ไม่มีใครที่สมัครเรียนบินแล้ว มาถึงโรงเรียนการบินจะกระโจนขึ้นเครื่องบิน จับคันบังคับ ฝึกบินกับครูการบินก่อนในทันที กว่าคนเราจะเอา ‘นก’ ประเภทต่างๆขึ้นไปบินบนฟ้าได้..จะต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎีกันก่อน
.
ถ้าเปรียบศิษย์การบินเหมือนดินสอ การเหลาให้แหลมก่อนจับใส่หาง ติดปีก สวมหัวใจนก จึงเป็นสิ่งพึงกระทำ เพราะดินสอที่แหลม สิ่งที่เขียนออกมาย่อมชัดเจน
.
หน้าที่ครูสอนวิชาภาคทฤษฎีจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าครูสอนบินภาคอากาศ ขณะที่โลกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆก็ดูเหมือนว่า บรรดาเหล่าครูๆก็ต้องวิ่งตามโลกให้ทัน
วิชาบังคับตามกฎหมายการบินในปัจจุบัน สำหรับคนที่จะเรียนบิน หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับวิชาเหล่านี้แน่นอน
.
1. Air Law (กฎหมายการบิน) – เหมือนขับรถบนถนนแล้วต้องรู้กฎกติกาการใช้ถนน บนฟ้าก็เช่นกัน ต้องรู้ระเบียบ กติกาที่เกี่ยวข้อง ใบขับขี่นักบินเป็นยังไง และใครเป็นผู้ดูแลเรา
.
2. Aircraft General Knowledge (Airframe/System/Powerplant) – ความรู้ทั่วไปของอากาศยาน เน้นเรื่องตัวเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ ระบบเครื่องยนต์โดยทั่วไป
.
3. Aircraft General Knowledge (Instrumentation) – ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอากาศยาน เน้นเรื่องเครื่องวัดประกอบการบิน เช่น ระบบเครื่องวัดความสูง ความเร็ว ทิศทาง กลไกการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้
.
4. Flight Performance and Planning (Mass and Balance) ประสิทธิภาพและการวางแผนการบิน เน้นเรื่องมวลและความสมดุล – คำนวณจุดศูนย์ถ่วงและจุดศูนย์กลางมวลเป็น รู้หลักการความสมดุลของอากาศยานขณะบิน
.
5. Flight Performance and Planning (Flight Planning and Monitoring) การวางแผนการบิน – เรียนรู้ว่าเราจะวางแผนการบินอย่างไรในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การวางแผนคำนวณน้ำมัน การเลือกความสูงที่จะใช้ในการบิน
.
6. Flight Performance and Planning (Performance) – ประสิทธิภาพของอากาศยาน เน้นเรื่องขีดความสามารถในการบินของอากาศยานในปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น น้ำหนักเครื่องเท่าไร การบินจะเป็นยังไง จะสามารถบินไต่ได้ขนาดไหน การบินขึ้นและร่อนลงจะใช้พื้นที่ความยาวของสนามบินเท่าไร
.
7. Human Performance (สมรรถนะของมนุษย์) – ครอบคลุมประเด็นทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาที่ส่งผลต่อนักบิน ความเหนื่อยล้า ความเครียด สุขภาพ และกระบวนการตัดสินใจ
.
8. Meteorology (อุตุนิยมวิทยาการบิน) – เรียนรู้สภาพอากาศ ฟ้า ฝน เมฆ ปรากฎการณ์ของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น การพยากรณ์อากาศ เพราะนักบินใช้ท้องฟ้าทำมาหากิน เรื่องนี้จึงสำคัญมากที่จะต้องเรียนรู้
.
9. General Navigation (การเดินอากาศ/การนำทางทั่วไป) – การอ่านแผนที่ ใช้เข็มทิศ เข้าใจพิกัดทางภูมิศาสตร์
.
10. Radio Navigation (วิทยุเดินอากาศ/นำทาง) – เรียนรู้อุปกรณ์ช่วยนำทาง สัญญาณวิทยุ การตีค่าความหมายที่แสดงบนหน้าจอของเครื่องช่วยนำทางต่างๆ
.
11. Operational Procedures (ขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบิน) – การปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งในภาวะปกติและยามฉุกเฉิน ทุกๆเฟสของการบินมีขั้นตอนอย่างไร และเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง
.
12. Principles of Flight (หลักการบิน)– เรียนรู้หลักการว่าเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ที่เราจะบินนั้น มันบินได้ยังไง แรงยกคืออะไร แรงต้านเป็นยังไง
.
13. Communications (การสื่อสาร) – การสื่อสารบนท้องฟ้าเขาใช้ภาษาอะไรคุยกัน เขาใช้ประโยคยังไงในการคุย แล้วคุยกับใครบ้าง เมื่อไรคุย เมื่อไรไม่คุย
.
14. KSA (Knowledge, Skill, and Attitude) KSA (ความรู้ ทักษะ และเจตคติ) – ประยุกต์เอาความรู้และทักษะมาใช้งาน มุ่งเน้นพัฒนานักบินในด้าน Soft Skill เช่น การทำงานเป็นทีม การจัดการภาระงานขณะบิน การตัดสินใจ การตระหนักรู้
.
(ก่อนสอบใบขับขี่นักบิน ทุกคนต้องสอบผ่านทุกวิชา ยกเว้นวิชาที่ 14 ที่ไม่ต้องสอบ)
.
ถามต่อว่า แล้วเยาวชนที่สนใจอยากเรียนบิน ควรจะต้องขยันเรียนวิชาไหนเป็นพิเศษ คำตอบคือไม่มีสูตรตายตัว เพราะนักบินที่ผมเคยได้ทำงานร่วมกันมาแต่ละคน มีตั้งแต่มาดคุณหมอ นักบัญชี ทหาร วิศวกร นักคอมพิวเตอร์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ไปยัน..ศิลปิน
.
แต่ถ้าจะสังเคราะห์เอา 14 วิชาหลักที่นักบินจะต้องเรียนมาจัดกลุ่มใหม่ อาจจะพอแนะเป็นแนวทางได้ว่า วิชาที่ควรขยันและใส่ใจมันให้มากหน่อยก็จะประกอบไปด้วย คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
.
ขอเสริมด้วยวิชาพละหรือการเล่นกีฬา หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะจะเรียนบินได้ต้องผ่านการตรวจร่างกายให้ผ่านก่อน ตามมาตรฐานการตรวจร่างกายสำหรับนักบิน
.
แต่อย่าเรียนหนักจนเครียด หากิจกรรมนันทนาการที่ชอบ เช่น ดนตรีและศิลปะ
.
เซนส์ของคนบางคนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาก็ด้วยกิจกรรมเหล่านี้
.
ทั้ง 14 วิชาที่เกริ่นไปข้างต้นนั้น หากจัดกลุ่มดีๆจะเห็นว่ามันมีทั้งหมดแค่ 9 วิชาหลัก กับอีก 1 วิชาใหม่ (KSA : Knowledge, Skill, and Attitude และสมัยก่อน คนรุ่นเก๋าๆเขาก็สอบผ่านกันมาได้หมด
.
ขณะที่นักบินยุคใหม่จะต้องฝ่าด่านการสอบที่โหดกว่า ด้วยข้อสอบชุดใหม่ที่ยากกว่า ท้าทายกว่า และใช้ต้นทุนที่สูงกว่า อาจทุลักทุเลกว่าสมัยก่อน แต่ผลผลิตที่ป้อนสู่ท้องฟ้าย่อมต้องมีคุณภาพมากกว่าในอดีตอย่างแน่นอน
.
สมัยใหม่มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น ภาพกราฟิก แอนิเมชัน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องนั่งวาดรูป จินตนาการ แล้วก็งงๆกันไปก่อน พอได้จับเครื่องขึ้นบินจริงถึงจะร้องอ๋อ ว่าสิ่งที่เคยสงสัย มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
.
สำหรับใครที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้แล้ว พาตัวเข้ามานั่งในห้องเรียนภาคทฤษฎีของหลักสูตรนักบิน ครูผู้สอนมีหน้าที่เหลา เมื่อได้ดินสอที่แหลมพอ พร้อมที่จะส่งต่อให้กับครูฝึกบินภาคอากาศ เพื่อเอาไปปั้น เอาไปตบแต่งบนฟ้าต่อไป
.
โลกของการบินมันกว้าง เหมือนท้องฟ้าที่ไร้ขีดจำกัด คือความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด องค์วิชารวมเหล่านั้นผ่านการลองผิดลองถูกมาจากนักบินในอดีตมากมาย เมื่อเลือกเดินบนหนทางนี้แล้ว .. ก็ต้องไปให้สุด
.
แล้วเมื่อไรที่ได้ลิ้มรสของการแตะท้องฟ้า เมื่อนั้นจะเข้าใจคำพูดของ “อิกอร์ ซิกอร์สกี้” ที่ว่า
.
“วิชาการบิน ไม่ใช่ทั้งอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์ .. แต่มันคือปาฏิหาริย์”
.
“Aeronautics was neither an industry nor a science. It was a miracle.” – Igor Sikorsky
…..
*อิกอร์ ซิกอร์สกี้ (Igor Sikorsky) คือ บิดาแห่งเฮลิคอปเตอร์ ผู้ประดิษฐ์เฮลิคอปเตอร์เครื่องแรกที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์สมัยใหม่ในปัจจุบันนี้
.
ภาพด้านล่างโดย Thomas Fengler จาก Pixabay
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL