเรื่องต่างๆได้ รู้ที่มาของตำรา
.
2. การปฏิบัติตามขั้นตอน มี OB 7 พฤติกรรม เช่น สามารถบอกได้ว่าขั้นตอนต่างๆเอามาจากคู่มือเล่มไหน สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานในการบินได้ ทำตามคู่มือได้ทันตามเวลาที่เหมาะสม สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ที่มี
.
3. การบังคับเครื่องเองด้วยมือ มี OB 7 พฤติกรรม เช่น บังคับเครื่องได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ความเร็ว ความสูง บวกลบไม่เกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น บังคับเครื่องไปตามทางที่ตั้งใจไว้ได้โดยไม่คลาดเคลื่อนไปมากเกินความยอมรับได้
.
4. การบังคับเครื่องด้วยระบบอัตโนมัติ มี OB 6 พฤติกรรม โดยจะเน้นไปที่การใช้ระบบ Autopilot (ระบบบินอัตโนมัติ) การเลือกใช้โหมดต่างๆอย่างเหมาะสม การแก้ไขปัญหา การสังเกตเมื่อระบบการบินอัตโนมัติขัดข้อง
.
5. การสื่อสาร มี OB 10 พฤติกรรม เช่น การสื่อสารในช่วงที่เหมาะสม ความเข้าใจในคำพูดและประโยคต่างๆที่ ATC สื่อสารมา
.
6. ภาวะผู้นำ + การทำงานเป็นทีม มี OB 11 พฤติกรรม เช่น แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำขณะบิน การแก้ไขความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในเที่ยวบินนั้นๆ มั่นใจในการแก้ไขสถานการณ์ยามคับขันอย่างถูกต้อง
.
7. การตัดสินใจ + แก้ไขปัญหา มี OB 9 พฤติกรรม เช่น การดักทันถึง Threats (สิ่งคุกคามจากภายนอกที่อาจก่อให้เกิดอันตราย) การแก้ไขปัญหาเมื่อเจออย่างทันเวลาและเหมาะสม
.
8. การตระหนักรู้ในสถานการณ์ มี OB 7 พฤติกรรม เช่น การวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันการ รู้ปัจจุบัน รู้ว่าจะแก้ไขอะไรอย่างไร ต่อไป และอะไรจะเกิดขึ้น
.
9. การบริหารจัดการภาระงาน มี OB 9 พฤติกรรม เช่น จัดการเวลาในบทบาทต่างๆได้ จัดลำดับความสำคัญสิ่งต่างๆขณะบินได้อย่างเหมาะสม
(ข้อ 1 ถึง 4 คือ ทักษะที่จับต้องได้ ประเมินและชี้วัดง่าย ในขณะที่ข้อ 5 – 9 คือ ทักษะที่จับต้องได้ยากกว่า)
.
รวมๆแล้วมีพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ในการบินแต่ละครั้งถึง 73 พฤติกรรม
.
เมื่อเขาวิจัยกันจนออกแบบผลผลิตเครื่องมือชี้วัดเหล่านี้มาให้บรรดาครูๆ ได้เอาไว้ใช้งาน เหล่าครูบนฟ้าทั้งหลายก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ บินไป สังเกต ‘พฤติกรรม’ ของศิษย์ไป ตามลำดับขั้นของบทเรียน
.
พฤติกรรมต่างๆบนท้องฟ้า ได้ถูกออกแบบและคัดสรรมาอย่างดีแล้ว การเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ การฝึกทักษะเพื่อให้เกิดความชำนาญ กระทั่งการสั่งสมพฤติกรรมที่เหมาะกับการทำงานบนท้องฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ควรฝึกปรือ
.
แม้ว่า พฤติกรรมคือผลพวงจากเจตคติภายในของใครของมัน คนที่จะสำรวจตัวเองได้ดีที่สุดก็คือ ตัวเราเอง บางคนรู้ตัวว่าเป็นคนไม่มีความมั่นใจ แต่ถ้าเปลี่ยนความคิดใหม่เพื่อที่จะสร้างพฤติกรรมแห่งความมั่นใจให้เกิด ก็ขอให้แสดงมันออกมา
.
บางท่อนบางตอนของหนังสือ KSA* ของ Bristol บอกไว้ว่า
.
“If you are not confident, just act confident, then you’ll become confident”
มันต้องเริ่มจากการกระทำก่อน คือ เริ่มเลย ไม่ต้องรอ อยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร ก็ทำเลย หมั่นทำ หมั่นเปลี่ยนแปลง แล้วผลของการ ‘เริ่มทำ’ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากข้างในตัวเราเอง
.
และมีอีกคำกล่าวนึงในตำรา KSA บอกไว้ว่า
“Attitude lead to behaviours, but behaviours also change attitudes”
“เจตคติ นำไปสู่ พฤติกรรม ขณะเดียวกัน พฤติกรรมก็สามารถเปลี่ยน ‘เจตคติ (Attitude)’ ได้ด้วยเช่นกัน”
.
ฉะนั้น พฤติกรรมของนกบนฟ้าจะถูกหมั่นสังเกตมากขึ้น และมันช่วยขัดเกลา ‘Attitude’ ทางการบินให้เข้ารูปเข้ารอย ยึดโยงกันไปกันมาจนเกิดเป็น ‘นิสัย’ ที่ดีสำหรับการบิน
.
ส่วนคนที่คอยตบแต่งพฤติกรรมของนักบินอีกทีนั้น ก็คือครูการบิน
.
และครูการบินเอง ก็มีพฤติกรรมที่ต้องฝึกฝนทักษะของการเป็นครูบนฟ้ามากกว่านักบินทั่วไป
<โดยครูการบินมี OB ถึง 114 พฤติกรรม>
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
– KSA ย่อมาจาก Knowledge Skills Attitudes
.
– สำหรับตำรา KSA ที่อ้างถึงเป็นของโรงเรียน Bristol Ground School ใช้ในการเรียนการสอนภาคทฤษฎีสำหรับหลักสูตรนักบินพาณิชย์
.
ภาพด้านล่างโดย StockSnap จาก Pixabay
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *