หลายองค์กรยัดตำรากฎหมายใส่มือ HR หวังกำราบพนักงานให้อยู่หมัด หากทำเช่นนั้นมันคือการสร้างบรรยากาศของการทำงานให้เป็นเสมือนบรรยากาศในสนามรบ
.
หากพนักงานรู้สึกว่าไปทำงานเหมือนไปออกรบ เมื่อนั้นองค์กรคงคลุกไปด้วยฝุ่นแห่งความบาดหมาง ความขัดแย้ง ความเครียด และผงพิษที่อบอวลโรยรอบ องค์กรคงไม่น่าอยู่
.
ตามสถิติแล้วจะเกิดเหตุสืบเนื่องตามมา 6 อย่างได้แก่ 1) พนักงานเก่งๆดีๆพากันลาออก ตามกันเป็นโดมิโน 2) ไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นในองค์กร 3) ภาพลักษณ์องค์กรเสื่อมลง 4) การขาดงาน+ปัญหาสุขภาพของพนักงาน 5) ลูกค้าหดหาย 6) ธุรกิจขาดทุน
.
ใช่ว่าการยัดเงิน เพิ่มตำแหน่ง ใส่ปัจจัยภายนอกลงไปให้มากแล้วจะช่วยแก้ปัญหาได้ พนักงานที่มีคุณภาพไม่ได้อยู่เพื่อเงินและตำแหน่งเสมอไป
.
เพราะปัจจัยสำคัญที่ถูกซ่อนไว้มักมาจากภายในล้วนๆ เมื่อขุดให้ลึกจะพบปัญหาที่ต้องคลายปมหลายอย่าง
.
ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญมากในองค์กรคือ HR หรือฝ่ายบุคคล เปรียบได้กับอัศวินที่ต้องคอยจัดทัพในบ้าน สร้างบรรยากาศให้น่าอยู่ ซึ่งทักษะทางจิตวิทยาที่ HR จำเป็นต้องมีประกอบไปด้วย 5 อย่าง ดังนี้
.
1. Conflict Resolution (ทักษะการขจัดความขัดแย้ง)
2. Assist Employees (ทักษะด้านการช่วยเหลือ)
3. Relaxation / Corporate Wellness (ทักษะการส่งเสริมสุขภาวะ)
4. Empowering Management (ทักษะเสริมสร้างการบริหารจัดการให้กับทั้งพนักงานและผู้นำองค์กร)
5. Provide a Good Environment (ทักษะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน)
.
ทั้งหมดนี้เมื่อนำตัวอักษรหน้าของแต่ละคำมาเรียงกันเขียนได้เป็น CARE-P เป็นทักษะที่ฝ่ายบุคคลสมควรมี
.
ถ้า HR มีทักษะครบทั้งหมด 5 อย่าง ที่ทำงานจะไม่เป็นสนามรบอีกต่อไป ถามว่าจะมีทักษะดังกล่าวได้อย่างไร คำตอบคือต้องเปลี่ยนจากอ่านตำรากฎหมายเป็นมาศึกษาทฤษฎีด้านจิตวิทยาดังต่อไปนี้แทน
.
1. เป็นนักแก้ความขัดแย้งได้ด้วยทฤษฎีของ Thomas Kilmann นักจิตวิทยาผู้พัฒนาเครื่องมือช่วยยุติความขัดแย้งที่ชื่อว่า TKI (Thomas Kilmann Conflict Mode Instrument) เครื่องมือนี้มีอยู่ 5 ชิ้นได้แก่ การแข่งขัน, การร่วมมือ, การประนีประนอม, การหลีกเลี่ยง และการยอมตาม
.
2. สร้างทักษะการช่วยเหลือเพื่อนพนักงานด้วยการศึกษาหลัก Empathy อ่านหนังสือของ Deniel Goleman เรื่อง ‘ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’ เพื่อขัดเกลากรอบความคิดของตนให้มองเพื่อนพนักงานด้วยกันฉันมิตร หาใช่มองพนักงานเป็นเครื่องจักรหรือเป็นแค่ทรัพยากรคนที่ต้องถูกใช้งานตามหน้าที่เพียงเท่านั้น
.
3. อ่านวิธีสร้างสุขภาวะได้จากโมเดล PERMA ของ Martin Seligman นักจิตวิทยาผู้เป็นบิดาแห่งศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวก โดยโมเดลนี้มีเครื่องมืออยู่ 5 ชิ้นได้แก่ อารมณ์บวก (Positive Emotion), การมีส่วนร่วม (Emgagement), ความสัมพันธ์ (Relationships), ความหมาย (Meaning) และความสำเร็จ (Accomplishment)
.
4. จัดฝึกอบรมให้กับผู้นำในองค์กร เพื่อให้รู้ทฤษฎี Transformation Leadership เนื่องจากผู้นำในองค์กรคือผู้กุมความอยู่รอดขององค์กร ทฤษฎีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้จึงสำคัญมาก ผู้นำต้องมีเทคนิคการสร้างแรงจูงใจ ให้แรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ สร้างความไว้วางใจ หนังสือที่แนะนำให้อ่านก่อนเลยคือหนังสือชื่อ Leadership ของ James MacGregor Burns นักประวัติศาสตร์และนักเขียนผู้เป็นตัวพ่อด้านภาวะผู้นำ
.
5. เปลี่ยนสนามรบในที่ทำงานให้เป็นสนามเด็กเล่นได้ด้วยแนวคิด Psychological Safety (ความปลอดภัยทางจิตใจ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาโดย Amy Edmondson ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมขององค์กรและจิตวิทยาในสถานที่ทำงาน
.
เช่นนั้นแล้ว ฝ่ายบุคคลหรือ HR จึงถือได้ว่าเป็นผู้เล่นหลัก เป็นอัศวินผู้จัดทัพที่สำคัญยิ่งขององค์กร สังเกตได้ว่าองค์กรไหนน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ให้ดูได้สองอย่างคือ 1) HR ของบริษัทถูกเปลี่ยนตัวบ่อยหรือลาออกบ่อยไหม 2) คนในบริษัทส่วนใหญ่เมื่อถูกชวนถามถึง HR ของตนแล้ว พวกเขามีสีหน้าและ Feedback กันอย่างไร
.
องค์กรที่หลงทางมักยื่นกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆให้ HR ไว้ถือครอง หากที่ผ่านมาบรรยากาศในที่ทำงานมันชื่นมื่นก็แล้วไป แต่การันตีได้เลยว่าที่ไหนใช้ระเบียบนำอย่างเข้มข้น ที่ทำงานไม่ต่างกับสนามรบแน่นอน
.
อยากเปลี่ยนแปลงก็ลองโน้มใจมาเรียนรู้ทฤษฎีเหล่านั้นดู ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของจิตวิทยาเชิงบวกล้วนๆ ..
.
บางครั้งกฎอาจใช้ได้ดีกับพวกบัวใต้น้ำ กับพนักงานที่ขุนไม่ขึ้น บางทีก็จำเป็นต้องเด็ดขาด แต่จะดีกว่าถ้าไม่ต้องนำกฎมาใช้กันทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งก็จำเป็นต้องมีฝีไม้ลายมือพอควร
.
ทักษะ CARE-P จึงสมควรถูกสร้างให้เกิดขึ้นกับฝ่ายบุคคลทุกคนขององค์กร
.
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกทฤษฎีที่หยิบยกมาล้วนผ่านการขบคิดและตกผลึกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี หากแต่ในทุกวันนี้ยังมีพนักงานตื่นเช้าขึ้นมาแล้วยังต้องใส่ชุดเกราะเพื่อเตรียมตัวไปออกรบกันอยู่เลย
.
ก็ไม่รู้ว่าทำไมหลายองค์กรจึงเปลี่ยนแปลงยากนัก .. หลายที่มี HR เก่งๆอยู่เพียบ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเชี่ยวชาญงานทักษะด้าน Hard Skills ทำงานเก่ง ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพราะงาน HR นั้นเรียกได้ว่าสากกะเบือยันเรือรบ
.
แต่น่าเสียดายที่องค์กรหลายที่มักเน้นแต่ทักษะ Hard Skills กันอย่างเดียวจนไม่มุ่งเน้นทักษะทางด้านจิตวิทยากันเลย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญสุดๆ
.
ไม่อยากให้คนเก่งๆลาออกกันแบบโดมิโน ไม่อยากให้พนักงานลาป่วยบ่อย ไม่อยากให้ลูกค้าหดหาย ไม่อยากให้ธุรกิจขาดทุน องค์กรคงต้องตระหนักและเสริมสร้างทักษะ Soft Skills ให้กับเหล่า HR ของตัวเองให้มาก
.
เริ่มต้นได้ที่ ..
.
ยึดตำรากฎหมายคืนมาก่อนเลย แล้วยัดหนังสือดีๆเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวกใส่มือ HR เหล่านั้นแทน ..
.
บางครั้งอาจต้องใช้เวลา แต่มันก็ยังดีกว่าปล่อยให้บรรยากาศในองค์กรต้องคลุกฝุ่นของสนามรบกันอยู่เรื่อยไป
.
….
.
อ้างอิงข้อมูลจากเพจ Istrong Mental Health และศาสตร์เรื่องจิตวิทยาเชิงบวกที่เคยได้ศึกษามา
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL