Skip to content

น่านฟ้าเรามีราคาเท่าไร ?

131 ปีก่อน หลายชาติของยุโรปพยายามหาทางเข้ามาครอบครองเรา ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’
.
สมัยที่เราเดินเรือเองไม่เป็น เราต้องจ้าง ‘กัปตันฝรั่ง’ มาขับเรือให้ กระทั่งวันที่ฝรั่งเศสเอาเรือมาคุกคาม หยามศักดิ์ศรีชาวสยามถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
.
กระสุนสาด ทหารตาย กับเงินที่ต้องสังเวยให้กับธงชาติชาวตะวันตกด้วยค่าปรับ 3 ล้านฟรังก์ สยามเหมือนเป็นเหยื่อของการเมืองโลกในห้วงเวลานั้น
.
ร.5 ทรงเจ็บปวด หลังจากนั้นก็ส่งเหล่าลูกๆไปเอาอารยธรรมและวิทยาการตะวันตกเข้ามา
.
14 ปี หลังวันนั้น..วันที่เจ็บปวด
.
พระราชโอรสพระองค์หนึ่งก็ทำสำเร็จ .. พาเรือรบสยามไป ‘อวดธง’ ต่างชาติ ด้วยฝีมือคนไทย..ที่เดินเรือเอง
.
จากนั้นเราก็ไม่ต้องจ้างฝรั่งอีก
.
เราเป็นไท จากองค์ความรู้ด้านการบังคับเรือเองเป็น..เราเป็นกัปตันเรือได้
.
ตอนนั้นคือปี 2450 (เครื่องบินลำแรกของโลกก็เกิดขึ้นมาได้ 4 ขวบพอดี)
.
ร้อยกว่าปีผ่านไป
.
.
9 ปีก่อน (กลางปี 58) ผืนฟ้าของด้ามขวานเราถูกปักธงแดง .. จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ธงแดงนั้นพัดพาธงจากยุโรปหวนคืนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาทางเรือ..แต่มาทางฟ้า
.
ปลายปีนั้น ครม.เห็นชอบค่าใช้จ่ายความร่วมมือกับองค์กรการบินของฝั่งยุโรปวงเงิน 5 ล้านยูโร
.
ต้นปี 59 ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบ 69 คน วงเงิน 86 ล้านบาท และจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้คำปรึกษาในการออก AOC ใหม่ วงเงิน 185 ล้านบาท
.
กลางปี 59
.
ครม.เห็นชอบอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการบิน วงเงิน 5 ล้านยูโร รวมทั้งขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรจาก EASA จำนวน 7 ราย
นับรวมๆราคาที่ต้องจ่ายให้กับคำว่า ‘มาตรฐาน’ ราวๆ 300 กว่าล้านบาท รึอาจมากกว่านั้น (ไม่อยากขุดต่อถึงปัจจุบัน)
.
.
นี่หรือ ‘ราคาของน่านฟ้าเรา’
.
กลับไปทบทวนอดีตอีกครั้ง
.
.
หลังเราเดินเรือเองเป็น ผ่านไป 20 ปี โลกของการบินพัฒนาไปอย่างมาก ยามนั้นคนไทยเราออกแบบและสร้างเครื่องบินรบได้เอง สร้างได้เกือบ 200 ลำด้วยซ้ำ
แต่ก่อนนั้นเราทำอะไรได้เองหลายอย่าง ผลิตนักเดินเรือเอง สร้างสิ่งต่างๆได้เอง กาลต่อมา .. ไม่รู้ทำไม .. บางอย่างสูญหาย ไม่ทำต่อ ไม่สืบสาน .. หรือเพราะคำว่า ‘มันไม่คุ้ม’ หรือเพราะคำว่า ‘การเมือง’
.
60 ปีต่อมา เรากล้าแกร่งขึ้น แม้ฝรั่งมาช่วยขุดเจาะน้ำมันให้เราในยุคบุกเบิก
.
แต่เราก็มีนักบินเฮลิคอปเตอร์ไทย บินพาผู้โดยสารไปยังแท่นขุดเจาะเอง แม้ว่านักบินฝรั่งจะเยอะกว่ามากในตอนนั้นก็ตาม
.
ได้ยินพัฒนาการของนักบิน ฮ.ในประเทศ จากปากสู่ปาก กับประสบการณ์ตรงที่เคยประสบ ก็พอจะคลำทางในอดีตได้ว่า
.
เส้นพรมแดนระหว่างนักบินไทยและนักบินต่างชาติก็ถูกขีดกลางห้อง Cockpit นักบินนั่นแหละ
.
เริ่มแรก เราถูกกีดกัน กดขี่ สารพัด ไม่ต่างอะไรกับเมื่อร้อยปีก่อน
.
นายทุนนอมินีจ้างนักบินฝรั่งมา Set ระบบ .. แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยศักยภาพของเรา เราก็ยืนหยัดเองได้ ช่วยกันปูพรมแดนใหม่สำเร็จ ด้วยห้อง cockpit ที่มีแต่คนไทยล้วน .. ฝรั่งก็ค่อยๆถอยหายไป
.
เราใช้เวลาเกือบ 30 ปี กว่าจะคลีนห้องนักบินให้เหลือแต่กัปตันไทยบินกับคนไทยด้วยกัน (เฉพาะบางบริษัท)
.
พอพายุโควิดมาซัดกระหน่ำย่ำยี..หัวใจติดปีกก็พังยับเยิน .. ครานี้ปีกบนฟ้าก็ค่อยๆร่วงลงไปเรื่อยๆ
.
หลังพายุ นายทุนได้ที ก็กดราคาค่าปีกกันเต็มที่
.
ขณะที่บ้านเมืองระส่ำระสาย .. การล่าอาณานิคมเงียบก็คืบคลานเข้ามาอย่างเนียนๆ
.
เผลอแพล็บเดียว ธงแดงก็โหมโรมเข้ามาก่อน ตามต่อด้วยธงยุโรป .. สร้างกฎระเบียบใหม่ ด้วยคำว่า ‘มาตรฐาน’ ที่ไม่ได้ก้มดูทรัพยากรตัวเองเลยว่า มีอะไรอยู่เท่าไรบ้าง
.
โครงสร้างแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จำเป็นไหมต้องนำเข้ากฎของบ้านเมืองอื่นมาใช้แบบ เป๊ะๆ
.
คนติดปีกร่วงหล่นเป็นว่าเล่น เจอกฎระเบียบการควบคุมนกบนน่านฟ้าฉบับใหม่ หลายคนหมดไฟ ไร้ทางไปต่อ ทุนจะรักษาปีกไว้มันก็สูงเกิน
.
ยิ่งดูแล้วต่อไปภายหน้า .. การจะสร้างคนติดปีกมาขี่เรือบินเองคงยาก .. รึจะต้องกลับไปจ้างฝรั่งมาขับให้อีกเหมือนร้อยกว่าปีก่อน
.
คนใช้ไม่ได้คิด .. คนคิดไม่ได้ใช้
.
คิดเรื่องควบคุมกำกับดูแล แล้ววันนึงไม่มีอะไรเหลือให้คุม จะทำยังไง .. สงสัยต่อไปคงได้ให้ฝรั่งมานั่งคุมแทน ทุกวันนี้ก็เริ่มเห็นเค้าลางๆ
.
ไม่กล้าพยากรณ์เลยว่า .. อีก 5 ปีข้างหน้า สยามเราจะมีศักยภาพในการผลิตนักบินเชิงพาณิชย์ได้เองสักกี่คน จะถึง 20 คนต่อปีไหมก็ไม่รู้
.
คิดแก้แค่ที่องค์กรเดียว แต่กระทบหน่วยงานย่อยทุกหย่อมหญ้า
.
ยกตัวอย่างผู้นำที่กล้ายืนหยัดกับมหาอำนาจ เช่น ลีกวนยู และ เติ้งเสี่ยงผิง .. สมัยสิงคโปร์เริ่มสร้างประเทศ สมัยจีนปฏิรูปเศรษฐกิจ ฝั่งตะวันตกพยายามเข้าแทรกแซงหลายอย่าง จะจับยัด ‘มาม่า-สำเร็จรูป’ ให้
.
พี่ลีบอกว่า “ไม่สน I don’t care” ประเทศใครประเทศมัน โครงสร้างต่างกัน ทำไมต้องก๊อบคุณมาใช้ทั้งหมด
.
พี่เติ้งปฏิรูปจีนด้วยการนำเข้าระบบทุนเพียงครึ่งเดียว แค่นำมาปรับใช้ ไม่ได้ก๊อบมาทั้งดุ้น พี่แกกล่าวไว้ “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ถ้าจับหนูได้ก็ถือเป็นแมวที่ดี” ..
หวนกลับมาดูองค์กร(แมว)ที่บ้านเรา .. ถ้าก๊อบยุโรปมาใช้แล้วจะมีขีดความสามารถจับหนูได้เก่งขึ้นก็ตามสบาย แต่ส่วนตัวมองว่าลำบาก เพราะโครงสร้างของแต่ละประเทศมันต่างกัน (หนูในที่นี้ หมายถึง เศรษฐกิจที่ดี เงินสะพัดเพราะ ‘การบินเข้าถึงง่าย’)
.
เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเอาเรือมาขู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว .. เขียน Manual สวยๆ เอาให้ High Standard เข้าไว้ ง่ายกว่านั้นก็ ‘ก๊อบ’ แล้ววาง .. แก้โลโก้ใหม่ แล้วบอกว่าถ้าทำตามไม่ได้ก็ปักธงแดง .. เล่นกันงี้แหละ .. รบกันบนกระดาษ ไม่ต้องเปลืองน้ำมัน
.
ที่ตลกร้ายกลายเป็นว่า ฝาหรั่งที่มายัดเยียดความเป็นมาตรฐานให้เรา ก็กลุ่มชาติเดิมๆ ที่เอาเรือมาขู่เมื่อ 131 ปีก่อนนั่นเอง
.
ถ้าจ้างมาแล้ว สุดท้ายได้กระดาษ copy paste แก้โลโก้ใหม่ ไส้ในใกล้เคียงต้นตำรับเป๊ะ .. แล้วค่อยมาไล่บี้คนในบ้านกันเอง แม้ว่าธงแดงปลดออกแล้ว แต่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอุตสาหกรรมการบินในประเทศอาจยิ่งทรุดหนัก
.
ตอนนี้ประเทศไม่ได้ต้องการคำว่า ‘มาตรฐานฉาบฉวย’ แต่ต้องการคนมี ‘กึ๋น’ ที่จะเป็นตัวแทนไปยันกับชาวศิวิไลซ์ต่างหากว่า เรามีมาตรฐานในแบบของเรา ..
.
เรา ‘Adapt’ เป็น เราต้องการเรียนรู้ทีละขั้น และเราไม่เคยหยุดพัฒนา
.
คงต้องทำความเข้าใจใหม่ถึงคำว่า “กึ๋น กับ ก๊อบ” ว่ามันต่างกันเช่นไร
.
ถึงตรงนี้ก็อดคิดถึงวันที่ปู่ของปู่สร้างเครื่องบินรบได้เอง .. คิดถึงวันที่เตี่ยทุ่มเทเพื่อให้คนไทยผลิตกัปตันเรือได้เอง
.
ลองมาแกะกติกาที่เราก๊อบฝรั่งมาในตอนนี้ พออ่านแล้วก็ขมคอนัก การผลิตและป้อนนักบินเข้าสู่ระบบอาจไม่ยากเท่าไรถ้ามองแค่ผิวเผิน
.
หากแต่การผลิตครูการบินสักหนึ่งคน ปั้นครูขึ้นมาสักคนหนึ่ง หรือสรรหาครูที่มีคุณสมบัติพร้อมจะสอนในอีกหลายๆฟังก์ชันที่ถูกกำหนดไว้ในระบบใหม่ เพื่อถ่ายทอด สืบสานนักบินไทยจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป อันนี้แหละที่น่าเป็นห่วง
.
ยังมีเรื่องอื่นๆอีกจิปาถะที่ดูเหมือนจะพบรอยสะดุดรายทางในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
ด้วยเพราะแหล่งผลิตมักถูกมองข้ามมาโดยตลอด
.
น่านฟ้าเราคงมีราคาที่ต้องจ่ายอีกมากโข
.
จากวันที่ ร.5 ทรงเจ็บปวดในครั้งนั้น และภายหลังที่ส่งเหล่าลูกๆไปเอาอารยธรรมและวิทยาการตะวันตกเข้ามา ทรงรับสั่งไว้ว่า
.
“ให้พึงนึกในใจไว้ว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” (พ.ศ.2440)
.
การนำกติกาต่างแดนมาประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าทันทั้ง ‘เรา’ และ ‘เขา’ จึงสำคัญยิ่ง
.
นึกแล้วก็สงสารบรรพบุรุษ .. มันรู้สึก ..
.
..แปล๊บๆที่หัวใจ..
………
ป.ล. ส่วนตัวไม่ได้มองว่าระบบที่เราจะนำมาปรับใช้นั้นแย่ทั้งหมด ส่วนที่ดีก็มีเยอะ แต่ผู้จะนำมาใช้ควรศึกษาให้ครบทุกภาคส่วนมากกว่านี้ ที่สำคัญ ควร ‘ปรับใช้’ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย ..
.
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวบางท่อนบางตอนไว้
.
“อย่าไปเดินตามฝรั่งไปเสียตะพึด เพราะว่ามันไม่เหมือนกัน !”
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *