การสอนบินในอากาศนั้น ถือได้ว่าเป็นงานละเอียด โดยเฉพาะครูการบินประเภทที่ต้องขลุกกับศิษย์การบินตั้งแต่ชั่วโมงที่ศูนย์ กระทั่งทำให้ศิษย์เหล่านั้นกางปีกขึ้นไปบินบนฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ หลายคนต้องฟันฝ่าด่านทดสอบสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..เรื่องของจิตใจ
.
เมื่อใดเครียด ไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง ทำอะไรไม่ได้ตามที่ตั้งใจ มนุษย์ทุกคนจะมีกลไกบางอย่างตอบสนองออกมาเพื่อช่วยลดความวิตกกังวล บรรเทาความคับข้องใจนั้น ทว่า..หากปล่อยให้กลไกนี้ทำงานโดยไร้การควบคุม มันจะไปขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกที่ควรได้
.
การดักจับกลไกการป้องกันตนเองของนักบินแต่ละคนนั้น ไม่ง่ายเลย นี่คือหนึ่งในหัวข้อของการเรียนภาคทฤษฎีที่สำคัญ คนที่จะไปเป็นครูสอนลูกนกฝึกหัดจึงต้องแกะรายละเอียดเหล่านี้ให้ได้ เรื่องนี้กินทะลุลึกไปถึงจิตใต้สำนึกของนักบินแต่ละคน และไม่ใช่แค่ครูเท่านั้นที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ นักบินทุกตำแหน่งก็เรียนรู้เรื่องนี้ได้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานร่วมกันในห้องนักบิน
.
อ้างอิงจากตำราครูการบิน กลไกนี้มี 8 อย่าง ประกอบไปด้วย
.
1. Compensation – เน้นจุดเด่น ปกปิดจุดด้อย
.
เป็นการหาบางสิ่งที่ถนัดมาทำ มาโชว์ เพื่อกลบเกลื่อนบางเรื่องที่ไม่มั่นใจ
เช่น ขยันชวนกัปตันคุยกันตลอดเที่ยวบินเพื่อบ่ายเบี่ยงการซักถามความรู้บางอย่าง หรือศิษย์การบินหลีกเลี่ยงที่จะบังคับเครื่องในท่า Hovering นานๆก่อนจะ Takeoff เพราะไม่ถนัด แต่ถนัดคอนโทรลเครื่องแบบวิ่งขึ้นจากพื้นเลย (ชอบ Takeoff from ground มากกว่า)
เรื่องนี้ครูต้องดักให้ทันว่า ศิษย์กำลังพยายามเบี่ยงเบนอะไรหรือไม่ มีหัวข้อการเรียนรู้ใดที่เขาพยายามหลีกเลี่ยงจะพูดถึง เนื่องเพราะการบินนั้น เราไม่อาจปล่อยให้มีจิ๊กซอว์ใดหลุดรอดออกไปได้เด็ดขาด ทุกคนต้องเข้าใจทุกเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่ง
.
2. Projection – โยนความผิดออกไป พยายามฉายภาพความบกพร่องของตนไปที่อื่น เป็นคนประเภทชอบโทษโน่นโทษนี้
.
ตัวอย่างโดยทั่วไปเช่น นักเทนนิสโยนไม้ลงพื้นเมื่อตีไม่ดี เล่นไม่ได้ดั่งใจแล้วโทษว่าไม้ไม่ดี หรือศิษย์การบินโทษว่าครูสอนไม่ดี ทำให้ไม่เข้าใจ เพราะตนเองไม่สามารถคอนโทรลเครื่องตามแบบฝึกได้
เรื่องนี้ ครูต้องใช้คำถามปลายเปิดให้เป็น ใช้หลักชวนคุย ฟังให้มาก และใช้เทคนิคถามคำถามสะท้อนกลับเพื่อให้ศิษย์ได้รู้ด้วยตนเองว่าเขาพลาดเรื่องอะไร และใช่เพราะเขาจริงๆหรือไม่
.
3. Denial of Reality – ปฏิเสธความจริง
.
มักเกิดกับนักบินที่มั่นใจในตัวเองมากๆ เช่น ตั้งค่าบางอย่างผิดขณะบิน พอบินเสร็จแล้วมาบรีฟสรุปผลกัน กลับไม่ยอมรับว่าทำเช่นนั้น และยืนกรานว่าตนทำถูกแล้ว หรือบางครั้งศิษย์ไม่รู้ตัวว่าขณะบินนั้น ไม่คอนโทรลบอลให้อยู่ตรงกลาง ไม่ Cross Check ความเร็ว ความสูง แต่ยังคิดว่าตนทำดีแล้ว ถือเป็นกลไกการหลอกตัวเองอย่างหนึ่ง
เรื่องนี้แก้ได้โดยใช้วัตถุพยานหลักฐาน การอัดคลิป การบันทึกภาพ สามารถใช้เป็น Feedback ได้ เรียกได้ว่าต้องจำนนด้วยหลักฐาน จึงจะเห็นภาพและเข้าใจว่าความจริงคืออะไร ต้องปรับปรุงเรื่องอะไร
.
4. Rationalization – หาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง
.
คือการสร้างข้อแก้ตัวบางอย่างมาสนับสนุนความบกพร่องบางอย่างที่เกิดขึ้น
เช่น ศิษย์การบินบางคนอาจถนัดที่จะบินกับเครื่อง A และบินกับเครื่อง A มาโดยตลอด มีความมั่นใจกับเครื่องนี้ แต่วันดีคืนดี ต้องเปลี่ยนไปบินกับเครื่อง B แล้วผลการฝึกบินไม่ดี จึงโทษว่าเป็นที่เครื่อง คิดว่าตนไม่ถนัดที่จะบินกับเครื่อง B ทั้งๆที่ความจริงทั้งสองเครื่องนั้น ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย
หากครูดักเรื่องนี้ได้ จะต้องมีเทคนิคในการพูด มีหลัก Empathy เข้าอกเข้าใจ ซึ่งต้องดึงศิษย์ออกจากกลไกนี้ให้ได้ ใช้คำพูดเชิงบวกเป็น ใช้คำถามชวนคิด และหาทางออกร่วมกัน
.
5. Reaction Formation – แสดงสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึกจริงที่ถูกซ่อนไว้
.
บางคนกลัวแต่แสดงว่ากล้า บางคนไม่มั่นใจกลับพยายามแสดงออกในบางเรื่องมากเกินควร ความเห็นส่วนตัวคิดว่ากลไกนี้สังเกตได้ยากที่สุด
ความมั่นใจมิอาจเกิดขึ้นได้จากการแสร้งทำ ฉะนั้น ครูต้องดักจับอาการนี้ของศิษย์ให้ทัน เพื่อจะได้ช่วยกันอุดรูรั่ว สร้างกำลังใจให้กันและกัน ทำให้ศิษย์กล้าที่จะเผยทุกสิ่งในใจกับเราให้ได้ มีอะไรจะได้ช่วยกัน .. ปรับแก้ไปด้วยกัน
.
6. Flight – หนี หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญ
.
เช่น ศิษย์กลัวการบินเดี่ยว พยายามหลีกเลี่ยง ขอเลื่อน หยุด ลา กระทั่งหายไป
ครูอาจต้องซอยบทเรียนออกเป็นส่วนๆ เหมือนการค่อยๆเติมปุ๋ย ไม่หักโหม เพราะบางบทเรียนในอากาศนั้น ความยากง่ายไม่เท่ากัน จิตใจที่พร้อมจะเผชิญต่อบทเรียนนั้นๆ บางคนอาจมีบางอย่างฝังใจ เรื่องนี้ครูต้องขุดสิ่งที่ฝังในใจนั้นออกมาให้ได้ .. ว่ามันคืออะไร
บางครั้งต้องเอาแรงขับ แรงจูงใจเมื่อครั้งแรกที่พวกเขาคิดย่างเท้าเข้ามาเรียนบิน เอามาปลุกจิตปลุกใจกันอีกครั้ง
.
7. Resignation – ยอมแพ้
.
กลไกนี้มักเกิดลามมาจากอาการ Flight (เริ่มคิดที่จะหนี) หรือพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไม่สู้ต่อ หรือเกิดจากอาการล้มเหลวในบางอย่าง เช่นสอบภาคทฤษฎีไม่ผ่านจนท้อ กระทั่งคิดล้มเลิก ไม่เอาแล้ว ไม่สอบแล้ว พอกันที
เรื่องนี้น่าเห็นใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เริ่มหมดกำลังใจ เนื่องเพราะหนทางสายนี้มักมีอะไรให้ทดสอบอยู่เสมอ
ครูอาจแบ่งปันบางเรื่องราวของใครบางคนที่ล้มลงและสาหัสกว่าที่ศิษย์เจอ จวบจนฝืนลุกขึ้นมาใหม่แล้วสู้ต่อจนสำเร็จ กระตุ้นเป้าหมาย กระตุกความฝันของศิษย์ให้กลับฟื้นขึ้นมาแจ่มชัดอีกครั้งให้ได้
.
8. Aggression – การแสดงความก้าวร้าว
.
หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ บังคับเครื่องไม่ได้ตามที่ต้องการแล้วโมโห ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้
อันที่จริงกลไกนี้มักไม่ค่อยพบกับศิษย์การบิน เพราะช่วงวัยของศิษย์ที่เลือกมาเรียนบินนั้น ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ มีการควบคุมอารมณ์ที่ดีกว่าเด็ก แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มี
ส่วนตัวเคยเจอกับนักบินฝรั่ง ที่มักหัวเสียออกอาการชัดเจน หากเราพบเคสแบบนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า อย่าเอาน้ำมันไปราดบนกองไฟ อย่าหัวร้อนตามเด็ดขาด
ความโกรธเป็นเพียงสัญญาณหนึ่งของอาการอยากให้มีคนเข้าใจ หาใช่ความขัดแย้งไม่
ฉะนั้น ครูจึงต้องเป็นนักควบคุมอารมณ์ชั้นยอด ดักจับทันอารมณ์ของศิษย์ แล้วพลิกความโกรธนั้นให้เย็นลงได้ด้วยศิลปะของการพูด สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้เป็น
.
….
.
กลไกป้องกันตนเองไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก เป็นการปรับสมดุลของสภาวะทางจิต เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามพอได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดบ่อยจนกลายเป็นนิสัย
.
บนถนนของการเรียนรู้ด้านการบินนี้ หน้าที่หลักของผู้ที่จะทลายกลไกนี้ให้กับศิษย์การบินทุกคนก็คือ ‘ครูการบิน’
.
จึงไม่แปลกที่ครูการบินจะต้องผ่านหลักสูตรทฤษฎีที่เข้มข้นมาก โดยเฉพาะผู้ที่เลือกจะเป็นครูการบินสำหรับสอนลูกนกใหม่ป้ายแดงในโรงเรียนการบิน ซึ่งแตกต่างจากครูการบินเฉพาะแบบอากาศยานตามบริษัทต่างๆ (ไว้จะนำมาเขียนเป็นบทความแยกเรื่อง ‘ครูการบิน 7 ประเภท’ ให้อ่านกันต่อไป)
.
วิลเลี่ยม อาร์เธอร์ วอร์ด (นักเขียนชาวอเมริกัน) บอกว่า “ครูปกติทั่วไป..ได้แค่ – บอกเล่า / ครูที่ดี ทำหน้าที่ – อธิบาย / ครูที่เหนือกว่าใช้วิธี – แสดงให้เห็น / ส่วนครูที่ยิ่งใหญ่นั้น – สร้างแรงบันดาลใจ”
.
กับอีกประโยคหนึ่งที่ว่าไว้
.
“A great flight instructor doesn’t just teach maneuvers – they inspire resilience and self-belief”
.
<ครูการบินมิใช่แค่สอนให้บินดี บินได้ บินเป็น เพียงเท่านั้น พวกเขายังสร้างความเชื่อมั่น ความยืดหยุ่นและการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกศิษย์ด้วย>
เรื่องกลไกป้องกันตนเองของนักบินนี้ มิอาจมองข้ามได้ มันอาจเป็นกำแพงกั้นขวางศักยภาพของการเป็นนักบินที่ดี ครูการบินจะช่วยดักจับกลไกเหล่านั้น พร้อมดึงศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวตนของศิษย์แต่ละคนออกมา ..
.
งานสอนคนบินในอากาศนี้ ถือได้ว่าเป็นศาสตร์เฉพาะทาง ต้องเจาะคนให้ลึกถึงพฤติกรรม นิสัย สันดาน จิตใต้สำนึก สารพัดกลไกที่ซุกซ่อนอยู่ ..
หลุดนิด รั่วหน่อย มิอาจปล่อยให้ผ่านไปได้เลย
.

.
อ่านบทความอื่นๆได้ใน Facebook Page : Hovering Inspirations 👇
https://www.facebook.com/profile.php?id=61558412223812&mibextid=ZbWKwL