เสียงหวีดแหลมดังเป็นจังหวะซ้ำๆของมัน กับท่ายืนสู้ลมที่เป่าจากใบพัดเหล็กหมุนด้วยความเร็วราวๆ 400 รอบต่อนาที ขาแข็งไม่กลัวลมจากใบพัดนั้น มันยืนนิ่งสู้ มันชื่อว่า นกกระแตแต้แว้ด
.
ผมนั่งที่นั่งด้านซ้าย ศิษย์กำลังขับเคลื่อน Chopper* จิ๋ว เคลื่อนตัวช้าๆไปบนทางขับ (Taxiway) ก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง (Runway) ไอร้อนลอยเบาๆขึ้นมาจากพื้นคอนกรีตให้พอเห็นลางๆ นกตัวนั้นยืนสู้อยู่ริมขอบทางขับ หันหน้ามาจ้องมองแมลงปอเหล็กที่เป่าลมใส่มัน
.
การฝึกบินให้กับศิษย์ในวันนี้คือท่าทางวิ่งขึ้นจากพื้นและฝึกบินร่อนลงกระทั่ง Skids* สัมผัสพื้น โดยไม่ต้องหยุดลอยตัวนิ่งๆ (Hovering) ก่อนค่อยวางตัว
.
เราเรียกท่าทางการฝึกนี้ว่า Takeoff from the surface และ Approach to the surface เป็นบางส่วนของท่าทางการฝึกในขั้น Advance ซึ่งเราจะฝึกกันเมื่อศิษย์ผ่านการบินปล่อยเดี่ยว (Initial Solo Flight) กันแล้ว
.
หลัง ‘ปล่อยเดี่ยว’ บันไดที่ทอดยาวในแต่ละขั้นกำลังรอทุกย่างก้าวให้ป่ายปีนขึ้นไปอย่างมีความหมาย เก็บเกี่ยวทุกเม็ดกับการฝึกบินกับอากาศยานที่มันไม่ค่อยจะเชื่องสักเท่าไหร่ .. เพราะว่ามันดิ้นมาก
.
พวกเขาผ่านการฝึกมาได้สักเศษหนึ่งส่วนสี่บนถนนสายนี้ อีกสามส่วนที่เหลือ คือการเคี่ยวบนกระทะที่ร้อนกรุ่น ในทุกท่าทางการบินสำหรับขั้น ‘Advance’
.
เพราะเมื่อไปปฏิบัติงานจริงนั้น สำหรับเฮลิคอปเตอร์ จะไม่ได้บินขึ้นลงบนรันเวย์เสมอไปอย่างแน่นอน การที่มนุษย์ขบคิดสิ่งประดิษฐ์ลอยได้ชนิดนี้ขึ้นมา เพื่อจะได้ใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด การไปได้ในทุกที่ที่ต้องการ ย่อมต้องใช้ศิลปะในการคอนโทรลเครื่องที่หลากหลาย
.
ต่อไปนี้คือท่าทางการฝึกในขั้น Advance ที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ทุกคนต้องเคยผ่านกันมาก่อน
.
1. Maximum Performance Takeoff
– นำเครื่องวิ่งขึ้นด้วยกำลังที่สูงในมุมที่ชัน การฝึกท่านี้เพื่อฝึกวิ่งขึ้นในกรณีพื้นที่มีสิ่งกีดขวางแนววิ่งขึ้น
.
2. Steep Approach
– นำเครื่องร่อนลงด้วยมุมชัน
.
3. Takeoff from the surface
– นำเครื่องวิ่งขึ้นจากพื้นโดยไม่ได้ยกเครื่องให้ลอยอยู่ในท่า Hovering ก่อน
.
4. Approach to the surface
– นำเครื่องร่อนลงกระทั่งฐานล้อ (Landing gear*) สัมผัสพื้นตรงจุดที่เราต้องการ
.
5. Running/Rolling Tankeoff
– นำเครื่องวิ่งไปบนพื้นก่อน เมื่อได้ความเร็วหนึ่งจึงบินลอยขึ้นจากพื้น
.
6. Shallow Approach
– นำเครื่องร่อนลงด้วยมุมบางๆ
.
7. Running/Roll-on Landing
– นำเครื่องร่อนลงโดยวิ่งไปกับพื้นแล้วค่อยเบรค
.
8. Rapid Deceleration/Quick Stop
– ฝึกการวิ่งขึ้นแล้วต้องหยุดกระทันหัน
.
ท่าทางทั้ง 8 ท่านี้ เวลาฝึกใหม่ๆ จะต้องใช้สมาธิและมีความประณีตในการบังคับ ความระมัดระวัง และรู้ขีดจำกัดของค่าพารามิเตอร์ต่างๆ .. นักบินจะต้องรู้ Limitation ของเครื่อง
.
ครั้น ATC* อนุญาตให้นำเครื่องบินขึ้นแล้ว เราเลี้ยวขวาเข้าวงจรการบิน เสียงหวานของ ATC กลบลมร้อนได้ชั่วขณะ ผมเหลือบมองลงไปดูเหล่านกที่บินเหนือรันเวย์นั้น
.
เมื่อบินเข้าขา Final* ขณะศิษย์บินและรักษามุมร่อนมาได้อย่างสวยงาม หลังได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ ATC ว่า “Cleared stop and go” (หมายถึงอนุญาตให้เราบินลงแล้วค่อยไปต่อได้) เราตั้งโจทย์ว่าจะบินลงไปแปะที่จุดจุดหนึ่งบนรันเวย์
.
ผมคะเนมุมร่อนได้ราว 10 องศา อัตราความเร็วเข้าใกล้พื้นกำลังดี หัวเครื่องตรงรันเวย์ ท่าทางที่คาดหวังคือ Approach to the surface ความสูงลดลงผ่าน 200 ฟุต
.
100 ฟุต
.
50 ฟุต
.
10 ฟุต .. 5 ฟุต .. อีกนิดเดียว Skids จะสัมผัสพื้น ผมเหลือบไปดูมือศิษย์ที่กำ Cyclic*แน่น อาการเหมือนจะเกร็งไปทั้งตัว
.
ยังไม่ทัน Skids จะแตะพื้น เสียงหวานนั้นแทรกผ่านหูฟังนักบินว่า “Chopper Zulu Papa Cleared for takeoff” หมายถึงอนุญาตให้เครื่องเราที่ชื่อว่า ‘Chopper Zulu Papa’ ทำการบินวิ่งขึ้นต่อไปได้
.
วินาทีที่เสียงนั้นแทรกเข้ามา อาการเครื่องที่นิ่งๆอยู่ก็ส่ายไปส่ายมา ศิษย์พยายามจะขานตอบ ATC ขณะเครื่องยังไม่วางตัวลงบนพื้น ความวอกแวกทำให้การโฟกัสในการบังคับเครื่องหลุดไปชั่วขณะ
.
ครั้นเครื่องสัมผัสพื้นแล้ว ผมบอกศิษย์ว่า รอบต่อไปเราบังคับเครื่องให้ถึงพื้นก่อนแล้วค่อยตอบ ATC ก็ได้ อย่าเพิ่งห่วงหน้าพะวงหลัง “เอาเครื่องให้อยู่ก่อน”
.
ในบางครั้งอาจมีเครื่องบินอยู่หลังเรา ที่กำลังจะร่อนลงบนรันเวย์ ATC จึงช่วยเตือนเราให้ทำการวิ่งขึ้น หากครูประเมินแล้วเห็นว่าสถานการณ์โดยรอบกดดันมาก
.
ครูจะช่วยติดต่อสื่อสารให้เพื่อแบ่งเบาภาระในการบิน แต่ด้วยความที่เป็นเครื่องฝึกแบบ Single Pilot Operations (ต้องฝึกให้บินคนเดียวได้) ในเฟสนี้เราจึงยังไม่ใช้คอนเซ็ปต์ของการแบ่งบทบาทหน้าที่ในการบินเข้ามาจับ ..
.
เรายังต้องเคี่ยวพวกเขาให้เข้มข้นขึ้น เพื่อฝึกในเรื่องของการบริหารจัดการภาระงานต่างๆขณะบิน (Workload management) สำหรับการบินคนเดียวให้ได้
.
หลังฝึกเสร็จ ขณะศิษย์ขับเคลื่อน Chopper จิ๋วบนทางขับอย่างช้าๆเพื่อกลับไปยังลานจอด ลมเริ่มแรงขึ้น ยิ่งทำให้เครื่องดิ้นมาก ผมสังเกตว่าศิษย์ต้องเกร็งมือ เกร็งขาพอสมควร ถึงจะเอาเครื่องอยู่
.
เจ้านกกระแตแต้แว้ดข้างทาง ยืนจับจ้องมองมาที่เรา ตัวเกร็ง ขาสั่น แต่ไม่ถอย ผมไม่ได้ยินเสียงมัน ตอนนี้ไม่รู้ว่าใครตัวเกร็งกว่ากันระหว่างนกกับศิษย์ .. สักพักเสียงหวานๆของ ATC ก็ทักมาว่า “Cleared taxi back to apron” หมายถึง อนุญาตให้ขับเคลื่อนเครื่องกลับไปที่ลานจอดได้
.
ศิษย์ขานตอบ ATC พลางบังคับเครื่องไป สู้ลมไป อาการแกว่งก็กลับมาอีกครั้ง .. พอเข้าใจได้ว่า การบินไปติดต่อไปมันก็ไม่ง่าย
.
ผมเหลือบมองข้างทางขับนั้นอีกครั้ง
.
เห็นเจ้านกตัวนั้น มันก็ยังยืนเกร็งสู้อยู่เหมือนเดิม
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
1. Chopper เป็นคำสแลง หมายถึง เฮลิคอปเตอร์
.
2. Cyclic คือหนึ่งในคันบังคับของเฮลิคอปเตอร์
.
3.Taxiway หรือ ‘ทางขับ’ คือ ทางที่เชื่อมระหว่างลานจอด/หลุมจอดเทียบอาคารผู้โดยสาร กับ Runway
.
4. Runway หรือ ‘ทางวิ่ง’ คือทางที่ใช้สำหรับอากาศยานทำการบินขึ้นและบินลง (เราเรียกว่า ‘วิ่งขึ้น หรือ Takeoff ‘ และ ‘บินลงจอด หรือ Landing’)
.
5. ระบบฐานล้อ (Landing gear) ของเฮลิคอปเตอร์โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ ฮ.ที่ใช้ Landing gear แบบ Skids (ลักษณะเหมือนสกีนั่นแหละ) กับ ฮ.ที่ใช้ล้อ (Wheels) โดยมากจะมีอยู่ 3 ล้อ
.
6. ขา Final คือ ขาสุดท้ายบนฟ้าที่นักบินบังคับเครื่องมาตรงแนวรันเวย์เตรียมที่จะร่อนลง
.
7. ATC ในที่นี้หมายถึง Air Traffic Controller คือเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เป็นผู้ดูแลอากาศยานที่ทำการบินในน่านฟ้าอาณาเขตที่รับผิดชอบ ช่วยแนะนำความเร็ว ความสูง ทิศทาง รวมถึงบริหารจัดการการจราจรบนท้องฟ้า โดยดูแลตั้งแต่เครื่องอยู่บนลานจอดกระทั่งขึ้นบินและบินลงกลับไปยังลานจอด
.
.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL