Skip to content

นักบินคุยอะไร..กับใคร..บนฟ้า

พวกเราเรียนรู้ตัวอักษรแบบโฟเนติก (ย้อนอ่านบทความ ‘ตัวอักษรบนท้องฟ้า’) เมื่อรู้ว่าอักษรต่างๆ ออกเสียงเช่นไร ต่อไปคือการติดต่อพูดคุยกันบนฟ้าของเหล่า ‘นก’
.
ทุกการเดินทางบนท้องฟ้า เราจำเป็นต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Controller : ATC) เพราะเส้นทางข้างบนนั้นเป็นถนนสมมติ ไม่มีเส้นขีด ไม่มีขอบเขตที่มองเห็น การคุยกันกับ ATC เพื่อให้มีคนกลางในการจัดสรรการเดินทาง ทั้งเส้นทาง ทั้งระดับชั้นความสูง ช่วยดูแลอากาศยานทุกๆเครื่องที่บินผ่านพื้นที่รับผิดชอบของพวกเขา
.
ศิษย์การบินทุกคนจะได้รับการฝึกการท่องจำประโยค รูปประโยคที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันบนอากาศจะใช้รูปแบบที่ง่าย เป็นแบบแผน ไม่ซับซ้อน เราใช้ภาษาอังกฤษในการพูดคุยกัน
.
หลักการคือ เราต้องรู้จักชื่อของเราและคนที่เราจะคุยด้วยก่อน ชื่อของเราก็คือ ‘นามเรียกขาน (Call sign)’ ที่เราอาจกำหนดขึ้นมา อาจใช้ชื่อย่อสายการบินตามด้วยเลขประจำของเครื่องที่บิน เช่น THAI 123 ส่วนคนที่เราคุยด้วยก็คือ ATC ชื่อของ ATC ก็เรียกตามชื่อของสนามบินนั้นๆ เช่น จะบินขึ้นจากสนามบินหัวหิน เราก็เรียกเขาว่า ‘หัวหิน’ และต่อท้ายด้วยกลุ่มของพวกเขาที่ดูแลเรา
.
พวกเขาแบ่งกลุ่มการดูแลนักบินออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Ground Tower Approach และ Enroute กลุ่มเหล่านี้แบ่งตามพื้นที่การควบคุมอากาศยาน อธิบายง่ายๆได้คือ
.
– Ground คือกลุ่มที่ดูแลการจราจรภาคพื้นดิน เรียกว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน หรือ Ground Controller ดูแลการขับเคลื่อนอากาศยานตั้งแต่ลานจอดไปบนทางขับจนใกล้ถึงรันเวย์
.
– Tower คือ หอบังคับการบิน หรือ Local Controller เรามักเรียกว่า Tower เจ้าหน้าที่บนหอบังคับการบินจะดูแลควบคุมการบินขึ้นและร่อนลงของบรรดาเครื่องบินที่มาเยี่ยมเยือนสนามบินของพวกเขา รับผิดชอบการจราจรบนรันเวย์ และขณะนักบินนำเครื่องวิ่งขึ้นและร่อนลงสนามบิน
.
– Approach – ในที่นี้ทำหน้าที่ดูแลเครื่องบินทั้งขาเข้าและขาออกจากสนามบินนั้น พวกเขาดูแลนักบินต่อจาก Tower หลังจากนักบินเอาเครื่องบินขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้ว เราเรียกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องขาออก (Departure Controller) หรือกรณีนักบินกำลังบินเข้ามายังอาณาเขตน่านฟ้าของสนามบินใดก็ตาม นักบินก็จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องขาเข้า (Approach/Arrival Controller) เพื่อเตรียมจะนำเครื่องร่อนลงยังสนามบินนั้น
.
– Enroute – สำหรับกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ดูแลนักบินขณะบินอยู่บนเส้นทางสมมติในอากาศ บริเวณที่ถูกส่งต่อมาจาก Approach อีกทีหนึ่ง เราเรียกพวกเขาว่า ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศตามเส้นทางบิน (Area Control) กลุ่มนี้ช่วยควบคุมดูแลเหล่านกบนท้องฟ้าตามเส้นทางต่างๆ มีการแบ่งอาณาเขตรับผิดชอบไว้ชัดเจน ดูแลเครื่องที่บินอยู่ตามเส้นทางไปจนถึงจุดหมายปลายทาง จนกระทั่งส่งต่อให้ Approach ของสนามบินต่างๆอีกทีหนึ่ง
สมมตินักบินนั่งอยู่ในเครื่องบนลานจอด เมื่อพร้อมจะขับเคลื่อนเครื่องไปบนทางขับ นักบินก็จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน (Ground Controller) ถ้าอยู่ที่สนามบินหัวหิน เราก็เรียกเขาว่า “หัวหิน Ground”
.
เวลาจะขับเคลื่อนเข้าสู่รันเวย์ เจ้าหน้าที่ควบคุมก็จะโยนเราไปให้อยู่ในความควบคุมของ Tower จากนั้นเราก็จะเรียก “หัวหิน Tower” เพื่อขออนุญาตนำเครื่องวิ่งขึ้น (Take off)
.
เมื่อ Tower ดูแลเราจนเครื่องลอยขึ้นไปในอากาศแล้ว และพร้อมส่งต่อให้ Approach นักบินก็จะเปลี่ยนช่องความถี่วิทยุเพื่อติดต่อกับ Approach Controller ต่อไปตามลำดับ
.
เราติดต่อผ่านคลื่นวิทยุตามช่องสัญญาณที่ตั้งค่าไว้ สนามบินแต่ละแห่งก็จะมีความถี่ที่แตกต่างกัน การเรียนรู้วิธีใช้ การตั้งค่าวิทยุบนเครื่อง สำหรับนักบินจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ
.
อากาศยานแต่ละแบบก็จะมีวิทยุที่แตกต่างกันไป ลูกเล่นการใช้งานก็หลากหลาย แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อของวิทยุเครื่องนั้นๆ
.
สำหรับศิษย์การบิน ที่เริ่มฝึกบินใหม่ๆ ความประหม่า ความเคอะเขิน ในครั้งแรกที่เริ่มฝึกพูดคุยติดต่อกับ ATC จึงเป็นเรื่องปกติที่มักพบเห็นอยู่บ่อย การฝึกฝน และซักซ้อมบ่อยๆจึงสำคัญ
.
รูปประโยคในการพูดคุยนั้นมันไม่ซับซ้อน นักบินจะต้องถูกฝึกให้ติดต่อสื่อสารได้อย่างชัดเจน คอนเซ็ปต์หลักที่ถือเป็นหัวใจสำหรับการสื่อสารมี 3 อย่างด้วยกัน คือ ชัดเจน กระชับ และถูกต้อง (Clear Concise และ Correct)
.
ก่อนสื่อสาร เราต้องคิดก่อนพูด ครูมักสอนให้จำ 4 Ws เสมอ ได้แก่ 1) เรากำลังพูดกับใคร 2) เราคือใคร 3) เราอยู่ที่ไหน และ 4) เราต้องการอะไร (Ws มาจาก Who you’re calling / Who you are / Where you are / What you want)
.
ตัวอย่างการติดต่อ (สมมติสถานการณ์นักบินกำลังบังคับเฮลิคอปเตอร์ชื่อ Chopper ZR อยู่บนลานจอดอากาศยาน และ จะขออนุญาต ATC เพื่อขับเคลื่อน ฮ.ไปตั้งตัวบนรันเวย์เพื่อวิ่งขึ้นต่อไป)
.
Pilot : Hun Hin Ground Chopper ZR VFR Training Area 1 Altitude 3000 feet Request taxi instruction
.
Ground Controller : Chopper ZR taxi to holding point RWY 16 via Taxiway B
.
แปลบทสนทนานี้ได้ว่า นักบินแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน (หัวหิน Ground) ว่า “จะทำการฝึกบินด้วยกฎการบิน VFR (Visual Flight Rules) ที่พื้นที่หมายเลข 1 ใช้ความสูง 3000 ฟุต ขอคำแนะนำในการขับเคลื่อนบนทางขับ”
.
เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับไปว่า “ให้ขับเคลื่อนไปที่จุดรอสำหรับรันเวย์ 16 ผ่านทางขับ B”
.
รูปแบบประโยคก็จะง่ายๆแบบนี้ เราไม่เน้นคุยกันยาวๆ เราเน้นคุณภาพของการสื่อสาร ไม่เน้นปริมาณ
.
เพราะการสื่อสารกันขณะทำการบินนั้น ไม่ได้มีแค่เราเพียงเครื่องเดียวที่อยู่ในความควบคุมดูแลของ ATC เพราะเหล่า ATC ก็จะต้องคอยมอนิเตอร์และพูดคุยกับอากาศยานอื่นๆที่ใช้ท้องฟ้าร่วมกันอีกมากมาย
.
ฉะนั้นงานของ ATC จึงไม่ง่าย พวกเขาต้องคอยดูแลป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานที่บินอยู่ หรือระหว่างอากาศยานและสิ่งกีดขวางต่างๆ รวมถึงจัดสรรการจรจรบนน่านฟ้าให้เป็นไปด้วยความสะดวกและปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ทำงานภายใต้ความกดดันสุดๆ
.
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คือหนึ่งในวิชา Communication ที่นักบินทุกคนจะต้องเรียน
.
วิชานี้ครอบคลุมเนื้อหาสาระมากมายตั้งแต่ ทฤษฎีคลื่นวิทยุ ตัวอักษร รหัสมอร์ส รูปแบบประโยคที่ใช้ในขั้นตอนต่างๆของการบิน เทคนิคการพูดวิทยุ และขั้นตอนการติดต่อสื่อสารเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
.
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นวิชาภาคบังคับที่โรงเรียนการบินจะอุ่นเครื่องให้กับศิษย์การบินได้เรียนรู้ เข้าใจ พร้อมจำลองสถานการณ์ ซักซ้อมก่อนลงสนามจริง ดังนั้นยังมีประโยคอีกมากมายหลายอย่างนักที่เหล่า “นก” บนท้องฟ้าต้องเรียนรู้และนำมาฝึกฝนใช้ให้ชำนาญ
.
การติดต่อสื่อสารถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการบิน เพราะการพูดคุยผ่านวิทยุโดยทั้งสองฝ่ายไม่เห็นหน้ากัน มีเพียงอากาศเป็นสื่อกลางนั้น บางครั้งสัญญาณไม่ดี มีคลื่นแทรก หรือห้วงยามที่การจราจรบนท้องฟ้าคับคั่ง การสื่อสารด้วยความกระชับ ถูกต้องและชัดเจนจึงสำคัญ
.
จังหวะจะโคนจะต้องได้ ไม่พูดแทรกกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดความชำนาญได้ต้องหมั่นฝึกซ้อม จินตนการ พูดกับตัวเองซ้ำๆ สมมติสถานการณ์ในหัว และประสบการณ์ในแต่ละชั่วโมงบินที่เก็บเกี่ยวจะช่วยเสริมให้นักบินมีความมั่นใจ และสามารถสื่อสารบนฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
มีคำกล่าวหนึ่งบอกไว้ว่า
“Flying is not just a mode of transportation but a precise language”
<การบินมิใช่เพียงแค่เรื่องของการเดินทาง แต่มันยังเป็นเรื่องของการใช้ภาษาที่แม่นยำด้วย>
.
จากอักษรโฟเนติก สู่รูปประโยค สู่การสื่อสาร และการสื่อสารบนฟ้านี้เองที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมเข้าหากัน มันพาทุกปีกเคลื่อนที่ไปในทุกที่ มันคือศิลปะ
.
และมันคือ หัวใจ ..
….
สาระเพิ่มเติม
.
*Visual Flight Rules – กฎการบินในสภาพอากาศที่มองด้วยตาเห็นชัดเจนหรือมีทัศนวิสัยที่มากกว่าตามที่กฎหมายการบินระบุไว้
.
– นอกจากกฎการบินแบบ VFR ก็ยังมีกฎการบินแบบ IFR ด้วย IFR ย่อมาจาก Instrument Flight Rules คือกฎการบินที่ถูกออกแบบมาสำหรับการบินในสภาพอากาศที่ไม่ดี (แต่สภาพอากาศดีก็เลือกบินด้วยกฎแบบนี้ได้) โดยที่นักบินจะบังคับเครื่องโดยใช้เครื่องวัดประกอบการบินเป็นหลักในการบิน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *