สองพันกว่าปีก่อนก็มีปรัชญาว่าด้วยการ ‘ช่างแม่ง’ เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น แนวคิดของสโตอิก ที่สอนให้คนเราเลือกโฟกัสไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ ส่วนสิ่งไหนคอนโทรลเองไม่ได้ก็ไม่ต้องไปแคร์กับมัน จะว่าไปมันก็คล้ายหลักการ ‘ปล่อยวาง’ ของชาวพุทธ
.
ทว่าหากใช้ปรัชญานี้แบบผิดๆ มันก็กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับพวก ‘ไม่สนโลก’ สำหรับกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ตีเนียนอยู่ในองค์กร แล้วอ้างปรัชญา ‘ช่างแม่ง’ ตีกินกับแนวคิด ‘ปล่อยวาง’ หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่เคยเป็นพนักงานที่ทุ่มเทแบบสุดๆ แต่ทำไปก็เท่านั้น เหนื่อยฟรี สุดท้ายก็เลือกทำงานแบบ ‘อยู่ไปวันวัน’
.
ผมผ่านงานราชการ เอกชน ธุรกิจส่วนตัว หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจ แทบจะเห็นกลุ่มคนทำงานมาครบทุกแบบ บอกได้เลยว่า ทุกผู้เล่นล้วนมีเรื่องเล่าและที่มาทั้งสิ้น แม้กระทั่งคนที่ ‘โน’ สุดๆ หากสืบย้อนไปจะพบว่าพวกเขาเคยเป็นคนเก่ง เคยเป็นขาลุยมาแล้วก็หลายคน
.
< โน คือคำศัพท์เฉพาะในหมู่นักเรียนทหาร มาจากคำว่า No หมายถึง พวกไม่เอาอะไรเลย พวกไม่สนโลก >
.
ส่วนตัวเวลาทำงาน ผมมักจะวิเคราะห์ให้เคลียร์ๆกันก่อนว่างานชิ้นนี้มีปัจจัยอะไรที่คุมได้และอะไรที่คุมไม่ได้ เสร็จแล้วก็ลุยสุดๆไปกับสิ่งที่คอนโทรลได้อย่างบ้าคลั่ง ตามสไตล์ Hustle Culture (ลุยเต็มที่ไม่มีถอย) ส่วนอะไรที่คุมไม่ได้ ก็พยายามใช้ปรัชญา ‘ช่างแม่ง’ เข้ามาจับ เพราะมีบทเรียนสมัยครั้งทำงานราชการ สมัยยังไม่รู้จักปล่อยวาง จากขาลุย ลุยไปมากๆก็เริ่มเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า ‘Quiet Quitting’ เพระว่ายิ่งลุยตรงๆมาก แผลบนหลังก็ยิ่งเหวอะมากขึ้น
.
Quiet Quitting คือสภาพของคนที่เริ่มถอนตัวออกจากงานแบบเงียบๆ ไม่มีใจจะทุ่มเทให้กับองค์กรอีกต่อไป เข้างานและเลิกงานตามเวลาเป๊ะๆ และเลือกทำเฉพาะงานที่ได้รับผิดชอบเท่านั้น
.
สาเหตุที่เป็น Quiet Quitting ก็เพราะว่าเราอินไปกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้มากจนเกินไป มันเกิดจากความคาดหวัง เกิดจากการทุ่มเทไปมากเกิน ในขณะที่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดังหวังหรือบางครั้งก็ไปเหยียบตีนมาเฟียองค์กรโดยไม่รู้ตัว
.
จาก Quiet Quitting สักพักก็จะลามไปสู่สภาพของการ Burn Out หรือไฟในตัวหมด จากนั้นจะกลายเป็นพนักงานที่ไร้ประสิทธิถาพ การงานบกพร่อง เละเทะไปหมด
.
พนักงานหลายคนที่เดินมาถึงจุดนี้ .. อยู่ไปสักพัก ก็มัก ‘ลาออก’ หากไม่ลาออก กลุ่มนี้ก็จะกลายพันธุ์ไปเป็นพวก ‘โน’ หรือกลุ่ม ‘ไม่สนโลก’ เพราะรู้ดีว่าทำอะไรไปก็ไม่เป็นผล หวังดีต่อหน่วยงานก็ไม่มีใครเห็นค่า สำหรับองค์กรแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง
.
สำหรับผมแล้ว เคยผ่านมาครบทุกสภาวะไม่ว่าจะเป็นพวก Hustle Culture (ลุยเต็มที่ไม่มีถอย) Quiet Quitting (อยู่ไปวันๆ ทำได้เท่าที่ทำไหว ไม่หนีแต่ยังรับผิดชอบ) หรือล้าสุดๆจนถึงขั้น Burn Out และจบท้ายด้วยการลาออก
.
โดยสรุปพนักงานกลุ่ม ‘ไม่สนโลก’ อาจเกิดมาจากพวกที่โนจริงๆเป็นสันดาน กับกลุ่มที่เคยมีฝีมือมาก่อนแต่เริ่มเข้าสู่สภาวะ Quiet Quitting เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
.
พวกโนเป็นสันดานยังแบ่งได้อีกหลาย level เช่น โนจริงๆแบบไม่เอาอะไรเลยเพราะไร้ประสิทธิภาพจริงๆ พวกโนแล้วตีกินไปวันๆ หรือพวกจ้าวไอเดีย คือมีไอเดียมากแต่ไม่อยากทำ กลุ่มนี้จะเนียนมาก
.
วิธีจัดการกับกลุ่ม ‘ไม่สนโลก’ อาจต้องจำแนกแยกคนออกให้ได้ก่อนว่าพื้นเพนั้นเขาเป็นคนประเภทไหน หากอยู่ในกลุ่มโนเป็นสันดานหากทำได้ก็ตัดทิ้งออกไปจากระบบดีที่สุด ใช้กฎเข้มงวดหวดให้เต็มที่อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่หากเป็นประเภทจ้าวไอเดีย อาจต้องดูเป็นเคสบายเคส เพราะบางคนอาจปรับทัศนคติใหม่ได้
.
แต่ถ้าเป็นคนมีฝีมือแล้วเริ่มเข้าสู่โหมด Quiet Quitting ในที่นี้ผู้บริหารจำเป็นต้องใส่ใจและมองให้ทะลุว่าพนักงานน้ำดีกำลังจะหมดไฟแล้ว วิธีแก้ไขตามหลักการสำหรับผู้บริหารสามารถใช้สูตร S.P.A.C.E ประกอบไปด้วย
.
1. Support and feedback – สนับสนุน เปิดใจ รับฟัง feedback หาเวลาชวนคุย นั่งเปิดใจกัน เป็นผู้นำต้องฟังให้มาก ใช้หลัก Empathy ให้เป็น
.
2. Protect (Create a safe space work) – สร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงาน เปิดโอกาสให้พนักงานมีพื้นที่ในการสื่อสาร กล้าแสดงออก รู้สึกปลอดภัยในทุกบริบท ในทุกสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
.
3. Align (Prevent division by aligning teams) เฝ้าระวังการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เรื่องนี้สำคัญมาก ในทุกองค์กรจะมีเหล่ามาเฟีย มีก๊กมีเหล่า ผู้นำต้องกำราบการเมืองในองค์กรให้ได้ สร้างทีมใหญ่ให้เป็น
.
4. Care – ใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของพนักงาน – เพราะความสุขในที่ทำงานจะขับเคลื่อนคุณภาพของงานออกมา มนุษย์ที่กำลังหมดไฟมีโอกาสเป็นซึมเศร้าสูง ผู้นำที่มีเสน่ห์คือผู้นำที่ใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูกน้องอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
.
5. Evolve (Adjust organizational culture) – แก้ที่วัฒนธรรมองค์กร นี่คือเรื่องที่ยากที่สุด ซับซ้อนที่สุด ผู้บริหารจำเป็นต้องมีโค้ช จำเป็นต้องมองให้ออกว่าวัฒนธรรมใดที่ฉุดรั้งองค์กรเอาไว้ พฤติกรรมใดของพนักงานที่ทำซ้ำๆถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นแล้วมันห่วย สิ่งไหนที่ดึงพนักงานขาลุยให้ท้อแท้หมดหวัง หากแก้เรื่องนี้ได้ แทบจะปลดล็อกปัญหาต่างๆได้ง่ายดายขึ้น
.
ส่วนผู้ที่ประเมินตนเองได้ว่ากำลังเข้าสู่สภาวะ Quiet Quitting ก็สามารถใช้ปรัชญา ‘ช่างแม่ง’ ของสโตอิกเข้ามาช่วยได้ แต่อย่าให้ถึงขั้นโนไม่สนโลกเพราะหากถึงจุดๆนั้น มันน่าจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย มีแต่จะดิ่งลงไปเรื่อยๆ และหากว่าเปลี่ยนคนรอบข้างไม่ได้ เปลี่ยนสิ่งที่ทำตามๆกันมาแล้วมันห่วยไม่ได้ เปลี่ยนเจ้านายไม่ได้ เปลี่ยนลูกน้องไม่ได้ สุดท้ายก็แค่ ‘ช่างแม่ง’ แล้วก็โฟกัสไปที่งานที่ควบคุมได้ เมื่อระฆังที่ทำงานตี ก็แค่เลิก กลับบ้าน ไปวิ่ง ไปดินเนอร์ จะว่าไป Quiet Quitting ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรมากนัก .. หากใช้หลัก ‘ปล่อยวาง’ ของพุทธมาจับ พวกเขาย่อมไม่ถึงขั้น Burn out แน่นอน
.
ทว่ามันน่าเสียดาย เพราะคนประเภท Quiet Quitting เขาเคยเป็นคนขาลุยมาก่อน เป็นพวกทำงานสไตล์ Hustle Culture ซึ่งถ้าผู้บริหารดักจับสภาวะนี้ของพนักงานได้ก่อนจะดีมาก เพราะไม่มีขาลุยคนไหนอยากเข้าสู่สภาวะแบบ Quiet Quitting หรอก
.
การดักจับภัยเงียบของคนที่กำลังจะเป็น Quiet Quitting คีย์แมนมีอยู่สองคนคือ เจ้าตัว กับ ผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ฉะนั้นแล้ว ชั้นเชิงของผู้บริหารจึงสำคัญนัก มองให้ขาดว่าใครกำลังจะ ‘ช่างแม่ง’ หรือใครเป็นพวก ‘ไม่สนโลก’
.
เมื่อมองขาด ก็เยียวยาพนักงานได้ถูก เมื่อนั้นองค์กรก็จะยังไม่ขาดพวกขาลุย
.
..ซึ่งมันจำเป็นมากสำหรับองค์กรที่ใคร่อยากจะเติบโต..
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL