Skip to content

นักบินต้องอ่านคู่มืออะไรบ้าง ?

วิชาชีพนี้หนีไม่พ้นการอ่านตลอดชีวิต นับจากก้าวเท้าเข้าสู่ถนนที่ทอดยาว ปลายทางมีปีกแห่งฝันรออยู่ ไม่เฉพาะตำราเรียนทฤษฎีการบินที่พวกเขาต้องอ่าน ต้องสอบ ต้องรู้แจ้งเห็นจริงกับมันแล้ว หากแต่เมื่อจบออกไป พวกเขาจะต้องอ่านคู่มืออีกหลายเล่มมาก ต้องกอดมันไว้ให้แน่น ซึมซับใส่สมองเสมือนการฝังชิปที่ความจุไม่มีวันเต็มและพร้อมจะอัปเกรดมันตลอดเวลา
.
ก่อนจะไปชำแหละหนังสือทั้งหมดที่นักบินต้องอ่าน ขอกล่าวถึงสองสิ่งที่นักบินต้องคุ้นเคยและอยู่กับมันตลอดราวกับเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ขาดจากกันไม่ได้ สองสิ่งนั้นได้แก่ Procedures และ Checklist
.
Procedures
คือขั้นตอนปฏิบัติงานในแต่ละงาน มีรายละเอียดหรือคำแนะนำในแต่ละขั้นตอน .. Procedures นี้แฝงอยู่ในคู่มือย่อยอีกหลายเล่มมาก ทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน ขั้นตอนจะอธิบายสั้นหรือยาวก็ตามแต่ ขึ้นอยู่กับบริบทของการปฏิบัติงานนั้นๆ ซึ่งมีทั้งแบบที่ต้องท่องจำให้ได้และแบบที่ไม่จำเป็นต้องท่องจำได้ หากแต่ต้องเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งในทุกๆขั้นตอน
.
Checklist
เช็กลิกส์เปรียบได้กับเครื่องมือที่ทรงพลัง เป็นเพื่อนคู่หูของนักบินมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่มีนักบินคนไหนไม่อ่านเช็กลิสต์ เพราะมันคือรายการอ้างอิงที่รวดเร็วและกระชับ
.
เช็กลิสต์จะมีความเชื่อมโยงกับ Procedures เสมอ ในขณะที่ Procedures อาจแทรกคำอธิบายหรือประโยคยาวๆไว้ให้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ แต่เช็กลิสต์จะถูกย่อลงมาเป็นข้อๆ เป็นรายการสั้นๆ แต่ละรายการจะกำกับด้วยคำสั่งว่าให้ทำอะไรหรือไม่ให้ทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เช็กลิสต์การตรวจเครื่องก่อนทำการบิน เช็กลิสต์การปฏิบัติในการแก้ไขเหตุฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น
.
ในขณะที่ทั้ง Procedures และ Checklist นั้นจะถูกจับใส่ในคู่มือมากมายอีกหลายเล่ม ในทางสากลนั้น ได้แบ่งประเภทของคู่มือไว้เยอะมาก ต่อไปนี้คือคู่มือที่นักบินทุกคนต้องอ่านและทบทวนองค์ความรู้ทางการบินอยู่ตลอดเวลา
.
1. POH (Pilot’s Operating Handbook)
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า POH คือหนังสือเล่มแรกที่นักบินทุกคนต้องหยิบจับก่อนจะทำการบิน หากไม่นับตำราเรียนทุกวิชาที่นักบินต้องอ่านแล้ว เมื่อเปรียบกับรถยนต์ มันก็คือคู่มือรถยนต์ที่เมื่อเราซื้อรถมาใช้ เราต้องอ่านต้องศึกษาคู่มือของรถยนต์ยี่ห้อที่เราใช้งานอยู่ เพื่อให้รู้ ได้เข้าใจในระบบพื้นฐาน การบำรุงรักษาเบื้องต้น และอื่นๆ
.
สำหรับการบิน คู่มือเฉพาะของเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์แต่ละประเภท แต่ละยี่ห้อก็แตกต่างกันไป เมื่อศิษย์การบินจบออกไปแล้ว ได้ไปบินกับอากาศยานแบบต่างๆ พวกเขาจะได้ยินคำว่า RFM และ AFM แทนคำว่า POH
.
RFM ย่อมาจาก Rotorcraft Flight Manual มันคือคู่มือของเฮลิคอปเตอร์เฉพาะแบบนั้นๆ ส่วน AFM ย่อมาจาก Airplane Flight Manual เป็นคู่มือของเครื่องบินตามแต่ละรุ่นและยี่ห้อนั่นเอง
.
ซึ่งโรงงานผู้ผลิตอากาศยานทุกแบบบนโลกนี้จะต้องเขียนคู่มือ AFM / RFM ของอากาศยานทุกแบบทุกรุ่นขึ้นมาเสมอ
.
ทั้ง POH หรือ RFM หรือ AFM ก็ดี นักบินต้องอ่านมันบ่อยมาก เพราะการที่เราจะไปบินกับเครื่องแบบอะไรก็ตาม เราต้องเข้าใจเครื่องแบบนั้นๆให้ลึกซึ้ง ต้องรู้ใจมันให้มาก ไส้ในของตำรานี้ถูกแบ่งออกเป็นบทต่างๆมากมายเช่น ระบบของเครื่อง ข้อจำกัดของเครื่อง ประสิทธิภาพและการทำงาน การคำนวณสมรรถนะของเครื่องในสภาพแวดล้อมต่างๆ ขั้นตอนควบคุมเครื่องทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน รวมถึงการตรวจเครื่อง การดูแลบำรุงรักษาเบื้องต้น
.
ตำรา RFM และ AFM นี้ คือสิ่งที่นักบินทุกคนอ่านทบทวนบ่อยที่สุดแล้ว ซึ่งทั้ง Procedures และ Checklist ต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ล้วนแล้วแต่ฝังตัวอยู่ในคู่มือนี้นั่นเอง
.
2. OM (Operation Manual)
.
จะบอกว่าคู่มือนี้ถือได้ว่าเป็นสารานุกรมของนักบินตามแต่ละบริษัทที่แท้จริง เพราะ OM ถูกแบ่งออกเป็นภาคส่วนต่างๆ ครอบคลุมการปฏิบัติการทุกอย่างขององค์กร มันคือคู่มือที่ทุกองค์กรด้านการบินจำเป็นต้องเขียนไว้ เนื่องจากแต่ละบริษัท แต่ละหน่วยงานมีลักษณะงานและพื้นที่ปฏิบัติการที่ต่างกัน OM ของแต่ละที่จึงไม่เหมือนกัน ภาคส่วนต่างๆของ OM ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
.
– OM Part A – The Big Picture
เล่มนี้คือเล่มหลัก เปรียบได้กับกระดูกสันหลังขององค์กร เขียนบอกตั้งแต่โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร คีย์แมนมีใครบ้าง ต้องมีคุณสมบัติอะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง การปฏิบัติการบินขององค์กรคืออะไร มีขั้นตอนต่างๆอย่างไร ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาบิน ระยะเวลาพักผ่อนของนักบินเป็นอย่างไร และอื่นๆอีกเพียบ
นักบินใหม่เข้าบริษัทมาใหม่ๆต้องอ่านเล่มนี้กันทุกคน มีกฎกติกายิบย่อยขององค์กรที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก ภาพรวมของการปฏิบัติการบินจะอยู่ในคู่มือเล่มนี้
.
– OM Part B – Aircraft Specific Details
จะบอกว่าตำราเล่มนี้ก็คือคู่มือเจาะลึกถึงเนื้อหาของอากาศยานแต่ละแบบนั่นเอง จริงๆแล้วเนื้อหาในเล่มนี้จะถูกดึงมาจาก AFM หรือ RFM ของเครื่องนั้นๆ คนเขียน OM Part B ต้องอ่านคู่มือเฉพาะแบบของอากาศยาน แล้วนำมาเขียนในคู่มือตามโครงสร้างของ OM ที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งบางครั้งก็มีการย่อบริบทต่างๆใน AFM / RFM ลงมา เพื่อเขียนสรุปหรือกลั่นกรองบางเนื้อหาก่อนนำมาใส่ใน OMB อีกทีหนึ่ง
.
ขั้นตอนปฏิบัติเฉพาะของการบินกับอากาศยานประเภทต่างๆจะถูกเขียนลงในคู่มือนี้ด้วย บางองค์กรอาจออกแบบคู่มือที่ชื่อว่า SOP ขึ้นมาใช้ ซึ่งจริงๆแล้ว SOP นั้น ก็อยู่ใน OMB นี้นั่นเอง
.
SOP หรือ Standard Operating Procedures คือ คู่มือที่ระบุขั้นตอนปฏิบัติต่างๆกับอากาศยานนั้นๆ ที่องค์กรทุกที่จำเป็นต้องเขียนขึ้นมาใช้ เพื่อให้นักบินทุกคนยึดถือปฏิบัติเหมือนกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ขั้นตอนการบินในวงจรเป็นอย่างไร ขั้นตอนฉุกเฉินต่างๆทำอย่างไร ขั้นตอนการเติมน้ำมันอากาศยานเป็นอย่างไร การคุยกันในห้องนักบินมีประโยค มีคำพูด มีคำสั่งที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันอย่างไร เป็นต้น
.
– OM Part C – Routes and Destinations
ส่วนนี้จะลงรายละเอียดของเส้นทางบิน สนามบิน ณ ฐานปฏิบัติการบินต่างๆที่องค์กรนั้นๆใช้งานอยู่เป็นประจำ เล่มนี้จะเจาะลึกถึงขั้นตอนปฏิบัติต่างๆตามแต่ละฐานปฏิบัติการด้วย เช่นบางบริษัทมีฐานปฏิบัติการหลักอยู่ 3 ที่ บริษัทนั้นก็ต้องเขียน OMC ให้ครอบคลุมฐานปฏิบัติการทั้ง 3 ที่นั้น เขียนอธิบายถึงเส้นทางบินและสนามบินต่างๆที่ใช้บริการทั้งหมด ระบุครบทั้งขั้นตอนปฏิบัติยามปกติและยามฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องครบทุกภาคส่วน
.
– OM Part D – Training
คู่มือที่บอกถึงการฝึกอบรมนักบินของบริษัทนั้นๆ ครอบคลุมทุกการฝึกที่บริษัทจัดไว้ให้ ตั้งแต่การฝึกอบรมนักบินใหม่ การฝึกบินเปลี่ยนแบบ การฝึกบินเพื่อรักษาความชำนาญ การฝึกบินเพื่อที่จะไปเป็นกัปตัน และอื่นๆอีกมากมาย
.
เพราะตลอดเวลาในการทำงานของนักบินนั้น นักบินจะต้องได้รับการฝึกอบรมตามวงรอบอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ คู่มือเล่มนี้เปรียบเสมือนไกด์ไลน์นึงสำหรับนักบินทุกคน เพื่อให้ได้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องหมั่นทบทวนตามวงรอบมิให้ขาด
.
นอกจากนี้นักบินยังควรอ่าน ERP (Emergency Response Plan) หรือคู่มือแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เช่นหากเกิดเหตุไฟไหม้ ทุกคนในองค์กรจะต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง รู้ว่าใครต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ติดต่อใคร แจ้งใคร
.
นี่ยังไม่รวมถึง TM (Training Manual) หรือคู่มือการฝึกอบรมนักบินในหลักสูตรการบินต่างๆ ที่บรรดาครูการบินต้องใช้ตำราเล่มนี้ในการฝึกนักบิน
TM คือคู่มือที่ใช้สร้างนักบินคลื่นลูกใหม่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับหัวข้อการฝึกอบรม แผนการสอน แผนการฝึกบิน เนื้อหาการฝึก การประเมินผล และขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาใช้สำหรับการฝึกนักบินโดยเฉพาะ
.
คู่มือทั้งหมดทั้งมวลนี้เปรียบได้ดั่งคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของวิชาชีพนักบิน เป็นตำราเอาตัวรอด ความพิเศษของคู่มือทั้งหมดคือ ในแต่ละเล่มมันจะมีบางหัวข้อ บางเนื้อหาที่มีจุดเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอยู่
.
นักบินที่ดีต้องหมั่นทบทวนตำราอยู่เนืองนิจ อ่านให้แตก เชื่อมโยงให้เป็น รู้ให้ลึกที่สุด เพราะทุกคู่มือล้วนถูกเขียนมาด้วยเลือดทั้งสิ้น
.
ทุกอย่างถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้การปฏิบัติการบินเป็นไปด้วยความปลอดภัย .. และที่สำคัญเรื่องการอ่านนี้ .. ทำแทนกันก็ไม่ได้
.
Jim Rohn ปรมาจารย์ด้านการพัฒนาตนเองเคยบอกไว้ว่า
.
“You can’t hire someone else to do your push-ups for you.”
<คุณไม่สามารถจ้างใครมาวิดพื้นแทนคุณได้>
.
การอ่านหนังสือก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครอ่านหนังสือแทนกันได้ นักบินจึงต้องเป็นนักอ่านขั้นเทพ อ่านหนังสือเป็นหมื่นๆหน้า อ่านตำราหลายร้อยเล่ม อยู่กับมันไปทั้งชีวิต
.
ฉะนั้นเมื่อเลือกเดินบนเส้นทางนี้แล้ว เตรียมฝังชิปความจุอันลิมิตไว้ในสมองได้เลย ชิปนี้ต้องพร้อมที่จะอัปเดตและอัปเกรดอยู่ตลอดเวลาด้วย ..
ที่สำคัญ ชิปใครชิปมัน .. สลับใส่แทนกันไม่ได้ จะจุมากจุน้อย ก็อยู่ที่ตัวเราเองล้วนๆเลย
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *