คำว่าครูสำหรับคนไทยนั้นลึกซึ้งนัก ครูที่สอนบิน เราใช้คำว่า “ครู” ในขณะที่ฝรั่งใช้คำว่า “Instructor” และหลายคนไม่รู้ว่ากว่าจะเป็นนักบินได้นั้น มันต้องผ่านการเรียน การฝึก การเหลา และการขัดเกลาสารพัดอย่าง
.
ไม่มีนักบินคนไหนที่อ่านตำราเองแล้วกระโจนขึ้นเครื่องจับคันบังคับแล้วฝึกบินด้วยตัวเองอย่างแน่นอน กฎหมายใหม่แยกย่อยครูสอนบินออกเป็น 7 ประเภท (ไม่รวมครูที่สอนวิชาทฤษฎีต่างๆที่พื้น ซึ่งมีวิชาหลักสำหรับนักบินทั้งหมด 14 วิชา)
.
ครูทั้ง 7 ประเภทนี้คือครูที่ทำหน้าที่ฝึกบินภาคอากาศ หมายถึงไปสอนกันบนฟ้าหรือสอนบินกันในห้องฝึกบินจำลอง
.
นับจากก้าวแรกที่เริ่มฝึกบินในรั้วโรงเรียนการบิน ศิษย์การบินทุกคนจะต้องฝึกบินกับเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กกันก่อน จากนั้นจึงจะโบยบินสู่หนทางของใครของมัน ซึ่งก็จะต้องไปเรียนเพิ่มเติมกับอากาศยานแต่ละแบบซึ่งมีทั้งแบบที่ซับซ้อนน้อยไปยังเครื่องที่มีระบบที่ซับซ้อนมาก เช่น อากาศยานแบบที่สามารถทำการบินคนเดียวได้ หรือแบบที่จำเป็นต้องใช้นักบินกันสองคน ต่อไปนี้คือคำอธิบายอย่างย่อสำหรับครูการบินทั้ง 7 ประเภทนั้น
.
1.Flight Instructor (FI) : ครูผู้วางรากฐานบนท้องฟ้า
.
สมัยก่อนเราเรียกกันว่า IP (Instructor pilot) แต่นับจากนี้ไปเราจะใช้คำว่า FI แทน ความหมายก็คือครูการบินนั่นเอง นี่คือครูการบินผู้เริ่มจับมือศิษย์กุมคันบังคับ จับมือศิษย์กดปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ครั้งแรก เปรียบได้กับครูที่สอนเขียน กอไก่ ครั้งแรกในชีวิตของคนเรา
สำหรับครูการบินประเภทนี้ จะต้องเรียนหลักสูตรครูการบินที่ใช้จำนวนชั่วโมงเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคอากาศที่มากกว่าครูการบินประเภทอื่นๆ เนื่องเพราะศาสตร์การสอนคนบนฟ้านั้นไม่ง่าย มันรวมศิลปะการสอน จิตวิทยา การโค้ช การแนะนำ การสังเกต การให้คำปรึกษา ตั้งแต่ที่พื้นขึ้นไปบนท้องฟ้า
ครูประเภท FI นี้คือครูการบินประเภทเดียวที่สามารถสอนศิษย์การบิน ฝึกฝนให้พวกเขาบินเป็นจนกระทั่งสามารถทำการบินเดี่ยว (Solo Flight) ควบคุมเครื่องเองคนเดียว บินในทุกท่าทางขั้นพื้นฐานที่จำเป็น จนฝึกบินจบหลักสูตร กระทั่งพร้อมที่จะรับการตรวจสอบฝีมือบินเพื่อขอใบอนุญาตนักบินต่อไปได้
และใบอนุญาตนักบินนี้เอง จึงถือเป็นใบเบิกทางแรกสุดในวิชาชีพนักบิน เป็นใบขับขี่ที่ทุกคนต้องมี เพื่อนำไปใช้ทำมาหากินบนท้องฟ้าต่อไป เชื่อว่าไม่มีนักบินคนไหนลืมครูการบินคนแรกในชีวิตของพวกเขาอย่างแน่นอน อย่างน้อย กลับบ้านไป ย่อมมีรูปบินปล่อยเดี่ยวกับครูการบินคนนี้ ทั้งเสียงบ่น เสียงก่นด่าบนฟ้าของครูคนนี้ ไม่มีใครลืมแน่นอน
.
2. Type Rating Instructor (TRI) : ครูฝึกผู้เชี่ยวชาญอากาศยานเฉพาะแบบ
.
ภายหลังลูกนกจบออกจากรั้วของโรงเรียนไป พวกเขาจะได้ไปบินกับอากาศยานหลากหลายแบบ การจะไปฝึกกับเครื่องเฉพาะแบบต่างๆนั้น จำเป็นต้องไปเรียนกับครูเฉพาะทางเหล่านั้น และนี่คือกลุ่มของครูประเภทนี้ เราพวกเขาว่า TRI
สำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์นั้น จะต้องเรียนบินเฉพาะแบบกับ TRI กันทุกคน เพราะเฮลิคอปเตอร์แต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นนั้นถูกแบ่งกันเป็น Type ไม่เหมือนเครื่องบินที่มีการจัดกลุ่มกันเป็น Class (ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อไป)
สำหรับ TRI นั้นถือเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักบินที่อยากเติบโตในสายอาชีพครูฝึกบินเฉพาะแบบที่ตนทำการบินอยู่ ซึ่งการจะเป็น TRI ได้นั้นจำเป็นต้องมีชั่วโมงบินกับอากาศยานเฉพาะแบบที่ทำการบินนั้นเยอะพอสมควร
.
3. Class Rating Instructor (CRI) : ครูฝึกผู้เชี่ยวชาญสำหรับเครื่องบินตามกลุ่มต่างๆ
.
สำหรับเครื่องบินไซซ์เล็กๆแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อนั้น สามารถจัดกลุ่มกันได้ เราเรียกการจัดกลุ่มนั้นว่า Class เช่น Single-Engine Piston (SEP) คือเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์ลูกสูบเครื่องเดียว หรือ Multi-Engine Piston (MEP) คือ เครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบหลายเครื่องยนต์
ด้วยเพราะเครื่องบินที่อยู่กลุ่มเดียวกันนั้น แม้จะมีหลายยี่ห้อหลายรุ่น แต่ก็ไม่แยกละเอียดเป็น Type เหมือนเฮลิคอปเตอร์ ดังนั้นครูฝึกประเภทนี้จึงมีหลายกลุ่มตาม Class ของเครื่องบิน เช่น CRI (SEP) ก็จะสอนได้เฉพาะเครื่องบินกลุ่มที่มีเครื่องยนต์ลูกสูบเครื่องเดียว
แต่ถ้าเครื่องบินขนาดใหญ่ๆที่มีความซับซ้อนมากๆอย่างที่เราเห็นแอร์ไลน์เขาใช้กันนั้นนั้น ก็จะถูกจัดเป็นอากาศยานเฉพาะแบบและซึ่งนักบินที่จะไปบินกับเครื่องขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนแบบนั้น จะต้องไปเรียนกับ TRI แทน
(CRI มีแต่กับเครื่องบิน ไม่มีกับเฮลิคอปเตอร์)
.
4. Instrument Rating Instructor (IRI) : ครูฝึกบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน
.
เป็นครูการบินอีกประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ฝึกนักบินที่จะไปทำการบินด้วยกฎการบินแบบ IFR (Instrument Flight Rules) ถือเป็นอีกหนึ่งกฎการบินที่สำคัญและนักบินแอร์ไลน์ส่วนใหญ่ก็ทำการบินด้วยกฎการบินนี้ มันคือการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยมากๆ
การบินด้วยกฎการบินนี้สามารถบินโดยไม่ต้องพึ่งพาทัศนวิสัยภายนอกได้ นักบินต้องเรียนรู้กฎการบิน อ่านแผนที่นำทางเข้าสู่สนามบินเป็น ถือได้ว่าเป็นศาสตร์การบินเฉพาะทางที่ต้องการครูการบินที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินด้วยกฎ IFR มากพอควร
.
5. Synthtic Flight Instructor (SFI) : ครูฝึกบินในเครื่องฝึกบินจำลอง (เน้นเครื่องเฉพาะแบบและการบินแบบมีลูกเรือหลายคน)
.
SFI คือครูที่สอนอยู่ในห้องฝึกบินจำลองหรือ Simulator ทำหน้าที่สอน ฝึก จำลองสถานการณ์ต่างๆได้หลากหลายมากๆ เพราะในห้องฝึกบินจำลองนั้น เราสามารถตั้งค่าต่างๆ สร้างสถานการณ์แปลกๆ สมมติเหตุฉุกเฉินเพื่อฝึกนักบินให้ตัดสินใจและแก้ปัญหา
สำหรับ SFI นี้ จะเน้นสอนกับ Simulator เฉพาะแบบอากาศยานที่เน้นการบินในลักษณะของ Multi-Crew หรือการบินที่มีนักบินมากกว่าหนึ่งคน ต้องอาศัยการทำงานกันเป็นทีม เป็นการฝึกการทำงานร่วมกันในห้องนักบิน
.
6. Multi-Crew Cooperation Instructor (MCCI) : ครูฝึกอบรมการปฏิบัติการบินร่วมกันสำหรับเครื่องที่ต้องทำการบินมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป
.
สำหรับอากาศยานที่ต้องใช้นักบินมากกว่าหนึ่งคนทำการบิน จำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม การประสานสอดคล้องในห้องนักบิน การแบ่งบทบาทหน้าที่ในห้องนักบิน ซึ่งผู้ที่จะมาสอนให้นักบินได้เรียนรู้หลักการ เข้าใจวิธีบินในลักษณะนี้ก็คือ MCCI
โดยทั่วไปแล้วนักบินที่จะก้าวเข้าสู่สายการบินพาณิชย์ เมื่อได้ไปเรียนบินกับอากาศยานเฉพาะแบบที่จะไปบินกับบริษัทต่างๆ ก็มักจะได้รับการอบรมการปฏิบัติการบินร่วมกัน (Multi-Crew Cooperation) ซึ่งจะรวมอยู่ในคอร์สเดียวกันกับตอนเรียนบินเฉพาะแบบด้วย
.
7. Synthetic Training Instructor (STI) : ครูฝึกบินในเครื่องฝึกบินจำลอง (เน้นกับเครื่องที่ใช้นักบินทำการบินคนเดียว)
.
STI คือครูสอนในห้องฝึกบินจำลองสำหรับอากาศยานขนาดเล็กที่ใช้นักบินทำการบินคนเดียวได้ โดยทั่วไปก็คือ Simulator ของเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ที่โรงเรียนการบินใช้สอนศิษย์การบินขั้นพื้นฐานนั่นเอง
.
ทั้งหมดนี้คือสรุปย่อความหมายของครูการบินทั้ง 7 ประเภท ในแบบฉบับที่ไม่แปลตามตัวอักษร ตามประโยคภาษาอังกฤษแบบที่กฎหมายการบินไทยแปลแล้วเอามาแปะไว้ในข้อกำหนดข้อบังคับให้อ่านกัน
.
เพราะว่าบางครั้งการแปลแบบตรงๆตัวมันไม่สามารถสื่อให้เข้าใจได้ มันต้องอาศัยคนมีประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้วทุกรูปแบบนำมาถ่ายทอดให้อีกที
.
บนท้องฟ้าที่เห็นเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์บินกันในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเหล่านั้นผ่านมือครูการบินทั้ง 7 ประเภทนี้กันมาอย่างโชกโชน ผ่านการเหลาให้คม ขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง
.
โดยเฉพาะครูคนแรกที่ขลุกอยู่กับศิษย์การบินนานที่สุด ในห้วงเวลาที่ตรึงอยู่ในความทรงจำของคนที่เป็นนักบินทุกคน คนที่จับมือเราสตาร์ตเครื่องยนต์ครั้งแรก ทำให้เราสามารถบินปล่อยเดี่ยวได้ ปลุกความมั่นใจในตัว สร้างปีกให้กับเราได้ใช้ต่อยอดในวงการสืบไป มีคำกล่าวนึงว่าไว้
.
“The first instructor is the spark that ignites a lifetime of passion for flying”
(ครูการบินคนแรกเปรียบได้กับประกายไฟ ผู้จุดชนวนความหลงใหลในการบินตลอดชีวิตการเป็นนักบินของเรา)
.
เมื่อได้วิชาเหินฟ้าเดินอากาศจากครูคนแรกแล้ว ชีวิตการบินก็ยังต้องถูกขับเคี่ยวต่อไปอีก ยังคงต้องผ่านการเหลาให้แหลมคมยิ่งๆขึ้นไป ต้องไปผ่านมือครูการบินท่านอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะแบบต่างๆ
.
ที่สำคัญครูการบินทุกคนมักคิดเหมือนกันว่า สำหรับนักบินนั้น บนท้องฟ้ามันไร้ขีดจำกัด มันคือห้องเรียนชั้นดี (The sky is not the limit, it’s the classroom)
แล้ววิชาชีพครูการบินนั้น เราสอนกันด้วยชีวิต เราฝึกกันด้วยจิตวิญญาณ สังเกตได้ว่าคำภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า Instructor บ่งบอกว่าการสอนบินในมุมมองของต่างชาตินั้นกินลึกระดับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค
.
หากแต่เมื่อคนไทยนำศัพท์อังกฤษในบริบทนี้มาใช้ เรากลับไม่แปลว่า “ผู้แนะนำหรือผู้ฝึกสอนด้านการบิน”
.
แต่เราใช้คำว่า “ครู”
.
ก็เพราะคำนี้ในมิติของเรานั้นมันกินลึกซึมซาบมากกว่าแค่งานสอนทางเทคนิค เพราะเมื่อไรใครใช้คำว่า “ครู” แล้ว เขาเป็นกันทั้งชีวิต เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ให้กับวงการสืบต่อไปเรื่อยๆ
.
นี่คือความพิเศษหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณที่มีเสน่ห์ ที่เราอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกันกับฝรั่งเสมอไป
.
ยังคิดอยู่เสมอว่า
.
ครูอาจไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุด แต่เชื่อเถอะว่าทุกอาชีพนั้น .. ดีได้ .. ก็เพราะ “ครู”
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL