Skip to content

การฝึก Taxi สำหรับเฮลิคอปเตอร์

มันเหมือนม้าที่ไม่เชื่อง การฝึก ‘นก’ ใหม่ป้ายแดงบนม้าพยศนี้ เป็นอะไรที่ ‘เดือด’ สุดๆ
.
การฝึกบินกับเฮลิคอปเตอร์ในครั้งแรกนั้น ทุกคนจะต้องฝึกท่า Hovering (บินลอยตัวนิ่งๆ ความสูงใกล้ๆพื้น ประมาณ 3 – 5 ฟุต) กันให้ได้ก่อน จากนั้นถ้าใครเริ่มพอจะควบคุมเครื่องได้ เอาเครื่องอยู่ไม้อยู่มือแล้ว ท่าต่อไปก็จะเริ่มฝึกการ ‘Taxi’ กัน
.
Taxi คือ การขับเคลื่อนอากาศยานไปบนทางขับ (Taxiway) หรือบนรันเวย์ (Runway) หรือบนพื้นที่อื่นใด สำหรับเฮลิคอปเตอร์สามารถทำได้ 2 แบบคือ เคลื่อนที่ไปบนพื้น (เหมือนขับรถไปบนถนนด้วยความเร็วช้าๆ) กับ เคลื่อนที่แบบลอยเหนือพื้น ความสูงประมาณ 3 – 5 ฟุต แล้วก็เคลื่อนที่ไปตามทางที่ต้องการจะไป
.
ถ้าเฮลิคอปเตอร์ที่มีระบบฐานล้อ (Landing gear) แบบเป็นล้อ ก็สามารถ Taxi ได้ทั้งสองแบบ ทั้งแบบขับไปบนพื้น (เรียกว่า Ground Taxi หรือ Surface Taxi) และแบบบินลอยใกล้ๆพื้นพร้อมเคลื่อนที่ไป (มีสองแบบคือ Hover Taxi และ Air Taxi)
.
แต่ถ้าเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ระบบฐานล้อแบบ Skid (เรามักเรียกว่า ‘สกี’ ) จะไม่สามารถวิ่งไปกับพื้นเหมือนรถได้อย่างแน่นอน เพราะว่ามันไม่มีล้อ เช่นนั้นจึงถือเป็นไฟต์บังคับว่าต้องใช้วิธี Hover Taxi และ Air Taxi เท่านั้น (เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ฝึกบิน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเครื่องขนาดเล็กที่มีระบบฐานล้อเป็นแบบสกี)
.
Hover Taxi คือ บินลอยสูงจากพื้นไม่มาก ไม่เกิน 25 ฟุต (ปกติจะใช้ความสูง 5 ฟุต) ส่วนความเร็วที่ใช้เคลื่อนที่ เราจะใช้ความเร็วประมาณคนเดินเร็ว (จินตนาการว่าคนเดินเร็วๆประมาณไหน นั่นก็คือความเร็วที่นักบิน ฮ.ใช้ในการ Taxi แต่ถ้าตีเป็นตัวเลข ก็จะอยู่ที่ประมาณ 3 นอต หรือ 5 – 6 กม.ต่อชั่วโมง)
สำหรับ Hover Taxi นี้ จะใช้เวลาเคลื่อนตัวบนพื้นที่แคบๆ หรือเคลื่อนที่บริเวณลานจอด
.
Air Taxi คือ บินลอยสูงจากพื้นมากกว่า Hover Taxi แต่จะไม่เกิน 100 ฟุต ความเร็วที่ใช้ก็จะมากกว่าความเร็วของคนเดินเร็ว แต่จะไม่เกิน 20 นอต สำหรับ Air Taxi นี้จะใช้บินเพื่อเคลื่อนตัวในพื้นที่ที่กว้างและต้องการเคลื่อนที่เร็วกว่า Hover Taxi เช่น เวลาบิน Taxi อยู่เหนือรันเวย์ แล้วเจ้าหน้าที่ ATC บอกให้เร่งความเร็วเพื่อให้ Taxi กลับไปยังทางขับไวๆ นักบิน ฮ.ก็จะรีบ Air Taxi ไปยังทางขับที่ ATC บอกให้ไป
.
ศิษย์การบินแต่ละคนจะมีเซนส์ต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มฝึก Hovering กันได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 4 เป็นต้นไป และหลังจากครูเห็นว่าศิษย์เริ่มเอาเครื่องให้ลอยอยู่นิ่งๆได้แล้ว สเตปต่อไปก็จะเริ่มฝึกท่าหันซ้าย หันขวา กลับหลังหัน หันรอบตัว ขณะเครื่องลอยอยู่นิ่งๆใกล้ๆพื้น
.
ฝึกสไลด์ข้าง ทั้งซ้าย ขวา และถอยหลัง ตามด้วยการฝึก Hover Taxi และ Air Taxi
.
ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเรียกรวมๆได้ว่าอยู่ในท่าทางการฝึกที่ชื่อว่า ‘Hovering Exercise’
.
แน่นอนว่าบทเรียนนี้ถือเป็นสมรภูมิการฝึกบินในช่วง 10 ชั่วโมงแรก ที่เข้มข้นมาก
.
สำหรับเฮลิคอปเตอร์ลำเล็กๆนี้ มันเปรียบได้กับม้าพยศ
.
ม้าพยศตัวนี้ กว่าจะเอามันอยู่ .. ไม่ง่าย ผมเปรียบเปรยให้เป็นเหมือน ‘ม้าเซ็กเธาว์’ ในเรื่อง สามก๊ก เพราะมันต้องรู้ใจในระดับลึกซึ้งจริงๆ มันถึงจะยอมให้เราคุม และคนที่จะคุมได้ ต้องได้รับการฝึกให้ได้ถึงระดับยอดขุนพลเท่านั้น
.
ถ้ามีลมขวางจะเพิ่มความยากในการคอนโทรลมากขึ้น ศิษย์จะต้องบินแก้ลม .. เท้าต้องตรึงให้หัวเครื่องมั่นคงไว้
.
เฮลิคอปเตอร์ฝึกบิน จะไม่มีระบบช่วยควบคุมเครื่อง ไม่มีระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ ไม่มีระบบรักษาเสถียรภาพของเครื่อง ทุกอย่างอยู่ที่ ‘มือ และ เท้า’ .. ล้วนๆ
เวลาเรา Hover Taxi เราจะบินอยู่ตรงกลางเส้นสีเหลืองของทางขับ เราจะใช้เส้นนี้ ฝึกศิษย์การบินให้ควบคุมเครื่องเพื่อเกาะเส้นนี้ไปเรื่อยๆ เวลาฝึก ครูจะพูดและสอนวิธีคอนโทรล ปล่อยให้ศิษย์บังคับ มือครูก็เตรียมคว้า ตาครูก็จับจ้อง สมองครู สมองศิษย์ น่าจะประมวลผลกันพัลวัน สิ่งสำคัญเหนือสิ่งใดก็คือ ‘ครูต้องทันศิษย์’
.
เมื่อครูหันไปมองศิษย์กำลังพยายาม Taxi อยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ เหงื่อของศิษย์นั้นก็ไหลออกมาพลั่กๆ
.
หากศิษย์คนไหนสังเกตคำครูดีๆ ในท่าทางนี้มักจะวนไปเวียนมาอยู่ไม่กี่อย่าง อาจสรุปเป็นเทคนิคย่อๆได้ดังนี้
.
1. หาจุดอ้างอิงข้างนอก (Reference Points) – มองหาจุดอ้างอิง และเลี้ยงเครื่องให้ไม่ออกนอกจุดที่มอง แต่อย่าไปจ้องนาน
.
2. แก้น้อยๆและให้ Smooth (ใช้หลัก Smooth and Small) – คอยแก้อาการเครื่องตลอดเวลา หมั่นสังเกต Ground Effect* เพราะมันจะไม่ยอมอยู่นิ่งๆ มันจะดิ้นไปเรื่อย ที่สำคัญ เวลาจับคันบังคับของเฮลิคอปเตอร์ ครูมักสอนเสมอว่าให้นุ่มนวลกับมัน <เหมือนกำลังสัมผัสคนรักของเราอยู่>
.
3. เหลือบดูข้างในบ้าง (Scan Inside) – อย่ามองข้างนอกอย่างเดียว ข้างในก็ต้องเหลือบมาดูบ้าง
.
4 . คอยแก้ลมด้วย (Adjust for wind) – ลมมีผลอย่างมาก ยิ่งลมขวาง ยิ่งควบคุมยาก ดังนั้นต้องคอยดัก และคอยแก้ไขตลอดเวลา
.
5. ช้า และ มั่นคง (ใช้กฎ Slow and Steady) – ความหมายคือ ควบคุมเครื่องให้เคลื่อนไหวไปช้าๆก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าขยับหรือปรับแก้อาการช้า การแก้อาการเครื่องจะต้องเร็ว แต่ผลลัพธ์ที่ต้องการคือเครื่องเคลื่อนตัวไปช้าๆและมั่นคง
.
เมื่อผ่านชั่วโมงที่ 10 ไป จากสถิติส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ศิษย์ทุกคนก็จะเริ่มมั่นใจในท่าทางนี้ และเริ่มเอาเครื่องอยู่
.
แต่เมื่อศิษย์การบินสำเร็จหลักสูตร จบออกไปจะได้ไปบินกับเฮลิคอปเตอร์อีกหลากหลายแบบตามหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ใครได้ไปบินกับ เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ล้อ จะต้องไปฝึกการ Ground Taxi เมื่อควบคุมเครื่องใหม่ๆ เวลาฝึก Ground Taxi ก็มักจะเลี้ยวไปเลี้ยวมา เลื้อยเป็นงูกัน เพราะไม่เคยชิน
.
เพราะนักบินต้องคอยเหยียบจิกปลาย Pedals* ด้วย เพื่อคอยเบรกเครื่องขณะ Taxi อยู่บนพื้น เรียกได้ว่าใหม่ๆ ก็บันเทิงกันทีเดียว แต่พอได้บินบ่อยๆก็เริ่มชำนาญ และก็ค่อยๆอยู่ไม้อยู่มือ คอนเซปต์โดยรวมสำหรับ Ground Taxi และ Hover Taxi ก็ไม่ได้ต่างกันมาก
.
สำหรับเครื่องครูลำจิ๋วๆลำนี้
.
ม้าพยศยังไงก็เป็นม้าพยศ .. ใครผ่านตัวนี้ได้ .. ไปบินตัวไหน ก็ต่อยอดได้ไม่ยาก
.
หลายคน หลายสิบปีผ่านไป ได้ไปบินม้านิลมังกรบ้าง เพกาซัสบ้าง ขับเหยี่ยวดำ เหยี่ยวทะเล ขับอินทรีบ้าง แต่พอกลับมาจับม้าพยศตัวนี้อีกครั้ง ก็มักจะเหงื่อหยด และพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า “ทำไมมันดิ้นจัง” ..
.
เฮลิคอปเตอร์ฝึก ก็เอาไว้ใช้ฝึก .. ทุกอย่างมันต้องเริ่มจากเบสิก ถ้าไปข้ามขั้นเดี๋ยวไม่เห็นภาพ .. แต่ถ้าเอามันอยู่แล้ว บอกได้เลยว่า
.
“คุมม้าเซ็กเธาว์ได้ จะไปขับอะไรต่อในโลกนี้ก็ไม่ยาก”
.
ส่วนตัวครูนั้น .. ยังเหลืออีกกว่าร้อยสมรภูมิที่ต้องเจอ ย้อนกลับมาเห็นเหงื่อของตัวเอง
.
จะปั้นขุนพลสักคนหนึ่ง
.
เหงื่อหยดมากกว่าคนคุมม้าเองซะอีก
….
สาระเล็กๆน้อยๆ
.
– Taxiway เปรียบเหมือนถนนที่เชื่อมระหว่างลานจอดอากาศยาน (หลุมจอดเทียบอาคารผู้โดยสาร) กับ รันเวย์ (Runway) เราเรียกว่า ‘ทางขับ’ ก็ได้ สำหรับทางขับนี้จะตีเส้นสีเหลืองไว้ตรงกลางทาง เวลานักบิน Taxi ก็จะขับเคลื่อนอากาศยานให้อยู่ตรงกลางเส้นสีเหลืองนี้
.
– Runway คือทางที่ใช้สำหรับอากาศยานวิ่งขึ้น (Takeoff) และ ร่อนลง (Landing) เราจะเรียกว่า ‘ทางวิ่ง’ หรือ ‘รันเวย์’ ก็ได้
.
-Ground Effect คือ ผลที่เกิดจากลมของใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป่าลงมาที่พื้นขณะ ฮ.บินลอยอยู่ใกล้ๆพื้น
.
-Pedals คือ คันบังคับอยู่ที่เท้า ลักษณะคล้ายๆที่เหยียบเบรคหรือคันเร่งของรถยนต์ มีอยู่สองข้างสำหรับเท้าซ้ายและขวา ใช้ในการควบคุมแกน Yaw มีหน้าที่ควบคุมการปรับองศา/มุมปะทะของใบพัดหางของเฮลิคอปเตอร์
.
.

อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇

https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *