Skip to content

กิจกรรมที่ไม่อาจมองข้ามสำหรับการบิน

  • by
ทุกเช้าที่ลานจอดฝูงบินนั้น กิจกรรมที่คุ้นตาคือการเดินเรียงแถวหน้ากระดาน ไปบนลานกว้าง กวาดสายตาหาเศษสิ่งแปลกปลอม แล้วเก็บลงกล่องที่มีคำว่า ‘FOD’ เขียนไว้ พวกเราทำกันจนชิน มันคือภาพความเคยชินที่ดีงาม
.
ทุกเช้าบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาดระวางมากกว่า 1 หมื่นตันลำนั้น ผมใช้ดาดฟ้าเรือนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นและลง ก่อนปฏิบัติการบินในแต่ละวัน ดาดฟ้าเรือจะถูกสายตาทุกคู่ เดินกวาดเศษสิ่งผิดปกติที่หล่นอยู่บนดาดฟ้า
.
ทุกเช้าที่ลาดจอดเครื่องบินของโรงเรียนการบิน เจ้าหน้าที่จะเดินตรวจลานจอด ช่วยกันตรวจตรา และทุกวันพุธ เรามีกิจกรรมเชิญชวนพนักงานในตำแหน่งอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บ FOD ด้วยเช่นกัน ..
.
FOD คืออะไร ทำไมต้องเก็บ
.
FOD ย่อมาจาก Foreign Object Debris หมายถึง วัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงานของอากาศยาน อาจพบได้หลายที่ เช่น บนลานจอด บนรันเวย์
.
ไม่ใช่เฉพาะบนลานจอดและรันเวย์เท่านั้น แม้แต่ในเครื่องบินซึ่งนักบินจะต้องตรวจก่อนขึ้นบิน ก็อาจพบเจอ FOD ได้
.
ปากกาด้ามเดียวก็อาจทำให้เครื่องโค่นได้ กล้อง สมุด คลิปบอร์ด แก้วกาแฟ แว่นตา วางไว้ที่ใดก็ตามในห้องนักบิน ล้วนมีโอกาสที่จะหลุด หล่น ล่วง ลงไปตามซอก ใต้เก้าอี้ หรือช่องที่ยากต่อการมองเห็น
.
จากประสบการณ์ทำงานในแต่ละองค์กรที่ผ่านมา ทุกที่ล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และถูกผลักดันจากเหล่ามนุษย์ผู้พิทักษ์ความปลอดภัย ตำแหน่งงานด้าน Safety พวกเขาช่วยกันรณรงค์ให้พนักงานทุกคนตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้
.
หลายคนไม่เข้าใจ บางคนรำคาญ บางกลุ่มเดินหนีเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่นิรภัยเดินมา สำหรับผม ผมมองว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้คือบุคลากรที่มีค่ามากๆ งานของพวกเขาคือ ‘งานขายความปลอดภัย’
.
แม้ว่าทุกหน่วยงานด้านการบินจะมีกิจกรรมเก็บ FOD แต่ทุกวันนี้ยังคงต้องรณรงค์กันต่อไป เพราะนิสัยดีๆมันต้องทำบ่อยๆให้เคยชิน ที่สำคัญคือ ‘ทำด้วยใจ’ แต่อาจยังมีหลายคนที่มองข้าม หลายคนที่เพิ่งเข้าวงการ หลายคนที่ยังไม่รู้เพราะไม่เคยเจอกับตัว
.
ฤดูร้อนปี 2000 (24 ปีก่อน) ที่ฝรั่งเศส ‘คองคอร์ด’ เครื่องบินโดยสารฉายา ‘ราชินีแห่งน่านฟ้า’ วิ่งขึ้นจากสนามบินแห่งหนึ่งใกล้เมืองปารีส ขณะวิ่ง ล้อเครื่องบินไปทับเอากับเศษโลหะบนรันเวย์ (หลุดออกมาจากเครื่องบินลำอื่นอีกที) ผลคือ ล้อฉีกขาด ระเบิด เศษยางล้อกระเด็นด้วยแรงอัดสูง กระแทกต่อไปที่ถังน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่อง น้ำมันรั่ว ไฟลุก ขณะเครื่องทะยานขึ้นฟ้าไปแล้ว
.
สองนาทีเท่านั้นที่เครื่องอยู่บนอากาศ ไร้ทิศทางและร่วงหล่นปะทะโรงแรมในละแวกนั้น แน่นอนว่าไม่มีผู้รอดชีวิตในครั้งนั้น อีกทั้งคนในโรงแรมก็พลอยโดนลูกหลงไปด้วย รวมๆแล้วก็ร้อยกว่าชีวิต เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้คนในวงการบินตระหนักถึงคำว่า FOD มากขึ้น
.
ใครจะคาดคิดว่า เศษโลหะเล็กๆที่ไม่มีใครสังเกตเห็น จะทำให้เครื่องโค่นได้ ปิดตำนานเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงในยุคนั้น
….
เช้าวันพุธวนมาอีกครั้ง ที่โรงเรียนการบินของเรา เจ้าหน้าที่ตั้งแถว เรียงหน้ากระดาน พระอาทิตย์สาดสู้เข้ามาไม่เกรงใจใคร พวกเราบางคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบินโดยตรง เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม .. ทีมเก็บ FOD ภาพที่น่าจดจำนี้ มันจะคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่การปฏิบัติการบินยังคงมี
.
ผมก้มลงเก็บนอตหนึ่งตัวที่หล่นอยู่บนพื้นลานจอด หย่อนใส่กล่อง FOD มองผ่านทอดยาวไปบนลานกว้างนั้น ..
.
คงจะดีหากทุกคนมี ‘Attitude’ ในเรื่องนี้ที่ตรงกัน ต่อไปก็ไม่ต้องเดินหนีเจ้าหน้าที่นิรภัยอีก ถ้าเห็นพวกเขามา ก็รับซื้อไว้เถอะ เขาขายไม่แพงหรอก คำว่า ‘ความปลอดภัย’ สิ่งที่เราต้องจ่ายก็แค่เพียง ‘ความร่วมมือ’ เท่านั้นเอง
.
เพราะความปลอดภัยเป็นของทุกๆคน
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *