Skip to content

ตัวอักษรบนท้องฟ้า

  • by
ก่อนโลกจะถูกเชื่อมกันด้วยถนนสมมติบนอากาศ แผ่นดินแต่ละทวีปถูกเชื่อมกันด้วยเส้นทางในทะเลมาก่อนหลายศตวรรษ
.
อาจพูดได้ว่าการเดินทางในอากาศก็มีรากฐานมาจากการเดินเรือในทะเลนั่นเอง ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารก็เช่นกัน
.
ทหารเรือทุกคนจะต้องถูกฝึกให้ท่องอักษรเสียงหรือโฟเนติก (Phonetic Alphabet) รหัสมอร์ส การตีธงสองมือ และสัญลักษณ์ต่างๆ ทุกคนต้องจำได้ และใช้งานเป็น ผมเคยได้รับการฝึกมาครบทั้งหมดนั้น
.
เวลาเรือเดิน เสียงคลื่นลม เสียงเครื่องยนต์ และอีกสารพัดเสียง ทำให้การได้ยินผิดเพี้ยนไป แม้แต่เสียงพูดติดต่อสื่อสารผ่านวิทยุ บางอักษรออกเสียงคล้ายกัน เช่น “B”, “E”, “P”, “G”
.
บางครั้งผู้ฟังไม่สามารถแยกออกได้ว่ามันคืออักษรอะไร และเมื่อการสื่อสารผิดเพี้ยน องคาพยพทั้งระบบอาจรวนได้ โดยเฉพาะในยามสงคราม อาจถึงขั้นหายนะ
.
การกำหนดชื่อให้แต่ละตัวอักษรจึงเกิดขึ้น
.
เช่น เราอาจเรียกอักษร A ว่า “Ant (แอ็นท์)” เรียก B ว่า “Boy (บอย)” แต่ในทางสากลเรามีคำเรียกเฉพาะสำหรับทุกตัวอักษร (เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร)
.
ย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.1801 – 1900) ในยุคที่ยังไม่มีเรือเหาะ ยุคที่ใช้เรือเดินทางในทะเล การสื่อสารระหว่างเรือกับเรือได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ
.
ยุคนั้นมีระบบการใช้สัญญาณสากลหรือเรียกว่า ICS (International Code of Signals) ออกแบบเพื่อจัดระบบมาตรฐานในการสื่อสารบนเรือ สมัยนั้นจะเน้นในเรื่องสัญญาณภาพ รหัสมอร์ส และการใช้ธงสัญญาณ
.
จาก ‘เรือเดินทะเล’ มาสู่ ‘เรือเดินอากาศ’
.
ต่อมาองค์กร ITU (International Telecommunication Union : สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ได้พัฒนาอักษรโฟเนติกเวอร์ชั่นแรกๆ ปรับปรุงเพื่อใช้ในการสื่อสารทางวิทยุ เจตนาเพื่อลดความเข้าใจผิดในการติดต่อสื่อสารขณะเดินเรือและต่อมาเมื่อการบินเกิดขึ้นจึงได้เริ่มนำมาใช้สำหรับการ ‘เดินอากาศ’ (ในช่วงปี ค.ศ.1920)
.
เมื่อโลกย่างเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 – 1945)
.
กองกำลังทหารของแต่ละประเทศก็พยายามขบคิดการเรียกอักษรต่างๆในรูปแบบของตัวเอง เช่น อักษร A บ้างเรียกว่า “Ack (แอ็ค)” บ้างเรียก “Able (เอเบิ้ล)” อักษร B บางหน่วยเรียกว่า “Beer (เบียร์)” ขณะที่บางแห่งเรียกว่า “Baker (เบเกอร์)”
.
ไม่ว่าจะเดินเรือในทะเลหรือบินบนท้องฟ้า การใช้คำเรียกอักษรต่างๆในยุคนั้นก็ยังสะเปะสะปะ
.
เพราะการออกเสียงของคนแต่ละประเทศมีสำเนียงที่ต่าง บางประเทศไม่สามารถออกเสียงได้เหมือนหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องมีหน่วยงานกลางเกิดขึ้นมา เพื่อช่วยกำกับดูแล และ Set up คำกลางให้สามารถใช้กันได้ในวงกว้างมากขึ้น
.
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (หลัง ค.ศ.1945)
.
ได้เกิดหน่วยงานมากมายและหน่วยงานที่ได้ช่วยกันบูรณาการภาษากลางเอาไว้ใช้กันทั้งทางทะเลและบนฟ้า ทั้งทางทหารและพลเรือน ได้แก่
ICAO IMO และ NATO
.
ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) – ก่อตั้งเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐาน ข้อบังคับ เพื่อความปลอดภัยทางการบิน
IMO (องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ) – กำหนดมาตรฐาน กฎต่างๆเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
NATO (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) – วัตถุประสงค์เพื่อรวมประเทศที่มีนโยบายทางทหารเหมือนกัน ในการป้องกันภัยคุกคามทางทหาร <ยุคนั้นอเมริกาต้องการคานอำนาจกับโซเวียต>
.
ดูเหมือนภารกิจทางทหารจะถูกให้ความสำคัญหนัก และถูกพัฒนาในเรื่องต่างๆอย่างรุดหน้าและรวดเร็ว อักษรโฟเนติกก็คือหนึ่งในนั้น
.
กระทั่ง ปี ค.ศ. 1956 NATO จึงพัฒนาการออกเสียงอักษรทั้งหมดให้สามารถใช้ร่วมกันได้ในหลายประเทศ เพราะผ่านการค้นคว้าและวิจัยมาอย่างดีแล้วว่า เมื่อคนแต่ละประเทศออกเสียงคำแต่ละคำแล้ว จะไม่เกิดการฟังที่ผิดเพี้ยนไป เช่น จากคำว่า “Able (เอเบิ้ล)” ก็กลายมาเป็นคำว่า “Alpha (อัลฟา)”
.
เมื่ออักษรโฟเนติกที่เป็นมาตรฐานเกิดขึ้น ทั้ง ICAO และ IMO จึงได้นำการเรียกแบบใหม่มาปรับใช้จนถึงปัจจุบันนี้ ภาษาที่นักเดินเรือและนักบินใช้ จึงใช้รูปแบบของอักษรที่เหมือนกัน
.
ต่อไปนี้คือชุดอักษร Phonetic Alphabet ที่ได้ถูกตกผลึกมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพื่อให้ทั้งนักเดินเรือและนักบินได้ใช้กันอย่างเป็นสากล
.
• A – Alpha (อัลฟา)
• B – Bravo (บราโว่)
• C – Charlie (ชาร์ลี)
• D – Delta (เดลต้า)
• E – Echo (เอคโค่)
• F – Foxtrot (ฟ็อกซ์ทร็อต)
• G – Golf (กอล์ฟ)
• H – Hotel (โฮเทล)
• I – India (อินเดีย)
• J – Juliet (จูเลียต)
• K – Kilo (กิโล)
• L – Lima (ลิมา)
• M – Mike (ไมค์)
• N – November (โนเวมเบอร์)
• O – Oscar (ออสการ์)
• P – Papa (ปาป้า)
• Q – Quebec (คิวเบค)
• R – Romeo (โรมีโอ)
• S – Sierra (เซียร่า)
• T – Tango (แทงโก้)
• U – Uniform (ยูนิฟอร์ม)
• V – Victor (วิคเตอร์)
• W – Whiskey (วิสกี้)
• X – X-ray (เอกซ์เรย์)
• Y – Yankee (แยงกี้)
• Z – Zulu (ซูลู)
.
หากสังเกตลำตัวเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ จะเห็นมีอักษรห้าตัวแปะอยู่ (คือทะเบียนอากาศยาน) เวลาเรียก เราก็จะเรียกพวกเขาตามคำอ่านของอักษรโฟเนติกเหล่านี้นั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่น เฮลิคอปเตอร์ทะเบียน HSTZR เราก็จะเรียกชื่อเขาว่า
.
“โฮเทล เซียร่า แทงโก้ ซูลู โรมีโอ”
.
จาก ‘เดินเรือ’ สู่การ ‘เดินอากาศ’ อักษรเหล่านี้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า และถูกใช้กันโดยทั่วไป เมื่อโลกทั้งใบถูกเชื่อมถึงกันด้วยท้องฟ้า การไปมาหาสู่กันจึงสะดวกขึ้น เมื่อไหร่แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า ผมมักเห็นตัวอักษรโฟเนติกนั้นลอยว่อนกันไปทั่ว
.
กลับกันเมื่อผมบินอยู่บนท้องฟ้า มองลงมาในทะเล ผมแลเห็นเรือสินค้าเหล่านั้น ก็พลางนึกถึงสมัยฝึกท่องตัวอักษรโฟเนติก รหัสมอร์ส และการตีธงสองมือ คิดถึงการเดินทางอันแสนยาวนานของตัวอักษรเหล่านั้น
.
และมันคือความสวยงามของวิวัฒนาการในการจัดระเบียบการสื่อสารอย่างบูรณาการให้กับพวกเราได้ใช้กันถึงทุกวันนี้
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
– การตีธงสองมือ คือ ระบบการรับส่งข่าวสารอย่างหนึ่ง ผู้ส่งสัญญาณจะถือธงที่มีด้ามไว้ (มีทั้ง 2 มือ) แล้วจะมีท่าทางการโบกธงต่างๆ แสดงความหมายในแต่ละตัวอักษร
.
– รหัสมอร์ส คือ รูปแบบสัญลักษณ์สั้นและยาว (จุดและขีด) ผสมกันเป็นตัวอักษร เช่น A คือ . _ B คือ _… ซึ่งสามารถส่งรหัสได้ทั้งระบบการเคาะเป็นเสียง หรือสัญญาณไฟก็ได้
.
– ICAO ย่อมาจาก International Civil Aviation Organization
.
– IMO ย่อมาจาก International Maritime Organization
.
– NATO ย่อมาจาก North Atlantic Treaty Organization
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *