Skip to content

ช่างซ่อมอากาศยาน / ผู้อยู่เบื้องหลังงานบนฟ้า

ทุกปีกบนฟ้าจะไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ หากขาดพวกเขา ผู้ที่อยู่เบื้องหลังนกเหล็ก ผู้ที่รู้จักทุกชิ้นส่วน ทุกอวัยวะ ทุกระบบ ช่วยรักษา ซ่อมแซม และทำงานอยู่ในฉากหลังเสมอ พวกเขาคือ ‘ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน’
.
หนึ่งในคีย์แมนที่นักบินต้องทำงานด้วยตลอดเวลา การที่จะนำนกเหล็กออกไปกางปีกขึ้นบินได้ เครื่องจะต้องผ่านการตรวจจากช่างก่อนเสมอ
.
ตำราระบบของเครื่อง อวัยวะทุกชิ้นนั้น ช่างจะรู้ดีที่สุด บางครั้งนักบินอ่านหนังสือไม่เข้าใจระบบอะไร หรืออยากรู้รายละเอียดเชิงลึก ก็สามารถไปถามพี่ช่างได้ พวกเขารู้ลึก รู้จริง และให้คำตอบได้ดี บางครั้งเราก็แลกเปลี่ยนมุมมองกัน ในฐานะ ‘ผู้ใช้’ และ ‘ผู้ซ่อม’
.
สมรรถนะที่ช่างซ่อมอากาศยานต้องมีได้แก่
.
1. Application of Procedures (การปฏิบัติตามขั้นตอน)
ทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือ รู้ว่างานไหนต้องทำตามคู่มือไหน อ้างอิงจากหนังสือเล่มไหน ประยุกต์ความรู้ที่มี ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
.
2. Work Management (การบริหารจัดการงาน)
ช่างจะใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอย่างมีประสิทธิภาพ จัดลำดับความสำคัญของงานได้เป็นอย่างดี
.
3. Situational Awareness (การตระหนักในสถานการณ์)
ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของการบำรุงรักษาอากาศยานในปัจจุบัน สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
.
4. Technical Expertise (ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค)
สมรรถนะนี้เป็นสิ่งพิเศษสำหรับผู้ที่เป็นช่าง เพราะงานนี้เป็นงานเฉพาะทาง เป็นงานฝีมือ งานซ่อมบำรุงอากาศยานจึงต้องการช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถประยุกต์ความรู้และทักษะที่มีเพื่อนำมาใช้กับงานซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
5. System Thinking (การคิดเชิงระบบ)
ช่างจำเป็นต้องคิดเชื่อมโยงเป็น ประเมินการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างระบบ การควบคุมคุณภาพ การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยด้วย ช่างจะใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในการนำมาตีความหาจุดบกพร่องและปัญหาต่างๆได้
.
6. Coordination and Handover (การประสานงานและการส่งต่องาน)
ในบางครั้งงานซ่อมมันไม่จบภายในห้วงเวลาการทำงานนั้น ช่างจึงจำเป็นต้องมีการส่งงานต่อ ดังนั้นการประสานงานและส่งต่องานด้านการซ่อมบำรุงจึงสำคัญมาก เป็นอีกหนึ่งทักษะจำเป็นที่ต้องมี
.
7. Risk Management (การจัดการความเสี่ยง)
อีกหนึ่งสมรรถนะสำคัญของการซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่างจะมีทักษะของการจัดการความเสี่ยง ระบุความเสี่ยงได้ วิเคราะห์รากของปัญหาเป็น
.
8. Teamwork (การทำงานเป็นทีม)
สิ่งนี้สำคัญไม่แพ้ทักษะอื่นๆ เพราะช่างจะทำงานกันเป็นทีมเสมอ มีการแชร์ข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ เข้าใจ สนับสนุน เคารพกันและกัน เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั่นคือการรักษาไว้ซึ่งความพร้อมในการบินของอากาศยาน
.
9. Problem-Solving and Decision-Making (การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ)
ช่างจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่มีในการระบุปัญหาได้อย่างแม่นยำ แก้ไขปัญหา และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
10. Self-Management and Continuous Learning (การบริหารจัดการตนเองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง)
งานซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นงานที่มีความเครียดสูง นอกจากจะต้องซ่อมบำรุงดูแลรักษาเครื่องแล้ว ยังต้องจัดการภาระงานไปพร้อมๆกับการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
.
11. การสื่อสาร (Communication)
การสื่อสารถือเป็นทักษะที่ครอบคลุมในทุกสาขาวิชาชีพเลยก็ว่าได้ สำหรับช่างก็เช่นกัน จะต้องสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูด การเขียน หรือแม้แต่การแสดงออก ทุกการถ่ายทอดล้วนมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เดียวกัน สำหรับการบิน มันคือเรื่องของความปลอดภัย
ในทุก 11 สมรรถนะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แต่ละสมรรถนะยังแยกย่อยออกเป็นพฤติกรรมต่างๆได้อีกเพียบ รวมๆแล้วมีถึง 89 ทักษะที่ช่างต้องมี (มีมากกว่านักบินอีก)
.
จะเห็นได้ว่าในการบิน วิชาชีพช่างนี้ไม่ธรรมดาเลย เป็นงานละเอียด ประณีต และต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้ง
.
นักบินกับช่างเปรียบได้กับคู่หูที่หนีกันไม่พ้น การทำงานร่วมกันจึงถือเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จในทุกภารกิจ
.
ส่วนตัวมองว่าช่างเปรียบเหมือนครูของนักบินคนหนึ่ง เพราะเวลาเราอ่านหนังสือไม่เข้าใจระบบตรงไหนก็เดินไปถามพี่ช่างให้พาดูเครื่อง เปิดระบบ อธิบายไปพร้อมมองเห็นอุปกรณ์ของจริงไปด้วยกัน
.
ช่างยังเปรียบเหมือนกับหมอที่คอยรักษาเมื่อเครื่องมีปัญหา หมอที่รู้อาการคนไข้ แค่ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็พยักหน้าอ๋อ แล้วบอกได้ว่ามีอะไรสะดุดตรงไหนรึปล่าว
.
บางครั้ง ‘ผู้ใช้’ และ ‘ผู้ซ่อม’ อาจมีมุมมองที่ต่างกัน ด้วยเพราะธรรมชาติของงานนั้นต่างกัน ความไม่เข้าใจกันก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายลักษณะของงานด้านการบินจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ‘การปฏิบัติตามขั้นตอน’ (Application of Procedures) การสื่อสาร (Communication) และ ‘การทำงานกันเป็นทีม’ (Teamwork)
นักบินต้องใช้เครื่อง ช่างเป็นผู้ดูแลเครื่อง รับผิดชอบเรื่องความพร้อมของเครื่องก่อนที่จะปล่อยให้นักบินเอาไปใช้ .. สองบทบาทนี้แยกกันไม่ขาด ฉะนั้น “การเข้าใจเขา เข้าใจเรา” จึงเป็นหนึ่งในศิลปะของการทำงานในวงการนี้
.
หากมองขึ้นไปบนฟ้า แลเห็นนกเหล็กที่ลอยได้เหล่านั้น ก็ขอให้นึกถึงผู้อยู่เบื้องหลังงานบนท้องฟ้า ผู้ที่ควรได้รับการส่งเสริม ควรสร้างแรงจูงใจให้กับพวกเขาให้มาก
.
ดังประโยคนึงว่าไว้
.
“Pilots soar because mechanics make wings trustworthy”
.
นักบินเอาเครื่องขึ้นไปบินได้ก็เพราะการซ่อมบำรุงดูแลรักษาเครื่องจากเหล่าช่างนั่นเอง
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *