Skip to content

ฝึกบินท่า ‘S Turn’ กับการตรวจการฝึกแบบเซอร์ไพรส์

วันก่อนฝึกบินท่าทางที่ชื่อว่า S-Turn สำหรับศิษย์การบินเฮลิคอปเตอร์ หนึ่งในบทเรียนการฝึกบินภาคอากาศ
.
ฝนปรอยๆและเริ่มหยุดตก ทัศนวิสัยมากกว่า 10 กิโลเมตร อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนแดด น้ำทะเลทางทิศตะวันออกดูงดงาม ลมเบานิ่ง ดูแล้วอากาศช่างเป็นใจ นกอย่างพวกเราจะกลัวก็ลมฝนแรงๆ และทัศนวิสัยต่ำๆ
.
เที่ยวฝึกบินนี้พิเศษกว่าปกติ เพราะเรามีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายในขององค์กรเข้ามาร่วมนั่งสังเกตการณ์ในเครื่องด้วย วันนี้มาแบบไม่แจ้งล่วงหน้า เราเรียกเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ว่า Auditors และการมาแบบเซอร์ไพรส์เราเรียกว่า ‘Surprise Inspection’
.
สำหรับการบิน หากอะไรที่เราทำเป็นปกติ ทำจนชิน ทำบ่อยๆ ทำตามมาตรฐาน สิ่งที่ต้องเตรียมรับการตรวจก็คือ “ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย” เพราะนั่นคือวิถีการทำงานแบบปกติที่เราทำ และถ้ามันเป็นไปตามกฎกติกาขององค์กรอยู่แล้ว ก็แทบไม่มีอะไรที่ต้องเตรียม
.
การบรีฟเป็นไปโดยปกติ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับวันนี้คือการบรีฟผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง โดยเฉพาะผู้ตรวจสอบใหม่ป้ายแดงคนนี้ เพิ่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์เป็นครั้งแรก ดังนั้นเราจึงต้องอธิบายการเข้า-ออกเครื่อง การนั่งในเครื่อง สายรัดเข็มขัด การเปิด-ปิดประตู หูฟัง การคุยกับนักบิน การเตรียมตัวกรณีมีเหตุฉุกเฉิน และทำความเข้าใจสัญญาณจากนักบิน การอธิบายทั้งหมดนี้ถูกเขียนไว้ในแผ่นเคลือบใสที่เราเรียกว่า Passenger Safety Briefing (Helicopter)
.
เมื่อบรีฟเสร็จ พวกเราเดินออกไปยังลานจอด แลเห็นเหล่านกเหล็กเรียงรายบนพื้นคอนกรีต รอยเท้าของนักบินพาณิชย์หลายต่อหลายรุ่นมากกว่า 3,500 ชีวิตที่เคยเหยียบย่ำบนพื้นลานจอดนี้กินเวลามามากกว่า 60 ปีแล้ว เหล่านกซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียนการบินเล็กๆแห่งหนึ่ง
.
เราทำ Walk Around ก่อนขึ้นเครื่อง (เป็นการตรวจเครื่องก่อนขึ้นบินระหว่างเที่ยวบิน ศิษย์ทำตามคู่มือ ครูคอยเดินประกบ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสังเกตการณ์)
นาทีที่ 1 เสียงสตาร์ตดังขึ้น ใบพัดหมุน ฝนปรอยค่อยๆแผ่ว ใบพัดตัดเม็ดฝน กลิ่นเครื่องยนต์เจือจาง พวกเราชินกับเสียง กลิ่น และอาการสั่นเล็กน้อยยามใบพัดหมุน
.
ครั้นระบบพร้อมสมบูรณ์ แมลงปอเหล็กตัวจิ๋วพร้อมขับเคลื่อน ปีกพร้อมกินอากาศ ทะยานสู่ท้องฟ้าที่เรียบง่ายนั้น มุ่งหน้าขึ้นเหนือ เข้าสู่พื้นที่การฝึก ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้
.
ท่า ‘S Turn’ คือหนึ่งในเบสิกที่นักบินทุกคนต้องเคยผ่าน เราจะฝึกบินเป็นรูปตัวเอส ผ่านเส้นตัดบนพื้นที่เราเลือก (ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่ทำการฝึก บ้างใช้แนวถนน บ้างใช้ทางรถไฟ สำหรับพื้นที่ฝึกในวันนี้ เราใช้ทางรถไฟเป็นเส้นอ้างอิง)
.
ความสูงคงที่ ความเร็วคงที่ บินเปลี่ยนทิศทาง 180 องศาสองครั้ง เหมือนวาดรูปตัวเอสบนอากาศ
.
ฟังดูเหมือนง่าย ถ้าเปรียบกับการขับรถก็เหมือนการเลี้ยวยูเทิร์นสองโค้ง แต่ในอากาศ มันไม่ง่ายแบบนั้น
.
มันคือการประสานสอดคล้องในทุกแกน เพราะมีความสูงเข้ามาเกี่ยว นักบินต้องรักษาสมดุลเครื่องขณะเลี้ยว ต้องแก้ลม การใช้คันบังคับต้องนุ่มนวล และห้ามให้ความสูงเปลี่ยนเกิน 100 ฟุต มันคือเกณฑ์ที่เราใช้ฝึก ยิ่งฝึกยิ่งต้องละเอียดขึ้น ในบทเรียนท้ายๆ เราจะตั้งเกณฑ์ความสูงไว้ที่บวกลบ 50 ฟุต
.
ถามว่าจะต้องเป๊ะขนาดนั้นเชียวหรือ คำตอบคือ ลองจินตนาการดูว่ากล้ากระโดดลงมาจากตึก 10 ชั้นไหม แล้วตึก 5 ชั้นล่ะ .. นั่นคือความสูงราว 100 ฟุตและ 50 ฟุตที่ไม่อยากให้ใครพลาด
.
นอกจากความสูง ยังมีเรื่องของทิศทางและความเร็วอีก การฝึกจะตั้งเกณฑ์มาตรฐานไว้เช่นกัน เช่น ความเร็วบวกลบไม่เกิน 10 นอต ทิศทางบวกลบไม่เกิน 10 องศา
.
สำหรับการฝึกครั้งแรกของศิษย์ในท่าทางนี้ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาด มุมเลี้ยวใช้ได้ ความเร็ว ความสูง และทิศทางอยู่ในเกณฑ์ แมลงปอจิ๋ววาดอักษร ‘S’ กลางอากาศทาบผ่านทางรถไฟที่มองเห็นอยู่เบื้องล่าง เงาแมลงปอเคลื่อนผ่านแปลงนา ทะเลสีฟ้าอยู่ฝั่งทิศตะวันออก ตัวเอสที่วาดเสร็จได้วงโค้งตามตำรา
.
S Turn ท่าที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หากได้บินในห้วงยามที่ลมแรงๆดูแล้วจะรู้ว่า การคอนโทรลเครื่องให้บินตามทางที่ตั้งใจไว้นั้นไม่ง่ายเลย
.
ถามว่า S Turn เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ตอบได้เลยว่า นักบินเอาไปใช้โดยไม่รู้ตัวในทุกสถานการณ์ ทุกการเลี้ยวขณะบินล้วนต้องการการควบคุมที่ละเอียด สมดุลในตัวของมัน ไม่ว่าจะเป็นการบินเข้าหาแนวร่อน การบินตามภูมิประเทศที่มีสิ่งกีดขวางมาก หรือแม้กระทั่งรูปแบบการบินค้นหาผู้ประสบภัยที่มีสารพัดเทคนิค ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทักษะการเลี้ยวไปมาอย่างราบรื่นและคล่องตัว
.
แม้ว่าบางเครื่องอาจมีระบบช่วยบินอัตโนมัติ (Autopilot) แต่การใช้งานระบบ Autopilot เพื่อควบคุมเครื่องให้อยู่บนทางที่เราตั้งใจก็ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ต้องฝึกเช่นกัน (Flight Path Management Automation)
.
ครั้นฝึกเสร็จ นกบินกลับรัง ฝนบางๆก็เริ่มพากันลงมาพอให้ชุ่มฉ่ำ ทัศนวิสัยยังดีอยู่ เราบินกลับสนามบิน ฝึกบินในวงจรต่ออีก 2 รอบ เน้นย้ำท่าทางที่ยังเหลือบางรายการในบทเรียน
.
ผู้โดยสารยังคงนั่งสังเกตการณ์อย่างจดจ่อ การมาของพวกเขา มาเพื่อตรวจสอบมาตรฐานการฝึกบิน มันคือหนึ่งในกลไกของระบบ เพื่อคำว่า ‘ความปลอดภัย’ ‘คุณภาพ’ และ ‘การทำตามมาตรฐานของโปรแกรมฝึกอบรม’ และมันคือหัวโขนของพวกเขา ส่วนเราก็มีหัวโขนของเรา ต่างคนต่างมีบทบาทเป็นของตัวเอง
.
ละอองน้ำไหลผ่านหน้ากระจกห้องนักบินขณะเครื่อง Taxi กลับลานจอด ฝนทางทิศตะวันตกกำลังมา แมลงปอเคลื่อนผ่านฝูงนกเหล็กกลุ่มเดิมที่ยังคงจอดนิ่งอยู่บนลานกว้าง
.
ผมมองข้อความบนคลิปบอร์ดที่เขียนจดข้อดี ข้อบกพร่องของศิษย์บนหน้าขาตัวเอง หลังจากนี้คือทำขั้นตอนดับเครื่อง ตรวจเครื่องหลังบิน บันทึกชั่วโมงบิน และกรอกเอกสารต่างๆ จากนั้นก็คือการบรีฟหลังบิน สมองประมวลผลสรุปการบินของเที่ยวนั้น จนลืมนึกไปว่ามี Auditor นั่งอยู่ด้านหลัง
.
นาทีที่ 60 เสียงเครื่องยนต์แผ่วดับหลังระบบน้ำมันถูกตัดขาด ขั้นตอนดับเครื่องดำเนินต่อไปกระทั่งใบพัดหยุดหมุน
.
การฝึกเสร็จสิ้น การตรวจสอบการฝึกก็เช่นกัน
.
‘S Turn’ ให้อะไรมากกว่าที่คิด ส่วนการตรวจสอบ จะเป็นแบบแจ้งล่วงหน้าหรือไม่แจ้งล่วงหน้า ก็ไม่ได้มีผลอะไร หากผู้ปฏิบัติทำตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานอย่างเป็นประจำ
.
‘Surprise Inspection’ ก็แค่จิ๊กซอว์หนึ่งที่มาเติมเต็มระบบ สาระไม่ได้อยู่ที่การถูกตรวจ มันอยู่ที่การทำอย่างเป็นประจำของเหล่านักบิน
.
‘มืออาชีพแค่ไหนก็วัดกันตรงนี้’
.
บางครั้งการเตรียมรับการตรวจที่ดีที่สุดก็คือ
.
“ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย .. ทำแบบที่เคยทำ”
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *