การออกแบบการฝึกบินมันก็เหมือนการปรุงอาหาร รสชาติและคุณภาพต้องผ่านเกณฑ์ เรื่องมาตรฐานต้องได้ อาหารต้องอร่อย ย่อยง่าย มีประโยชน์ ครบรสและกลมกล่อม
.
หากเปรียบเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินเป็นวัตถุดิบ แบบฝึกหัดแต่ละบทคือส่วนผสม ครูคือพ่อครัว มีมืออาชีพช่วยคิดสูตรอาหาร หลักสูตรฝึกบินต่างๆเปรียบได้กับเมนูที่หลากหลาย เช่นนั้นแล้วสูตรของอาหารแต่ละจานจึงต้องลงตัว
.
การฝึกบินจำเป็นต้องซอยท่าทางต่างๆและจัดกลุ่มอย่างประณีต เครื่องปรุงบางอย่างต้องใส่ก่อน บางอย่างต้องใส่ทีหลัง และลูกค้าที่ทานอาหารบางคนอาจไม่จำเป็นต้องทานสูตรเดียวกันเสมอไป
.
สำหรับเฮลิคอปเตอร์นั้น มีท่าทางการฝึกหลายท่า เป็นอาหารสุดประณีตที่ต้องคลุกเคล้าด้วยเครื่องปรุงและส่วนผสมหลายชนิด หลักสูตรการบินจึงต้องจัดแบบฝึกหัดไว้หลายบท
.
แบบฝึกภาคอากาศนั้นเราเรียกว่า Air Exercises และสำหรับเฮลิคอปเตอร์เรามีท่าทางการฝึกยิบย่อยมากมาย ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากเครื่องบิน ด้วยเพราะเฮลิคอปเตอร์สามารถบินลอยตัวอยู่นิ่งๆได้ ขึ้นลงเป็นจุดได้ ท่าทางการฝึกจึงมีมากกว่า โดยสากลแล้วแบบฝึกทั้งหมดถูกจำแนกออกเป็น 30 Exercises (ตำราค่ายฝั่งอเมริกาและยุโรปแบ่งไว้เหมือนกัน)
.
หากแกะแบบฝึกทั้ง 30 Exercises แล้วนำมาแบ่งหมวดหมู่ จะสามารถจัดกลุ่มการฝึกออกได้เป็น 10 หมวดหมู่ด้วยกันได้แก่
.
1. การฝึกความคุ้นเคยกับเฮลิคอปเตอร์ – เป็นการฝึกที่พื้นก่อน โดยให้ศิษย์การบินได้รู้จักคุ้นเคยกับเฮลิคอปเตอร์ที่จะทำการบิน รู้แผงหน้าปัด เครื่องวัด คันบังคับ สามารถตรวจเครื่องก่อนบินและหลังบินได้ รวมถึงสามารถเข้าใจและรับมือกับเหตุฉุกเฉินเบื้องต้นขณะทำการฝึกได้
.
2. เรียนรู้การใช้คันบังคับ – ในขั้นนี้ ศิษย์การบินจะได้ลองบังคับเครื่องในอากาศ เรียนรู้ผลกระทบต่างๆจากการขยับคันบังคับในแต่ละส่วน รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เข้าใจค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เข้าใจการใช้กำลังเครื่องยนต์ ได้เห็นอาการของเฮลิคอปเตอร์ว่าเวลาขึ้นบินบนอากาศนั้นเป็นอย่างไร
.
3. การฝึกบินในท่าทางพื้นฐาน – ประกอบไปด้วยการฝึกบินตรงบินระดับ ฝึกไต่ ฝึกร่อน ฝึกเพิ่มและลดความสูง ฝึกเพิ่มและลดความเร็ว และการฝึกเลี้ยว
.
4. การบินลอยตัวนิ่งๆ การบังคับเครื่องที่พื้น – ท่าทางนี้ถือว่าเป็นไฮไลท์นึงของเฮลิคอปเตอร์เลยก็ว่าได้ เราเรียกกันว่าท่า Hovering ซึ่งมีท่าทางฝึกย่อยอีกหลายท่าได้แก่ การบินลอยตัวนิ่งๆ การแท๊กซี่ การหันอยู่กับที่ การบินสไลด์ข้าง และการฝึกยกตัวลอยขึ้นมาจากพื้นและวางตัวลงกับพื้น
.
5. การวิ่งขึ้นและการร่อนลงจอด รวมถึงการบินในวงจร – เป็นการฝึกควบคุมเครื่องจากท่าทางลอยตัวนิ่งๆ ค่อยๆเปลี่ยนเป็นการวิ่งขึ้นจากรันเวย์ ไต่ขึ้นไปในอากาศ แล้วบินในวงจรการบิน จากนั้นก็บินกลับมาร่อนลงสนามบิน สำหรับการฝึกในท่าทางนี้ จะเป็นท่าทางที่ใช้ฝึกศิษย์การบินใหม่สำหรับการปล่อยให้ขึ้นไปบินเดี่ยวด้วย เพราะการบินเดี่ยวครั้งแรกของศิษย์นั้น เราจะให้บินกันในวงจรการบินก่อน ดังนั้นการฝึกบินในวงจรจึงสำคัญมากสำหรับผู้เริ่มต้น
.
6. การฝึกขั้น Advance – เป็นการฝึกในท่าทางเพิ่มเติมจากท่าทางพื้นฐานทั่วไป เช่น การวิ่งขึ้นจากพื้นโดยไม่ต้องบินลอยตัวนิ่งๆก่อน การบินร่อนลงมาจนกระทั่งแตะถึงพื้นหรือวิ่งไปกับพื้น การวิ่งขึ้นโดยใช้กำลังเครื่องยนต์ที่มากกว่าปกติเพื่อให้มุมวิ่งขึ้นนั้นชันกว่าการวิ่งขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่ทางข้างหน้าที่จะวิ่งขึ้นนั้นมีสิ่งกีดขวาง นักบินก็สามารถคอนโทรลกำลังเครื่องยนต์อย่างเหมาะสมได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่าทางสำหรับขั้น Advance ที่ศิษย์การบินจะต้องฝึกกัน
.
7. ฝึกรับมือกับท่าทางฉุกเฉินต่างๆ – เป็นการฝึกให้สามารถบังคับเครื่องได้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นขณะบิน ไม่ว่าจะเป็นการรับมือเมื่อพบระบบต่างๆขัดข้อง หรือกรณีเครื่องยนต์ดับจะทำอย่างไร มีวิธีแก้ไขอย่างไร
.
8. การฝึกบินเดินทาง การฝึกใช้วิทยุนำทาง – ศิษย์การบินจะได้เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆในการนำทาง การบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การวางแผน และการแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการบินเดินทาง
.
9. การฝึกบินลงพื้นที่ที่ท้าทายต่างๆ – จัดว่าเป็นบทเรียนที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์มาก ด้วยเพราะเฮลิคอปเตอร์เป็นอากาศยานที่สามารถบินขึ้นและบินลงในพื้นที่เล็กๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทางวิ่งยาวๆเช่นรันเวย์ ดังนั้นนักบินเฮลิคอปเตอร์จะต้องมีทักษะในการบังคับเครื่องบินลงยังพื้นที่จำกัดต่างๆ สามารถวางแผน ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ที่จะบินไปได้ การฝึกนี้รวมไปถึงการบินลงบนพื้นที่ลาดเอียงและการบินลงบนยอดเขาด้วย
.
10. การฝึกบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินและการฝึกบินกลางคืน – อีกหนึ่งท่าทางการฝึกที่ไม่ง่าย เพราะในเฟสนี้ ศิษย์การบินจะต้องฝึกบินโดยมองแต่ภายในเครื่องเท่านั้น ไม่มองออกนอกเครื่องเลย และจะต้องอ่านค่า สามารถแปลผลของเครื่องวัดประกอบการบินได้ รวมถึงการคอนโทรลเครื่องได้ตามโปรไฟล์ด้วย
สำหรับการฝึกบินกลางคืนนั้น มักจะจัดให้ทำการฝึกหลังการฝึกบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบินจนชำนาญแล้ว เนื่องจากการอ่านค่าบนเครื่องวัดนั้นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการบินกลางคืน ศิษย์จะต้องเชี่ยวชาญ อ่านค่าและแปลผล พร้อมทั้งคอนโทรลเครื่องได้ในสภาวะที่ไม่พึ่งการมองเห็นภายนอก การฝึกในขั้นนี้ค่อนข้างเข้มข้นมาก จัดว่าเป็นหนึ่งในท่าทางการฝึกที่สำคัญ
.
เมื่อจัดกลุ่มของเครื่องปรุงและส่วนผสมได้แล้ว ต่อจากนั้นคือกรรมวิธีในการนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน พ่อครัวจำเป็นต้องศึกษาอาการของคนทานอาหารให้ดีๆ เพราะแต่ละคนมีต่อมรับรสที่ต่างกัน
.
นี่แค่การฝึกภาคอากาศ ยังไม่รวมการเรียนทฤษฎี ซึ่งหากนำสองส่วนนี้มารวมกันก็จะเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์
.
รสชาติของอาหารจะกลมกล่อมขนาดไหน คนทานจะรับได้มากน้อยอย่างไร เป็นเรื่องของจริตใครจริตมัน หากแต่มาตรฐานในการปรุงหลักสูตรจะต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากกรอบของกฎหมาย และฝีมือของพ่อครัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด
.
คนคิดสูตร กำหนดส่วนผสมนั้นจึงต้องไม่ธรรมดา เรื่องพวกนี้ผ่านการขบคิดมามากกว่าร้อยปี และมันยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
.
หลักสูตรการบินอาจจะต่างกับสูตรการทำอาหารอยู่เรื่องหนึ่งคือ สูตรอาหารอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหากตกผลึกได้สุดยอดเคล็ดลับของอาหารจานนั้นๆมาแล้ว
หากแต่หลักสูตรการบินหลักสูตรใดที่นิ่งแล้วและไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเลย มันก็เปรียบได้กับหลักสูตรที่ตายแล้ว
.
เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วทุกวัน เทคโนโลยีเปลี่ยนตามเร็วมาก โลกของการบินจึงต้องหมุนเปลี่ยนตามให้ทันด้วย ใครว่าเขียนหลักสูตรง่าย บอกได้คำเดียวว่า “ไม่ลองก็ไม่รู้” โดยเฉพาะกับกฎหมายการบินใหม่ที่เพิ่งคลอดออกมา หลายอย่างไม่ง่ายเหมือนในอดีต
.
ครั้นปรุงหลักสูตรเสร็จแล้ว เมื่ออาหารถูกเสิร์ฟออกไป ลูกค้าให้ Feedback อะไรมา รสชาติกลมกล่อมหรือไม่ อาหารย่อยง่ายหรือยาก และหลักสูตรที่ถูกเขียนไว้บนกระดาษสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงขนาดไหน อันนี้ก็ต้องนำมาต่อยอด ขับเคลื่อนเป็นวงรอบของการพัฒนาหลักสูตรกันต่อไป
.
อนึ่ง อาหารจะดีหรือห่วย ไม่ได้อยู่ที่พ่อครัวเพียงคนเดียว วัตถุดิบดีไหม บูดเน่ารึปล่าว ตำราอาหารเก่าไปไหม มีคนเขียนสูตรอาหารเฉพาะทางให้หรือไม่ ..
จะมืออาชีพแค่ไหน ประเมินจากผลลัพธ์โดยรวมของคนทานก็รู้เอง
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL