Skip to content

ปุ่ม Go / No Go ของนักบิน

ยามคับขัน เสียดกรีดใบพัดยังคงเป็นหนึ่งในความหวังของผู้คน พื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงหลายแห่งกลายเป็นหมุดหมายหลายจุดที่ฝากความหวังไว้กับเหล่าแมลงปอเหล็ก
.
ทว่าในอีกหลายมุมมอง อาจมีอีกหลายคนไม่เข้าใจความยากยิ่งในการพาเฮลิคอปเตอร์บุกทะลวงพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเหล่านั้น
.
หนึ่งในสมรรถนะทั้งหมด 9 อย่าง ที่ยากต่อการฝึกนักบินที่สุดคือเรื่องของ ‘การตัดสินใจ’ หรือ ‘Decision Making’ โดยเฉพาะในห้วงยามที่ไม่ปกติ เช่น ยามเกิดภัยพิบัติ
.
ความหวังของผู้คนแบกอยู่เต็มสองบ่า หากแต่ปัจจัยแวดล้อมที่จะตัดสินใจ ‘ไป’ หรือ ‘ไม่ไป’ สำหรับนักบิน มันมีมากกว่านั้น .. พวกเราถูกฝึกให้ต้องคิด และมีปุ่มอยู่สองปุ่มในใจที่เมื่อถึงเวลา เราต้องเลือกอย่างไม่ลังเล .. ปุ่มที่ชื่อว่า ‘Go’ และ ‘No Go’
.
Go และ No Go มีให้เลือกอยู่แทบจะทุกเฟสของการบิน นับตั้งแต่เท้าอยู่ที่พื้นก่อนขึ้นบิน ขั้นตอนสตาร์ตเครื่อง ตรวจเช็กระบบ พาเครื่องขึ้นบินทำภารกิจต่างๆในอากาศ จนกระทั่งนำเครื่องลงจอด
.
มันจะมีอะไรเข้ามาให้นักบินต้อง ‘คิด’ อยู่เสมอ
.
ยกตัวอย่างเช่น ขณะตรวจเอกสารประจำเครื่อง เกิดพบใบประกันขาด .. ปุ่ม No Go ก็ต้องทำงาน
.
ขณะตรวจเครื่องก่อนขึ้นบิน นักบินตรวจพบอุปกรณ์บางอย่างขัดข้อง .. ปุ่ม No Go ก็เริ่มชัดขึ้น แม้มีขั้นตอนหลายอย่างช่วยให้คิดวิเคราะห์ต่อได้ว่า หากขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ เครื่องก็อาจขึ้นบินได้ .. เรามีระบบ MEL (Minimum Equipment List) เพื่อช่วยต่อการตัดสินใจว่าจะ ‘ไป’ หรือ ‘ไม่ไป’ แต่นั่น มันก็แค่ Option สำหรับการคิด .. สุดท้ายการตัดสินใจของนักบิน (ผู้บังคับอากาศยาน) จะเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนนำเครื่องขึ้นเสมอ
.
แม้ในขณะบิน หากพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะภายในเครื่อง หรือสภาพแวดล้อมภายนอก .. ปุ่ม Go และ No Go ก็จะผุดออกมาท้าทายความคิดของนักบินตลอดเวลา
.
ไม่มีตำราการบินเล่มไหนบอกให้นักบินบินเข้าหาพายุ
.
ไม่มีตำราการบินเล่มไหนเขียนอนุญาตให้นักบินทำการบินฝ่าฝืนกฎ ขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆบนคู่มือ แม้กระทั่งการทำข้ามขั้นตอน ก็มิใช่สิ่งที่พึงกระทำ
.
งานบนฟ้า มันละเอียด .. อากาศยานมูลค่าสูงลิบ แต่ค่าตัวคนบนเครื่องนั้นสูงกว่า
.
สังเกตไหมว่า เวลาขึ้นเครื่องบิน ขณะเจ้าหน้าที่แนะนำการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่นหน้ากากออกซิเจน ทำไมผู้ใหญ่จึงต้องสวมให้เรียบร้อยก่อนสวมให้เด็ก
.
หลักการพื้นฐานของการช่วยเหลือผู้อื่น นั่นคือผู้ไปช่วย ต้องปลอดภัยก่อน .. ถ้าแม้แต่ผู้ไปช่วยยังไม่ Safe แล้วจะไว้ใจได้อย่างไรว่าการช่วยเหลือในครั้งนั้นมันจะ Safe
.
ไม่มีนักบินที่ดีคนไหนเขา ‘ขิง’ กันกลางอากาศหรอกว่า เครื่องข้านี้เจ๋งกว่า อากาศแย่แค่นิดเดียว ข้ายังกล้าบินเลย ทำไมเอ็งไม่กล้าไป .. หรือ กลัวอะไร แค่ระบบไฟฟ้าเอง ?!?!
.
นักบินที่ถูกฝึกมาดี จะถูกฝึกให้ใช้สมองส่วน PFC (Prefrontal Cortex) อย่างช่ำชอง มันคือสมองส่วนหน้า อยู่ตำแหน่งบริเวณหน้าผาก เป็นส่วนประกอบของสมองที่มีศักยภาพสูง มันถูกออกแบบมาให้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ แก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุมีผล ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ มาจากการใช้สมองส่วนนี้ทำงาน
.
สมองอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจคือส่วนที่เรียกว่า Limbic หรือสมองส่วนอารมณ์ความรู้สึก บางทีเราก็เรียกว่า ‘สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม’ ในทางการบิน นักบินจะไม่ถูกฝึกให้ใช้สมองส่วนนี้นำ อธิบายง่ายๆคือ ไม่ใช้อารมณ์นำความคิด
.
ดังนั้นการตัดสินใจทางการบิน จึงจำเป็นต้องฝึกใช้สมองส่วน PFC ให้มากกว่าส่วนของ Limbic
.
พวกเราถูกสอนเรื่องการวิเคราะห์ภัยคุกคาม การปฏิบัติตามกฎ การ Cross Check ซึ่งกันและกันภายในทีม มันคือหลักวิชาที่เอามาใช้ประกอบการคิด โดยเฉพาะการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน
.
PFC คือบ่อเกิดฐานแห่งปัญญา ในขณะที่ Limbic เป็นฐานของอารมณ์
.
(มนุษย์เราต่างกับสัตว์ก็ตรงที่เราเป็นสายพันธุ์เดียวบนโลกที่มี PFC นี่แหละ)
.
การเลือกกดปุ่ม Go หรือ No Go สำหรับนักบินจึงต้องการการตัดสินใจที่มาจากฐานของปัญญา และแน่นอนว่าในบางครั้ง การตัดสินใจต้องรวดเร็ว เด็ดขาด เป็นหลักวินาที
.
อย่าให้ปัจจัยภายนอกมาบีบสมองส่วน Limbic ให้เกิดความลังเลทางความคิดเด็ดขาด และบางครั้ง วัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กรก็มีผลมิใช่น้อย ในอดีตเคยเห็นมาหลายเคสแล้ว กับการขึ้นบินภายใต้สถานการณ์ความกดดันจาก ‘ผู้ไม่รู้’
.
‘ผู้ไม่รู้’ เปรียบได้กับผู้มี ‘อวิชชา’ เป็นที่ตั้ง กระนั้นก็อย่าไปให้ราคากับความไม่รู้เหล่านั้น เพราะผู้ไม่รู้ หลายครั้งก็ใช้สมองส่วนของสัตว์ซะมากเกิน และปราศจากองค์ความรู้ในทางที่เกี่ยวข้อง เช่นนั้น กลไกทางความคิดจึงต่างกัน
.
วัฒนธรรมทางการบินในยุคใหม่ก็เริ่มดีขึ้น ผู้บริหารที่ไม่ใช่นักบินก็เริ่มปรับจูนเข้าหาธรรมชาติในการ ‘ฝึกคิด’ ของนักบิน เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่นักบินก็หมั่นเรียนรู้ธรรมชาติของกันและกัน
.
ในห้วงยามของภัยพิบัติ ในสถานการณ์ที่ม้าใช้อย่างเฮลิคอปเตอร์ถูกเรียกหากันอย่างหนักหน่วง สุดท้ายการตัดสินใจของผู้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่อยู่ที่พื้นจึงสำคัญยิ่ง
.
ปุ่ม Go และ No Go น่าจะผุดขึ้นมาถี่ขึ้นเรื่อยๆตลอดการปฏิบัติภารกิจ ความเหนื่อยล้าที่ถาโถม สภาพอากาศที่ไม่ได้จะเป็นใจในทุกวัน กระนั้นเราเหล่านักบินก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้สมองส่วน PFC ให้ไวขึ้นตามเช่นกัน
.
เพราะผู้ไปช่วยต้อง Safe ก่อนเสมอ หน่วยสนับสนุนก็ต้องเข้าใจให้มาก
.
นักบินท่านหนึ่งเคยสอนไว้
.
“Better to be on the ground wishing you were in the air, than in the air wishing you were on the ground”
.
ประโยคนี้ จริงแท้แน่นอน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *