เริ่มต้นตั้งแต่เข้ารั้วโรงเรียนการบิน ศิษย์การบินจะต้องผ่านการสอบในแต่ละวิชาที่ได้เรียนไป (วิชาหลักมี 13 วิชา – อยากรู้ว่ามีวิชาอะไรบ้างอ่านเพิ่มได้ที่ link ใน Comment หรือโพสที่ปักหมุดไว้ด้านบน) และเมื่อสอบผ่านในโรงเรียนแล้ว ยังต้องขอสอบกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอีก ด้วยข้อสอบสุดหิน ที่การันตีมาตรฐานระดับโลก แน่นอนว่าหนีไม่พ้น 13 วิชานั้น
.
อนึ่ง กติกาใหม่ที่ออกแบบมาจากองค์กรการบินที่ขึ้นชื่อว่ามาตรฐานสุดๆ ทำให้ศิษย์การบินยุคใหม่ต้องทำข้อสอบให้ผ่านภายใต้กติกาใหม่ เช่น เกณฑ์ผ่านแต่ละวิชาคือ 75% ต้องวางแผนสอบให้ครบทุกวิชาภายใน 18 เดือน หากสอบวิชาใดไม่ผ่านเกิน 4 ครั้ง ปรับตกทุกวิชาที่เคยสอบผ่านมาก่อนหน้านั้น แล้วต้องวนกลับมาเริ่มสอบใหม่
.
ข้อสอบชุดใหม่ที่หน่วยงานกำกับดูแลทุ่มทุนซื้อมาใช้ เพื่อมาตรฐานระดับโลกก็ยากสุดๆ บอกได้เลยว่า ต่อให้เอากัปตันสายการบิน ครูการบิน ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักบินจากหน่วยงานผู้คุมกฎ มานั่งรวมกันในห้องสอบ แล้วเริ่มทำข้อสอบกันใหม่หมด แบบให้เวลาเตรียมตัวเท่ากันกับศิษย์การบิน ก็ใช่ว่าจะผ่านกันได้ง่ายๆ
เรียกได้ว่าคลื่นลูกใหม่สำหรับวงการบินของไทยเรา ต้องเลิศกว่าคลื่นลูกเก่าหลายโขแน่นอน
.
เมื่อศิษย์การบินสอบผ่านครบทุกวิชา จึงจะมีสิทธิ์ขอรับการตรวจสอบการบินเพื่อออกใบอนุญาตนักบินหรือ Licence มันคือใบเบิกทางแรกสำหรับโลกการบินเชิงพาณิชย์
.
เมื่อเช็กผ่าน ได้รับใบอนุญาตนักบิน ก็ก้าวเข้าสู่งานการบิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถโดดขึ้นเครื่องแล้วขึ้นบินได้เลย เพราะเครื่องที่บริษัทต่างๆใช้ก็มีหลากหลาย นักบินจะต้องไปเรียนเพิ่มเพื่อเพิ่มศักย์การบินสำหรับอากาศยานเฉพาะแบบที่จะไปบิน เราเรียกว่าเรียนเพื่อให้ได้ศักย์การบินหรือ Type Rating ของเครื่องนั้นก่อน เช่น เรียนบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบ S76C, S76D, S92, AW139 EC145 และอีกสารพัดแบบที่แต่ละบริษัทใช้
.
นักบินต้องเรียนทั้งทฤษฎี ต้องสอบให้ผ่าน ต้องฝึกบินภาคอากาศ และต้องผ่านการตรวจสอบการบินกับเครื่องแบบใหม่ที่ตนจะไปบินด้วย
.
เรียกได้ว่าจบจากโรงเรียนการบินว่าหินแล้ว ผ่านการสอบกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลในประเทศว่ายากแล้ว ออกไปเผชิญโลกกว้างยิ่งโหดกว่านั้นอีก
.
เพราะมันยังไม่จบแค่การเช็กผ่านแล้วได้ศักย์การบินกับเครื่องที่จะบินมาถือไว้ มาถึงจุดนี้ต้องบอกว่าวิถีชีวิตของคนติดปีกมันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง
วิชาชีพนี้จะวนเวียนอยู่กับบททดสอบเสมอ โดยเฉพาะหากเราอยากก้าวหน้าในสายอาชีพนี้ ชีวิตยังต้องถูกเหลาอีกเยอะ
.
เมื่อเช็กผ่าน ได้ประทับศักย์การบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบที่จะบินแล้ว ครั้นเริ่มบินรับส่งผู้โดยสารหรือบินตามลักษณะงานของบริษัทที่ไปอยู่ การสอบก็ยังไม่จบเพียงแค่นั้น ระหว่างการทำงาน นักบินจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานเป็นประจำตามวงรอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภาคทฤษฎีและการบิน เพราะว่างานบนฟ้าเราให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยไว้สูงที่สุด มาตรฐานการตรวจสอบตามวงรอบจึงจำเป็น
.
ต่อไปนี้คือตัวอย่างวงรอบการสอบของบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นสายงานบินเฮลิคอปเตอร์นอกชายฝั่ง สาเหตุที่ยกตัวอย่างของบริษัทแนวนี้เพราะมั่นใจว่ามีการตรวจสอบหลายอย่างที่เป็นมาตรฐาน เรียกได้ว่าแทบจะครบครันสุดๆ
.
1. License Proficiency Check (LPC) คือ การตรวจสอบความชำนาญในการบินสำหรับการคงไว้ซึ่งใบอนุญาตนักบินที่ถืออยู่ตามแบบเครื่องที่ตนทำการบินอยู่ในขณะนั้น วงรอบการตรวจสอบนี้จะทำทุก 12 เดือน ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่เราเรียกว่า TRE (Type Rating Examiner) หรือ SFE (Senior Flight Examiner)
.
2. Operator Proficiency Check (OPC) คือการตรวจสอบความชำนาญของการปฏิบัติการบิน วงรอบการตรวจทุก 6 เดือน เป็นการตรวจสอบว่านักบินมีความชำนาญด้านการบินที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในลักษณะงานขององค์กรหรือบริษัทนั้นๆหรือไม่ เพราะงานบินเฮลิคอปเตอร์เชิงพาณิชย์นั้นมีหลากหลายมาก ลักษณะงานก็จะแตกต่างกันไป
.
3. Instrument Rating Check คือการตรวจสอบการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน จะเช็กในทุกวงรอบ 12 เดือน บางบริษัทที่ไม่ทำการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินอาจไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบประเภทนี้
.
4. Line Check คือ การตรวจสอบการบินในการทำงานโดยปกติทั่วไป เพื่อดูว่านักบินทำการบินตามมาตรฐานของบริษัทหรือไม่ วงรอบการตรวจทุกๆ 12 เดือน การตรวจนี้จะทำในสภาพแวดล้อมการบินจริง เช่นมีผู้โดยสารนั่งอยู่ด้านหลังจริงๆ เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการดำเนินงานถูกต้องตามมาตรฐานและเป็นไปด้วยความปลอดภัย
.
5. Ground and Refresher Training คือการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติการบินของบริษัทนั้นๆ เช่นการทบทวนระบบอากาศยาน การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การอัพเดตขั้นตอนปฏิบัติต่างๆที่ผ่านๆมาเป็นต้น โดยจะทำทุก 12 เดือน
.
6. Crew Resource Management (CRM) คือการอบรมการจัดการทรัพยากรลูกเรือ เรียกได้ว่าทุกสายงานด้านการบินของทุกบริษัทจะต้องมีการอบรม CRM มันคือการฝึกเพื่อการทำงานเป็นทีม การอบรมและการตรวจสอบนี้จะทำทุก 12 เดือน
.
7. Dangerous Goods Training คือ การฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้าและสารอันตราย จะต้องฝึกอบรมทุก 24 เดือน สำหรับบริษัทที่มีการขนสินค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการอบรมนี้ให้กับพนักงาน เน้นการจัดการและความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุ สินค้าและสิ่งอันตรายที่จะบรรทุกไปกับอากาศยาน
.
8. Emergency and Safety Equipment (ESE) Training คือการฝึกอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ฉุกเฉินบนเครื่อง นักบินและพนักงานจะต้องรู้ว่าอากาศยานที่เราบินอยู่มีอุปกรณ์ฉุกเฉินอะไรบ้าง ใช้อย่างไร เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไร เช่น การใช้แพชูชีพ การใช้วิทยุฉุกเฉินบนเครื่อง การใช้ถังดับเพลิงบนเครื่อง หรือการใช้อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นบนเครื่อง สำหรับการอบรมนี้จะทำทุกๆ 12 เดือน
.
9. First Aid Training คือการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะทำทุกๆ 36 เดือน
.
10. Helicopter Underwater Escape Training (HUET) คือการฝึกหลบหนีจากเฮลิคอปเตอร์ใต้น้ำ ในกรณีเฮลิคอปเตอร์ต้องลงฉุกเฉินกลางทะเลหรือแม่น้ำ นักบินจะมีวิธีการอย่างไรในการเอาตัวรอดออกมา จะแนะนำผู้โดยสารอย่างไร รวมถึงเมื่อออกมาจากเครื่องได้แล้วจะทำอย่างไรต่อ การอบรมนี้จะทำทุกๆ 36 เดือน การฝึก HUET นี้สำคัญและจำเป็นมากสำหรับการปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง
.
จบรึยังสำหรับการสอบบนเส้นทางอาชีพนี้ อย่างที่เกริ่นไปแล้ว หากใครอยากเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพ เพียงแค่รักษาวงรอบการฝึกให้ครบพร้อมผ่านทุกบททดสอบก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อจบออกไปเป็นนักบิน ทุกคนจะเริ่มไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆ จากระดับ Co-Pilot (ผู้ช่วยนักบิน) ไปเป็น Senior Co-Pilot (ผู้ช่วยนักบินอาวุโส) ไปเป็นกัปตัน (Commander) จากกัปตันไปเป็นครูฝึกเฉพาะแบบ หรือTRI (Type Rating Instructor) จากครูฝึกไปเป็นนักบินผู้ตรวจสอบเฉพาะแบบหรือ TRE (Type Rating Examiner)
.
แน่นอนว่าทุกระดับที่ไต่ขึ้นไป รายได้ก็สูงขึ้นตาม ยกตัวอย่างบริษัทเฮลิคอปเตอร์แห่งหนึ่งในประเทศ จากผู้ช่วยนักบินได้เลื่อนระดับเป็นกัปตัน เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นทันที แต่ถามว่ากว่าจะปีนป่ายไปในแต่ละดับชั้น พวกเขาต้องผ่านอะไรกันบ้าง พูดได้คำเดียวว่าแทบกระอักเลือด
.
เพราะนอกจากจะต้องสะสมชั่วโมงบินได้ได้ครบตามเกณฑ์ในแต่ละระดับชั้น ยังต้องผ่านการอบรมหลายอย่างมาก โดยเฉพาะจากระดับผู้ช่วยนักบินไปเป็นกัปตันนั้น บางบริษัทกำหนดคอร์สการฝึกไว้อย่างเข้มข้น เรียกว่าคอร์ส CUC (Command Upgrade Course) ทั้งภาคทฤษฎีและการบิน นักบินจะต้องฝ่าด่านมากมาย ราวกับสอบจอหงวนของจีนในอดีต ยิ่งกว่าการทำวิทยานิพนธ์อีก
.
นอกจากการสอบทั้งหมดทั้งมวลที่อธิบายมาข้างต้น ยังมีอีกการสอบหนึ่งที่สำคัญที่สุดในวิชาชีพนี้ นั่นคือการตรวจสอบร่างกายนักบินประจำปี นักบินจะบินได้ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ต้องถือใบสำคัญแพทย์ตามระดับชั้นของใบอนุญาตนักบินที่ถืออยู่ อาชีพคนติดปีกต้องไปตรวจร่างกายทุกปี
สุดท้ายสุขภาพร่างกายก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จริงๆไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพนักบิน แต่มันคือทุกอาชีพด้วยซ้ำ
.
และหากใครรักในวิชาชีพนักบิน ชีวิตพร้อมจะให้ถูกเหลาอยู่เรื่อยๆ การสอบที่จะต้องเจอตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบันไดสูงสุดของสายอาชีพ จึงสรุปได้ดังนี้
.
1. สอบในรั้วโรงเรียนการบินให้ผ่าน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคอากาศ
2. สอบภาคทฤษฎีกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินในประเทศให้ผ่านทุกวิชา
3. สอบให้ได้ใบอนุญาตนักบิน (เช็กภาคอากาศ)
4. สอบกับอากาศยานแบบที่จะทำการบิน (ทั้งภาคทฤษฎีและภาคอากาศ)
5. สอบเพื่อรักษาความชำนาญในวิชาชีพนักบิน (มีวงรอบมากมาย ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของบริษัทนั้นๆ)
6. สอบเลื่อนระดับในสายงานที่ตนทำอยู่
7. รักษาสุขภาพร่างกายให้ดี ไปตรวจร่างกายเพื่อต่อใบสำคัญแพทย์ตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความสามารถในการบินไว้
.
จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มย่างก้าวบนถนนสายนี้แล้ว มันไม่ง่ายเลย เพราะอาชีพบนท้องฟ้า เราเน้นความปลอดภัย เราขายฝีมือ เราขายมาตรฐาน เราต้องผ่านการทดสอบตลอดชีวิต
.
ที่สำคัญ เมื่อได้เห็นวงการบินในบ้านเราถูกยกระดับมาตรฐานขึ้นมาระดับโลกแบบนี้แล้ว จินตนาการได้เลยว่านกยุคใหม่ ปีกใหม่ๆจะกล้าแกร่งว่ายุคเก่าอีกหลายโข คลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่า รอบรู้กว่า อดทนกว่า ทรหดยิ่งกว่าเก่าอย่างแน่นอน
.
แรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้เนื่องจากได้ไปทราบเรื่องน้องนักบินคนหนึ่งที่สอบวิชาทฤษฎีผ่านมาแล้ว 12 วิชา แต่มาพลาดในวิชาสุดท้าย คือสอบไม่ผ่านในวิชาสุดท้าย 4 ครั้ง ทำให้สิ่งที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดต้องล้มครืน
.
ประเด็นนี้น่าเห็นใจอย่างมาก เพราะนอกจากกติกาการสอบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ก็ไม่น้อยด้วย (ข้อสอบวิชาละ 2,500 บาท) แต่อยากจะให้กำลังใจน้องท่านนั้นว่า หากน้องสามารถกัดฟันสอบใหม่ทุกวิชาแล้วผ่านหมด น้องจะเป็นหนึ่งในนักบินไม่กี่คนบนโลกนี้ที่หัวใจแกร่งยิ่งกว่าเพชรแน่นอน
.
ส่วนตัวสมัยทำงานเป็นผู้ช่วยนักบินที่บริษัทแห่งหนึ่ง เคยเข้าคอร์ส CUC เพื่อเทรนเป็นกัปตัน ขณะผ่านการเช็กในแต่ละระดับ ไต่มาจนถึงเกือบขั้นสุดท้าย กลับมาตกม้าตายในการเช็กของเที่ยวบินนึง เรียกได้ว่าล้มทั้งยืน เพราะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เสียเวลาไปอีกปีกว่าๆ .. จากนั้นก็เฝ้าเพียรพยายามอีกครั้ง จนได้กลับมาเข้าคอร์ส CUC ใหม่ และเริ่มไต่บันไดสุดโหดใหม่อีกครั้ง จนผ่านในการเช็กของทุกเที่ยวบิน กระทั่งได้ประดับ 4 ขีดบนบ่าพร้อมค่าตัวที่เพิ่มขึ้นมาอีก 5 หมื่น
.
จงเชื่อในประโยคที่ว่า
.
“Every setback is a setup for a comeback” <ทุกความพ่ายแพ้คือการตั้งค่าใหม่สำหรับการกลับมาเสมอ>
.
และเมื่อไรที่คิดจะยอมแพ้ อย่าลืมมองว่าไกลแค่ไหนแล้วที่ก้าวข้ามผ่านมา ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความสำเร็จ มันคือจิ๊กซอว์หนึ่งของการเดินทาง
นักบินที่แผลเยอะจากบททดสอบ มักเติบโตและมีเรื่องเล่าที่ล้ำค่า พร้อมถ่ายทอดสู่ปีกรุ่นใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะประสบการณ์นั้นสำคัญกว่าทฤษฎีในหนังสือ
โดยเฉพาะประสบการณ์ล้มแล้วลุก ลุกแล้วยืน ยืนแล้วเริ่มเดินใหม่ .. เดินจนถึงเป้าหมายที่วางไว้ .. เมื่อหันกลับไปมองทุกร่องรอยที่ย่ำมา มันคือเครื่องการันตีชั้นเยี่ยมของทุกบททดสอบที่ก้าวผ่าน ..
.
แถมก้าวต่อๆไปจะยิ่งทรงพลังขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL